CPALL-CPAXT ร่วงต่อ! หากฮุบ “เซเว่น ญี่ปุ่น” ส่อออกหุ้นกู้-เพิ่มทุน

CPALL-CPAXT ร่วงต่อ! นักลงทุนมีความกังวลว่าหาก CP Group ได้ข้อสรุปกับผู้ก่อตั้ง Seven & i เพื่อฮุบกิจการเซเว่น ญี่ปุ่น ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจต้องใช้ CPALL หรือ CPAXT เข้าทำรายการ นั่นหมายถึงทั้ง 2 บริษัทอาจต้องมีการออกหุ้นกู้จำนวนมากด้วยอัตราดอกเบี้ยสูง หรืออาจต้องเพิ่มทุนจดทะเบียน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (3 ก.พ.68) ราคาหุ้นของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ปรับตัวลงต่อเนื่องตามเวลา ณ 10:28 น. อยู่ที่ระดับ 50.75 บาท ลบ 1.25 บาท หรือ 2.40% สูงสุดที่ระดับ 51.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 47.25 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 2,619.72 ล้านบาท

บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CPAXT ราคาหุ้น ณ เวลา 10:30 น. อยู่ที่ระดับ 25.25 บาท ลบ 1.50 บาท หรือ 5.61% สูงสุดที่ระดับ 25.75 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 24.90 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 169.99 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีมีการรายงานข่าวเกี่ยวกับครอบครัวผู้ก่อตั้ง Seven & i เจ้าของบริษัท 7-ELEVEN ญี่ปุ่น มูลค่ากิจการกว่า 5.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2 ล้านล้านบาท) กำลังเจรจาขอให้ CP Group ของไทย เข้าร่วมพันธมิตรในการซื้อกิจการเพื่อบริหารโดยฝ่ายบริหาร (Management Buyout) ของยักษ์ใหญ่ค้าปลีกญี่ปุ่น โดยแผนการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการซื้อกิจการมูลค่า 47,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท) จาก Alimentation Couche-Tard ของประเทศแคนาดา

จากการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก พบว่า Alimentation Couche-Tard (อาลีมองตาซิยง คูช-ตาร์ด) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “คูช-ตาร์ด” เป็นผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อข้ามชาติสัญชาติแคนาดา บริษัทมีร้านค้าประมาณ 16,700 แห่งในแคนาดา, สหรัฐอเมริกา, เม็กซิโก, ไอร์แลนด์, นอร์เวย์, สวีเดน, เดนมาร์ก, เอสโตเนีย, ลัตเวีย, ลิทัวเนีย, โปแลนด์, ญี่ปุ่น, ฮ่องกง และอินโดนีเซีย ภายใต้แบรนด์ Couche-Tard, Circle K และ On the Run เป็นหลัก รวมถึงมีแบรนด์สินค้าในเครืออย่าง Mac’s Convenience Stores, go! (Go Store), 7-jours, Dairy/Daisy Mart, Becker’s และ Winks โดย Circle K มีร้านสาขาจำนวน 9,799 แห่งในอเมริกาเหนือ, 2,697 แห่งในยุโรป และร้านค้าอีก 2,380 แห่ง ที่ดำเนินการภายใต้ข้อตกลงแฟรนไชส์ทั่วโลก

ที่สำคัญ Couche-Tard ถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรหลักของกลุ่ม Family Mart จากปี 2522 Circle K ร้านสะดวกซื้อในเครือ Couche-Tard มีการขยายการผ่านข้อตกลงอนุญาตใช้สิทธิ (licensing agreement) และก่อตั้งร้านค้า Circle K แห่งแรกในญี่ปุ่น โดย UNY Group Holdings ต่อมาร้านค้า Circle K ในญี่ปุ่นมีการดำเนินการโดยบริษัท FamilyMart ของญี่ปุ่นจนถึงปี 2561 (ใช้ชื่อว่าบริษัท เซอเคิล เค ซันคุส (Circle K Sunkus Company) เนื่องจากมีการควบรวมกิจการระหว่าง UNY ซึ่งเป็นเจ้าของ Circle K Sunkus และ Family Mart ปี 2559 และสุดท้ายร้านค้า Circle K ทั้งหมดในญี่ปุ่น ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นร้าน Family Mart คู่แข่งรายสำคัญของ Seven & i

โดยจากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเป็นกลุ่มพันธมิตรของ Family Mart กำลังมีความพยายามในการเทกโอเวอร์กิจการ Seven & i ที่เป็นคู่แข่งหลักในธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อ และหากทำสำเร็จ มีความเป็นไปได้สูงว่ากลุ่ม Family Mart อาจเปลี่ยนชื่อจาก Seven ทั้งหมดมาเป็น Family Mart แทน

ประเด็นดังกล่าวเกิดจากความกังวลว่าหาก CP Group ได้ข้อสรุปกับผู้ก่อตั้ง Seven & i และมีความเป็นไปได้ว่าอาจต้องใช้ CPALL หรือ CPAXT เข้าทำรายการ นั่นหมายถึงทั้ง 2 บริษัทอาจต้องมีการออกหุ้นกู้จำนวนมากด้วยอัตราดอกเบี้ยสูง หรืออาจต้องเพิ่มทุนจดทะเบียน เนื่องจาก CPALL-CPAXT และกลุ่มซีพี ติดปัญหาเกณฑ์การกำกับลูกหนี้รายใหญ่ (Single Lending Limit) ไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินเพิ่มเติมได้อีก

