“คลัง” คาด GDP ปี 68 โต 3.5% แรงหนุน 5 ปัจจัย “ท่องเที่ยว-ดิจิทัลวอลเล็ต”

กระทรวงการคลัง คาดว่า เศรษฐกิจไทย ปี 68 จะขยายตัวเร่งขึ้น 3% และมีโอกาสถึง 3.5% ด้วย 5 แรงหนุน ท่องเที่ยว-ดิจิทัลวอลเล็ต "เงินหมื่น เฟส 3"


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (30 ม.ค.68) นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 และ 2568 ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.5% ช่วงคาดการณ์ที่ 2.3-2.8% ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2566 ที่ขยายตัวที่ 1.9% ต่อปี

โดยได้แรงสนับสนุนหลักจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเท่ากับ 35.5 ล้านคน, การบริโภคภาคเอกชน ที่คาดว่าจะขยายตัว 4.7% ช่วงคาดการณ์ที่ 4.5-5.0% ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจาก มาตรการกระตุ้นและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สูงขึ้น และมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐตามเกณฑ์สถิติ ดุลการชำระเงิน (Balance of Payments: BOP) ที่คาดว่าจะขยายตัว 5.9% ช่วงคาดการณ์ที่ 5.7-6.2% แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

สำหรับการบริโภคภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวที่ 0.6% ช่วงคาดการณ์ที่ 0.4-0.9% และการลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.1% ช่วงคาดการณ์ที่ 1.9-2.4% อย่างไรก็ดีการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าหดตัวที่ -2.7% ช่วงคาดการณ์ที่ -3.0% ถึง -2.5% เนื่องจากการหดตัวของการลงทุนด้านเครื่องจักรเครื่องมือ โดยเป็นผลมาจากยอดขายรถยนต์สันดาปที่ลดลง ประกอบกับการเข้าถึงสินเชื่อที่ยากทำให้ผู้ประกอบการยังชะลอการตัดสินใจลงทุน ซึ่งต้องจับตาการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างใกล้ชิดในระยะต่อไป

ด้านเสถียรภาพภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.4% ช่วงคาดการณ์ที่ 0.2-0.7% เนื่องจากราคาพลังงานในตลาดโลกปรับตัวลดลง สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัด ในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะเกินดุล 10.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 2.0% ของ GDP

กระทรวงการคลัง คาดว่า เศรษฐกิจไทย ปี 2568 จะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 3.0% ต่อปี ช่วงคาดการณ์ที่ 2.5-3.5% โดยมี 4 ปัจจัยบวกหลัก ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชน, การส่งออก, การท่องเที่ยว และการลงทุน ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยการบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.3% ต่อปี ช่วงคาดการณ์ที่ 2.8-3.8%

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว 4.4% ต่อปี ช่วงคาดการณ์ที่ 3.9-4.9% สอดคล้องกับความต้องการสินค้าของตลาดโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะยังขยายตัวต่อเนื่อง ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 38.5 ล้านคน ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนรายได้จากการท่องเที่ยว และส่งเสริมภาคบริการและภาคการผลิตที่เกี่ยวข้อง

ด้านการลงทุนในปี 2568 จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจาก 2 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่

1. การลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่า จะขยายตัวที่ 2.7% ต่อปี ช่วงคาดการณ์ที่ 2.2-3.2% จากการเร่งดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนโดยบีโอไอ ซึ่งมีมูลค่าขอรับการส่งเสริมสูงกว่า 1.14  ล้านล้านบาทในปี 2567 สูงสุดในรอบ 10 ปี และมีโครงการยื่นขอส่งเสริมกว่า 3,100 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะทยอยลงทุนจริง ภายใน 1–4 ปี หลังการอนุมัติ

และ 2. การลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.4% ต่อปี ช่วงคาดการณ์ที่ 2.9-3.9% จากความต่อเนื่องในการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนและการเร่งรัดโครงการสำคัญเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และกระตุ้นการลงทุนต่อเนื่องในภาคเอกชน

นอกจากนี้ แรงหนุนจากเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2568 ยังส่งผลให้การบริโภคภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวที่ 1.3% ต่อปี ช่วงคาดการณ์ที่ 0.8-1.8% ด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 0.9% ต่อปี ช่วงคาดการณ์ที่ 0.4-1.4% เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าตามอุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวดี ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชี เดินสะพัดจะเกินดุล 13.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 2.4% ของ GDP ช่วงคาดการณ์ที่ 1.9-2.9 ของ GDP สะท้อนถึงศักยภาพที่เข้มแข็งของภาคต่างประเทศและการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว

โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีโอกาสขยายตัวได้สูงกว่า 3.0%  หากภาวะเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศเอื้ออำนวยรวมถึงมีการเร่งรัดและติดตามผลการดำเนินของนโยบายต่าง ๆ อย่างเต็มที่ ดังนี้

  1. การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2568 ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายโดยเฉพาะรายจ่ายลงทุน
  2. การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายของประชาชนผู้ได้รับสิทธิภายใต้โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ระยะที่ 3 เพื่อทำให้เม็ดเงินทั้งหมดถูกใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่และทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากที่สุด
  3. การเร่งรัดการลงทุนในโครงการบ้านเพื่อคนไทย เพื่อให้เกิดการลงทุนตามแผนงาน
  4. การกระตุ้นการท่องเที่ยวในภาพรวมและช่วงปลายปีที่ประเทศไทยจะได้เป็นเจ้าภาพ การแข่งขันมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33
  5. การเร่งรัดโครงการการลงทุนของภาคเอกชน หลังได้รับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนแล้ว โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับ Data Center และ Cloud Region เพื่อให้เกิดเม็ดเงิน ลงทุนจริงสู่ระบบเศรษฐกิจและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งหากสามารถผลักดันแนวทางการเร่งรัดได้เต็มศักยภาพแล้ว คาดว่าจะเพิ่มอัตราการขยายตัวได้อีก 5% ทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ถึง 3.5% ตามกรอบบนของช่วงคาดการณ์

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตที่เข้มแข็ง (Resilient Growth) ของประเทศไทยในปี 2568 โดยใช้เครื่องมือทางการคลังอย่างเต็มศักยภาพเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการเงินในระดับครัวเรือนอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเดินหน้าผลักดันให้ประเทศไทย เป็น “ศูนย์กลางธุรกิจการเงิน” (Financial Hub) เพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม ยังควรติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด อาทิ 1. แนวทางนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและการตอบโต้ของประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบ 2. การนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้นกับผลกระทบต่อภาคการผลิตของอุตสาหกรรมไทย 3. ความเชื่อมั่นของ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย 4. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในหลายภูมิภาค ที่อาจสร้างความผันผวนและจำกัดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย และ 5. ปัญหาหนี้ครัวเรือนและ ภาคธุรกิจของไทย ซึ่งอาจกระทบกำลังซื้อและการใช้จ่ายในระยะต่อไป

Back to top button