
ยกระดับแก้วิกฤต PM 2.5! รัฐบาลประกาศ ปชช. ใช้ “รถไฟฟ้าบนดิน-ใต้ดิน-รถเมล์” ฟรี 7 วัน
รัฐบาลประกาศด่วน ยกระดับแก้วิกฤต PM 2.5 ให้ประชาชนใช้ “รถไฟฟ้าบนดิน-ใต้ดิน-รถเมล์” ฟรี 7 วัน ตั้งแต่ 25-31 ม.ค.68 หวังลดใช้รถยนต์ในกรุงเทพฯ พร้อมตั้ง 8 จุดตรวจวัดค่าควันดำ คุมเข้มเขตก่อสร้าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (24 ม.ค.67) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ช่วงเช้าที่ผ่านมา นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการกระทรวงคมนาคมและส่วนราชการอื่น ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤต ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5
โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รายงานว่าหลังจากที่นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการเร่งด่วน จึงได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม เข้าดูแลบริหารจัดการด้านโครงข่ายคมนาคม เพื่อลดปัญหา PM 2.5 ดังนี้
1. รถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน ให้บริการฟรี 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 – 31 ม.ค.38 โดยได้สั่งการให้องค์การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ในสังกัดของกระทรวงคมนาคม ให้บริการฟรีทุกเส้นทาง
ส่วนเอกชนได้เจรจากับผู้ประกอบการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) หรือ BTS และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้ใช้รถไฟฟ้าฟรีทุกสาย ในระยะ 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 25-31 ม.ค.68 สำหรับรายได้ของทางเอกชนที่สูญเสียไปนั้น ทางรัฐบาลจะชดเชยตามค่าเฉลี่ย 7 วัน รวมประมาณ 140 ล้านบาท โดยมาจากงบกลาง
- เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้รถสาธารณะและลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล จึงให้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก) ให้ประชาชนใช้บริการรถเมล์ฟรีทุกสาย ในระยะเวลา 7 วันเช่นกัน ตั้งแต่วันที่ 25-31 ม.ค.68
- ให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ลงพื้นที่ตรวจวัดค่าควันดำรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จำนวน 8 จุด ประกอบด้วย 1. บริเวณหน้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต, 2. ท่าเรือคลองเตย, 3. หน้าสวนจตุจักร ถนนพหลโยธิน, 4. ถนนบางนา-ตราด กม.1, 5. ถนนสุวินทวงศ์ หน้าการประปามีนบุรี, 6. ถนนพระรามสอง ขาออก หน้าแขวงการทางบางขุนเทียน, 7. ถนนรังสิต-นครนายก กม.4 หน้าโลตัส, 8. ถนนบรมราชชนนี ขาเข้า -ออก โดยจากนี้จะให้เจ้าพนักงานกระจายตามจุดต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเข้าควบคุมมลภาวะทางรถยนต์ให้ได้มากที่สุด
- ให้ กรมทางหลวง, กรมทางหลวงชนบท, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่มีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมต่าง ๆ เข้าบริหารจัดการพื้นที่ทันที เบื้องต้นให้ผู้รับเหมาฉีดพรมน้ำ ทำความสะอาดล้อรถที่เข้า-ออกพื้นที่ก่อสร้าง กวาดล้างถนนที่เปื้อนดินจากการก่อสร้าง ปิดคลุมวัสดุก่อสร้างในการเก็บกองและขนย้ายและจัดการขยะอย่างเหมาะสม ห้ามเผาเด็ดขาด
- นายกฯ โพสต์สั่งตรงจาก “ดาวอส” งัด 6 มาตรการสู้ฝุ่น PM 2.5
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่าน X @ingshin โดยระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ยังเป็นที่น่ากังวล จึงขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการเร่งด่วนเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้น ดังนี้
- ขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชน ให้เจ้าหน้าที่และพนักงานสามารถทำงานแบบเวิร์กฟรอมโฮม (Work from Home : WFH) เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และได้สั่งการไปทางกระทรวงคมนาคมให้สนับสนุนยกเว้นค่ารถไฟฟ้า-ค่ารถเมล์ ภายใต้กำกับของรัฐเป็นเวลา 7 วัน ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป เพื่อลดปริมาณฝุ่นที่เกิดจากรถยนต์
- ให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด หากมีความชื้นมากเพียงพอ ขอให้ปฏิบัติการฝนเทียมเจาะช่องบรรยากาศทั่วกรุงเทพฯ
- ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตรวจสอบทุกพื้นที่อย่างใกล้ชิดหากพบเห็นการเผา ขอให้ดำเนินคดีตามกฎหมายทันที
- ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดตั้งแอพพลิเคชัน สำหรับรับแจ้งเหตุการเผา ให้พี่น้องประชาชนสามารถรายงานจุดที่เกิดการเผาได้อย่างรวดเร็วและเร่งแก้ปัญหาที่พบในทันที