จากงบการเงิน CPALL สิ้นสุดไตรมาส 3/2567 มีกำไรสุทธิ 18,166 ล้านบาท เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 45,980 ล้านบาท หนี้สินหมุนเวียนรวม 210,819 ล้านบาท หนี้สินไม่หมุนเวียนรวม 387,715.05 ล้านบาท รวมหนี้สินทั้งหมด 598,534 ล้านบาท เงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน 42,781 ล้านบาท เงินสดสุทธิจากกิจกรรมลงทุน -20,924 ล้านบาท เงินสดสุทธิจากกิจกรรมจัดหาเงิน -43,020 ล้านบาท เงินสดสุทธิ -21,163 ล้านบาท

ขณะที่ อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น 1.93 เท่า อัตราส่วนความสามารถชำระดอกเบี้ย 3.16 เท่า อัตราส่วนสภาพคล่อง 0.58 เท่า อัตราส่วนสภาพคล่องหมุนเร็ว 0.23 เท่า วงจรเงินสด (วัน) -25.12 วัน โดยมีหุ้นกู้ระยะยาว (Long Term Debenture) มีทั้งหมด 44 รุ่น (เรตติ้งระดับ AA 43 รุ่น และระดับ A 1 รุ่น) มูลค่ารวม 227,072 ล้านบาท

ส่วนงบการเงิน CPAXT สิ้นสุดไตรมาส 3/2567 มีกำไรสุทธิ 6,609 ล้านบาท เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 19,821 ล้านบาท หนี้สินหมุนเวียนรวม 111,887 ล้านบาท หนี้สินไม่หมุนเวียนรวม 125,631 ล้านบาท รวมหนี้สินทั้งหมด 237,519 ล้านบาท เงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน 9,484 ล้านบาท เงินสดสุทธิจากกิจกรรมลงทุน -12,481 ล้านบาท เงินสดสุทธิจากกิจกรรมจัดหาเงิน -8,946 ล้านบาท เงินสดสุทธิ -11,943 ล้านบาท

ขณะที่ อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) 0.81 เท่า อัตราส่วนความสามารถชำระดอกเบี้ย 2.98 เท่า อัตราส่วนสภาพคล่อง 0.57 เท่า อัตราส่วนสภาพคล่องหมุนเร็ว 0.20 เท่า วงจรเงินสด (วัน) -25.35 วัน

โดยมีหุ้นกู้ระยะสั้น (Short Term Debenture) มีทั้งหมด 3 รุ่น มูลค่ารวม 7,500 ล้านบาท และหุ้นกู้ระยะยาว (Long Term Debenture) (เรตติ้งระดับ AA-) มีทั้งหมด 16 รุ่น มูลค่าคงค้างรวม 61,339 ล้านบาท

นายเกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน CPALL แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ตามที่ปรากฏข่าวโดยสื่อต่างประเทศ เรื่องบริษัทค้าปลีกญี่ปุ่นมองหาผู้ร่วมลงทุนหลายราย ซึ่งบริษัทเป็นหนึ่งในชื่อที่ถูกอ้างถึงในข่าว โดยยังไม่มีข้อสรุปเงื่อนไขและการคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนแต่ประการใดนั้น ขอเรียนให้ทราบว่าบริษัทมีนโยบายการลงทุนที่มุ่งเน้นการเติบโตของธุรกิจ ในกรณีที่พิจารณาข้อเสนอใด ๆ ในการลงทุน บริษัทจะดำเนินการด้วยความรอบคอบและระมัดระวังโดยเน้นประโยชน์สูงสุดของบริษัท ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทเป็นสำคัญ

บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ระบุว่า กระแสข่าว Seven & i กำลังเจรจากลุ่ม CP เข้าร่วมซื้อกิจการ เลี่ยงถูกครอบงำกิจการ โดยมีไฮไลต์คือมูลค่าดีล คาดอยู่ที่ 5.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.9 ล้านล้านบาท สูงกว่าข้อเสนอ Couche-Tard (คูช-ตาร์ด) ที่ 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.6 ล้านล้านบาท โดยคาดการลงทุนร่วมกันมีหลายฝ่าย ซึ่งในส่วนของกลุ่ม CP คาดใช้เงินหลายแสนล้านเยน หรือมากว่า 2.2 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ ประเมินว่าโอกาสเกิดขึ้นกับ CPALL มีน้อย เพราะดีลไม่น่าสนใจ 1)กำไรต่อหุ้น (EPS) ของ Seven & i ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาผันผวน และเติบโตต่ำกว่า 3.3% ต่อปี 2)มูลค่าดีลตามข่าวไม่ถูก เทียบเท่าอัตราราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ปัจจุบัน 85.7 เท่า หรือ Forward P/E 50 เท่า เทียบกับ CPALL ซื้อขาย PER ปัจจุบัน 21.5 เท่า และ Forward P/E ล่วงหน้า 20.8 เท่า 3)การทำงานร่วมกัน (Synergies) กับกิจการเซเว่น-อีเลฟเว่น (7-ELEVEN) ในไทยมีน้อย

อย่างไรก็ตาม หากดีลดังกล่าวเกิดขึ้นจริง มองเป็น “ลบ” เพราะอัตราผลตอบแทนของดีลนี้ แต่ละปีก่อนหักต้นทุนการเงินจะต่ำ 2.5% ต่ำกว่าต้นทุนทางการเงินของ CPALL ปัจจุบันราว 4% ดังนั้นถ้าต้องกู้เงินเพื่อลงทุนอาจกระทบต่อกำไร มี downside และความเสี่ยงที่ฐานะการเงินจะตึงตัวขึ้นจากปัจจุบันที่อัตราหนี้สินต่อหุ้นสุทธิ (Net D/E) อยู่ที่ 0.84 เท่า

Back to top button