“ในหลวง-พระราชินี” ทรงเปิดซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ “วชิรสถิต-วชิรธำรง” ถนนเจริญกรุง

“ในหลวง-พระราชินี” ทรงเปิดซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ “วชิรสถิต-วชิรธำรง” ถนนเจริญกรุง ย่านเยาวราช กรุงเทพมหานคร


เมื่อเวลา 17:12 น. วันที่ 25 มกราคม 2568 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ “วชิรสถิต 72 พรรษา” บริเวณสะพานดำรงสถิต ณ ถนนเจริญกรุง เขตพระนคร และทรงเปิดซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ “วชิรธำรง 72 พรรษา” บริเวณห้าแยกหมอมี เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ภายใต้โครงการ “เบญจกตัญญุตา บารมีแห่งมังกรสยาม” ณ ถนนเจริญกรุง เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นถนนสายมังกรแห่งแรกของประเทศไทย

ซุ้มประตู “วชิรสถิต 72 พรรษา” ถือเป็นหัวมังกร ตั้งอยู่บริเวณสะพานดำรงสถิต มีช่วงกว้างของเสา 16 เมตร ความสูง 23 เมตรและซุ้มประตู “วชิรธำรง 72 พรรษา” เป็นหางมังกร ตั้งอยู่บริเวณแยกหมอมี ช่วงกว้างของเสา 14 เมตร ความสูง 23 เมตร

การออกแบบซุ้มประตูทั้ง 2 แห่ง เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนภาคเหนือ หรือแบบของกรุงปักกิ่งเป็นหลัก เนื่องจากเป็นสถาปัตยกรรมที่ใช้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นรูปแบบเฉพาะไม่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป โดยแนวคิดโบราณของประเทศจีนซุ้มประตูจะอยู่ในกึ่งกลางของถนนแต่ละสาย เพื่อเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงการเข้าสู่บริเวณสำคัญนั้น ๆ

ลักษณะตัวอาคารเป็นซุ้มประตูจีนแบบ “ไผฟาง” มีช่องทางเข้าช่องเดียว 2 เสา ด้านบนมีหลังคา 3 หลัง ลักษณะของซุ้มประตูเป็นเสาคู่ ประดับด้วยลวดลายมังกร ซึ่งมังกร 5 เล็บของจีนสื่อถึงองค์ฮ่องเต้ หรือองค์พระมหากษัตริย์ ซุ้มประตูสร้างด้วยโครงสร้างเหล็กกล้า ภายในเป็นเหล็กทั้งหมดภายนอกประดับตกแต่งใช้คอนกรีตเสริมใยแก้ว ซึ่งเป็นคอนกรีตที่มีน้ำหนักเบา ในขณะที่ยังคงความสวยงามและรูปแบบศิลปะถูกต้องตามต้นแบบสถาปัตยกรรมจีน

ส่วนสีซุ้มประตูเป็นสีแดงที่ใช้สำหรับอาคารสำคัญต่างๆ โดยหลังคาของซุ้มประตูทั้ง 2 แห่ง เป็นสีเหลือง อันเป็นสีประจำพระองค์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ของจีนโบราณ ด้านบนสุดยอดของหลังคาประดิษฐ์ตราสัญลักษณ์มงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 โดยสองข้างของตราสัญลักษณ์เป็นรูปปั้นมังกรคู่เทิดทูนตราสัญลักษณ์ สื่อถึงการแสดงความจงรักภักดี ร่วมใจของพสกนิกรไทยจีนและคนไทยเชื้อสายจีนทั้งหมด

มีการเขียนลวดลายโดยใช้ช่างจากประเทศจีน ที่ฐานซุ้มประตูทั้ง 2 แห่งจะมีฐานที่เป็นกล่องหินแกะสลักจากประเทศจีน 4 คู่ มีช้างแบบไทย 2 คู่ หมายถึง ประเทศไทย และสิงโตแบบจีนโบราณ 2 คู่ หมายถึง ประเทศจีน และรูปกลอง 4 คู่ แกะสลักจากหินพิเศษเรียกว่าหินอ่อนหยกขาวจีน (หินฮั่นไป๋ยู่) ออกแบบและแกะสลักโดยศิลปินระดับชาติของอำเภอฉวีหยาง มณฑลเหอเป่ย ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นแหล่งกำเนิดประติมากรรมแกะสลักของประเทศจีน

โดยได้ใช้เวลา 4 เดือนในการแกะสลักประติมากรรมรูปช้างได้แกะสลักตามรูปแบบช้างพาหนะที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงประทับในสมัยโบราณ ซึ่งเป็นช้างทรงเครื่อง ตัวหนังสือที่แกะสลักบนผ้าคลุมหลังช้างทั้งสี่ตัวนั้น เป็นคำว่า จี๋ (สิริ) เสียง (มงคล) หรู (สม) ยี่ (ความปรารถนา) ตามลำดับประติมากรรมรูปสิงโตนั้น แกะสลักตามรูปแบบสิงโตที่จัดวางอยู่ทั้งสองฝั่งหน้าประตูพระที่นั่งไท่เหอ ซึ่งเป็นอาคารที่มียศศักดิ์สูงที่สุดในพระราชวังต้องห้ามของกรุงปักกิ่ง

สิงโตแต่ละคู่มีทั้งเพศผู้และเพศเมีย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจบารมีที่น่าเกรงขาม และบุญวาสนาที่สืบทอดกันอย่างไม่ขาดสายประติมากรรมรูปกลองนั้น ได้แกะสลักลวดลายเมฆมงคล ซึ่งตามความเชื่อและประเพณีของชาวจีนหมายถึงความปรองดองสมานฉันท์ ความสมบูรณ์พูนสุข ความเจริญมั่นคงของบ้านเมืองและความสงบสุขของประชาชน

ตรงฐานเสาใช้หินแกรนิตสีแดงจากประเทศจีน โดยกรมศิลปากรช่วยออกแบบลวดลายไทยเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย นำมาหุ้มฐานเสา เพื่อความเป็นสิริมงคลยืนยงยาวนาน

การจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ นี้ เกิดจากการรวมพลังความสามัคคี ความจงรักภักดีและความกตัญญูกตเวทิตาของปวงพสกนิกร เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2567 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความร่มเย็นเป็นสุขเสมอมา ซึ่งซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นสถาปัตยกรรมที่รังสรรค์โดยการผสมผสานทางศิลปวัฒนธรรมชั้นสูงของอารยธรรมไทย-จีน

และในปีพุทธศักราช 2568 เป็นโอกาสครบ 50 ปีแห่งสัมพันธภาพระหว่างราชอาณาจักรไทย กับสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสถานเอกอัครราชทูตสาธารณประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้ร่วมเทิดพระเกียรติด้วยการมอบประติมากรรมมงคล ช้าง, สิงห์ และกลอง แกะสลักจากหินอ่อนหยกขาว “ฮั่นไป๋ยู่” มาประดิษฐานบนฐานปัทม์ อันเป็นศิลปกรรมไทย ซึ่งออกแบบโดยกรมศิลปากร สะท้อนความมั่นคงและยั่งยืนแห่งสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน อันจะนำมาสู่การเป็นหมุดหมายแห่งใหม่ที่สำคัญของประเทศ ในด้านการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม

ภาพพูลช่างภาพสื่อมวลชน

Back to top button