- ขอความร่วมมือไปยังนายผู้ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ให้กวดขันไซต์ก่อสร้างที่ไม่คลุมผ้าป้องกันฝุ่นตามกฏหมายโดยเคร่งครัด และช่วงอากาศปิด ขอความร่วมมือให้เลื่อนการก่อสร้างที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองออกไปก่อน
- ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคน กวดขันรถควันดำโดยเคร่งครัด
“รัฐบาลยังคงมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาฝุ่นควันอย่างเต็มที่ โดยมีทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว และจะเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็ว” นายกรัฐมนตรี ระบุทิ้งท้าย
- ก.แรงงาน ยืนยัน พนักงานที่บริษัทให้ ”WFH” ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกหักเป็นวันลาหรือขาดงาน
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลขอความร่วมมือให้ทำงานที่บ้าน หรือเวิร์กฟรอมโฮม (Work from Home : WFH) นั้น หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ให้ความร่วมมือ เริ่มประกาศให้มีการ WFH เป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ยืนยันว่า การทำงานแบบเวิร์กฟรอมโฮม ถือว่าเป็นวันทำงานปกติ เปรียบเสมือนเป็นวันทำงานตามกฎหมายแรงงาน โดยที่นายจ้างไม่สามารถนำไปนับเป็นวันลาหรือขาดงานไม่ได้ เนื่องจากเป็นการที่นายจ้างมอบหมายงานให้ทำงานนอกสถานประกอบกิจการ โดยไม่ถือว่าเป็นวันลาหรือวันหยุด ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2566 ในมาตรา 23/1
ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้ปรับปรุงกฎหมาย เพื่อรองรับรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ผ่าน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.66 เป็นต้นไป เพื่อเปิดโอกาสให้นายจ้าง และลูกจ้างสามารถตกลงกัน ในการทำงานที่บ้านหรือสถานที่อื่น นอกเหนือจากสถานประกอบกิจการได้ โดยการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงานและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของแรงงานไทย โดยหลักการสำคัญของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2566 ในมาตรา 23/1 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
- นายจ้างและลูกจ้าง อาจตกลงกันให้ลูกจ้างสามารถทำงานนอกสถานประกอบกิจการ หรือนอกสำนักงานของนายจ้างได้ โดยลูกจ้างสามารถนำงานดังกล่าวไปทำที่บ้านหรือที่พักอาศัย หรือทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสถานที่ใด ๆ ได้
- กำหนดให้การตกลงทำงานแบบเวิร์กฟรอมโฮม ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ต้องทำเป็นหนังสือ หรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง โดยตกลงให้มีรายละเอียด เช่น ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการตกลง วัน เวลาทำงานปกติ เวลาพัก และการทำงานล่วงเวลา การลา ขอบเขตหน้าที่ของลูกจ้าง การกำกับควบคุมของนายจ้าง ภาระหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหาเครื่องมือหรืออุปกรณ์การทำงาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จำเป็นที่มาจากการทำงานด้วย
- เมื่อสิ้นสุดเวลาทำงานปกติตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน หรือสิ้นสุดการทำงานตามที่นายจ้างมอบหมาย ลูกจ้างมีสิทธิในการปฏิเสธการติดต่อสื่อสารไม่ว่าทางใด ๆ กับนายจ้าง รวมถึงหัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงาน เมื่อสิ้นสุดเวลาทำงานปกติหรือสิ้นสุดการทำงานตามที่นายจ้างมอบหมาย เว้นแต่ลูกจ้างได้ให้ความยินยอมโดยทำหนังสือไว้ล่วงหน้าก่อน
- ลูกจ้างซึ่งทำงานที่บ้านหรือที่พักอาศัย หรือทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสถานที่ใด ๆ มีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบกิจการหรือสำนักงานของนายจ้าง ถือว่าลูกจ้างที่ทำงานแบบเวิร์กฟรอมโฮม ต้องได้รับสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบกิจการ
- ยกเลิกกิจกรรมกลางแจ้ง งาน 103 ปี ยุวกาชาดไทย
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 ม.ค.68 งานวันครบรอบวันสถาปนายุวกาชาดไทย “103 ปี ร่วมใจสร้างสรรค์ยุวกาชาดไทย” ณ สนามศุภชลาศัย กรุงเทพฯ ซึ่งจะพิธีปฏิญาณตนและสวนสนาม ยุวกาชาดจากสถานศึกษาสังกัดต่าง ๆ เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 5,000 คน ต้องยกเลิกการจัดกิจกรรมในส่วนที่เป็นกิจกรรมกลางแจ้งออกไปทั้งหมด จากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน