“ธนินท์” มองเศรษฐกิจไทยสดใส เร่งสร้างแรงงานคุณภาพ เก่ง “AI-เทคโนโลยี” หนุนค่าแรง 600 บาท
ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยสดใส ยังมีโอกาส โดยเฉพาะภาคเกษตร แนะสร้างแรงงานมีคุณภาพ เก่ง "AI - เทคโนโลยี" หนุนค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ย้ำหน้าที่นักธุรกิจต้องช่วยทำให้คนไทยรวยขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (3 ก.พ.68) นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวในงาน Chula Thailand President Summit 2025 จัดขึ้น ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อ “Future Thailand: Next Growth” โดยเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของพลังงานนิวเคลียร์ในอนาคต
นายธนินท์ กล่าวตอนหนึ่งว่า เทคโนโลยีล้ำสมัย อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI), รถยนต์ไฟฟ้า (EV), โดรน และหุ่นยนต์ ล้วนต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมาจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำ แต่แนวโน้มของโลกกำลังก้าวไปสู่ยุคของพลังงานนิวเคลียร์
ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ระบุว่า นี่คือธุรกิจแห่งอนาคตที่ยิ่งใหญ่ และไฟฟ้านิวเคลียร์ก็เป็นพลังงานสะอาด ปลอดภัย อินโดนีเซียและมาเลเซียมีการออกกฎหมายรองรับแล้วเพื่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ทันสมัยที่สุด ส่วนประเทศไทยยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน หากเรามุ่งพัฒนา AI และเทคโนโลยีขั้นสูง แต่ขาดพลังงานที่สะอาดและต้นทุนต่ำ ลมและแสงอาทิตย์อาจไม่เพียงพอ จึงต้องเสริมด้วยไฟฟ้านิวเคลียร์
หนุนรัฐวางเป้าหมายท่องเที่ยว ชี้ไทยต้องลงทุนให้ชัด งบประมาณต้องมา
นายธนินท์ กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยยังมีอนาคตที่สดใส เพราะเราอยู่ในยุคการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่เผชิญกับความปั่นป่วน ทั้งสภาพอากาศ การเมือง และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในวิกฤติย่อมมีโอกาส และเมื่อมีโอกาสก็ต้องเผชิญกับความท้าทาย ไม่มีอะไรจะราบรื่นไปตลอด การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า วันนี้รัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว โดยเฉพาะมาตรการฟรีวีซ่า ที่ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่สร้างเม็ดเงินให้ประเทศได้รวดเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม แม้การท่องเที่ยวไทยจะมีศักยภาพ แต่ต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ พร้อมกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ทั้งในแง่ของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการดึงดูดและระดับรายได้ที่คาดหวัง
นอกจากนี้ นายธนินท์ ยังเสนอให้ไทยมุ่งสู่การเป็น “ศูนย์กลางการเรียนรู้ของโลก” สร้างสถาบันการศึกษาที่ก้าวทันโลก เพื่อดึงคนเก่งและสมองจากทั่วโลกมาสู่ประเทศไทย ซึ่งจะสร้างรายได้ระยะยาวไม่แพ้การท่องเที่ยว พร้อมย้ำว่าความปลอดภัยเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง
ไทยได้เปรียบด้านเกษตร แนะปฏิรูปที่ดิน-ชลประทาน ควบคู่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบด้านเกษตรกรรม ในยุคที่โลกปั่นป่วน แม้ไทยจะเผชิญปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง แต่ยังโชคดีที่ไม่ต้องเผชิญพายุรุนแรงหรือแผ่นดินไหวเหมือนหลายประเทศ พร้อมแนะนำใช้งบประมาณ มาปฏิรูปเรื่องที่ดินและทำเรื่องชลประทานควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน
“วันนี้เราทำหรือยังครับ ยังครับ ผมยังไม่เห็นว่าเอาจริงเอาจังกับเรื่องชลประทานเลย ถ้าเรามีชลประทานแล้ว เราก็จะไม่กลัวน้ำท่วมกับแล้ง แล้งก็ไม่เกิด น้ำท่วมก็ไม่เกิด เพราะเราจัดการเรื่องน้ำ และผมเชื่อมั่นว่าตามมหาวิทยาลัยกับราชการมีคนเก่งเรื่องน้ำ แต่เราให้ความสนใจไหม เรามีให้นโยบาย ให้งบประมาณไหม ผมว่าเอางบประมาณที่สร้างถนนเนี่ย มาสร้างเขื่อน สร้างชลประทาน สร้างถนนเข้าไร่นา ถ้าเราทำแบบนี้ผลผลิตการเกษตรจะเพิ่มขึ้น 5 เท่า ปลูกได้ 3 ครั้ง เพราะดินฟ้าอากาศ ร้อนเราไม่กลัว กลัวไม่มีน้ำ กลัวน้ำท่วมไม่ได้กลัวร้อน เราก็มีพืชที่ทนความร้อนได้ ลองคิดดูว่าพืชไร่ถ้าเรามีน้ำเราเพิ่มได้ 3 เท่า ผลไม้ก็ต้องมีน้ำ ที่สูงหน่อยก็ปลูกผลไม้ ที่ราบที่ต่ำก็ทำเป็นบึงขายน้ำ ปั่นไฟ รอบ ๆ บึงก็เป็นที่ท่องเที่ยวเป็นที่ตากอากาศ ที่อยู่อาศัย ผมมองว่าเมืองไทยเต็มไปด้วยโอกาสเรื่องเกษตร” นายธนินท์ กล่าว
ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า การเกษตรใช้เทคโนโลยีมากที่สุด ปัจจุบัน เครือซีพี ใช้โดรน ในการเกษตร ที่กัมพูชา 40,000 ไร่ ในจีนกว่าแสนไร่ และในรัสเซีย 7 แสนกว่าไร่ เพื่อตรวจผลผลิตทางการเกษตร เฝ้าระวังแมลงศัตรูพืช ใส่ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ซึ่งการใช้โดรนประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการใช้เครื่องบินไปพ่นยาฆ่าแมลง ส่วนเรื่องปศุสัตว์ ก็มีการใช้ AI และอุปกรณ์ทันสมัย อย่าง IOT (Internet Of Things) เช่น วัดความชื้น อุณหภูมิ ออกซิเจน แอมโมเนีย สัตว์ป่วย โรค และการใช้หุ่นยนต์ เครื่องจักรให้อาหารเพื่อความปลอดภัย ไปจนถึงเรื่องโลจิสติกส์ การผลิตห่วงโซ่ยาวที่สุดไปจนถึงค้าปลีก ภัตราคาร ถึงโต๊ะอาหารของทุกคน
ไทยต้องเร่งสร้างแรงงานคุณภาพ แนะลดเวลาเรียน–เรียนคู่ทำงาน
นายธนินท์ กล่าวว่า ประเทศไทยต้องเร่งสร้างบุคลากรที่มีรายได้ พร้อมเสนอแนวทางปฏิรูประบบการศึกษาให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานมากขึ้น การศึกษาต้องเน้นความรู้ที่ใช้ได้จริง เรียนไปทำงานไป และจบแล้วต้องพร้อมทำงานได้ทันที โจทย์สำคัญคือ เราสามารถลดระยะเวลาเรียนให้สั้นลงได้หรือไม่ ปัจจุบันไทยต้องการแรงงานที่มีความพร้อมถึง 5 ล้านคน แต่ผลิตบัณฑิตใหม่ เพียงปีละ 3 แสนคน หมายความว่ากว่าจะมีแรงงานเพียงพอต้องใช้เวลากว่า 10 ปี ซึ่งอาจไม่ทันต่อการแข่งขันในอนาคต ตรงนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลด้วย
นอกจากนี้ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า นักธุรกิจมีหน้าที่ จะอยู่รอดได้ต้องคิดถึงประชาชน เพราะกำไรมาจากประชาชน เราจะขายสินค้าให้ประชาชน
“ถ้าคนไทยไม่รวยขึ้น จะเอาเงินที่ไหนมาใช้ไฮเทคและอาหารของผม เพราะฉะนั้นต้องคิดถึงลูกค้าก่อนว่าทำอย่างไรให้เขามีรายได้ ทำอย่างไรให้เขามีกำลังซื้อ ถ้าหากว่าประชาชนไม่มีกำลังซื้อ ผมผลิตสินค้าออกมาแล้วจะขายให้ใคร เพราะฉะนั้นมันเป็นหน้าที่ของนักธุรกิจ แต่พื้นฐานจริง ๆ ต้องมาจากมหาวิทยาลัย และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องออกกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้กับประเทศ”
“วันนี้ผมมองว่าเต็มไปด้วยโอกาส ถ้าหากวันนี้เรารู้แล้วว่าโลกเปลี่ยนแปลง เราก็รู้ว่าทั่วโลกชอบมาเที่ยวเมืองไทยอยู่เมืองไทย แต่กฎหมายเราไม่ค่อยเอื้อ ยังกีดขวาง กลัวมาแย่งอาชีพคนไทย เราหาอาชีพที่คนไทย ประเทศไทยยังไม่มียังต้องการ มาสัก 5 ล้านคน 7-8% สิงคโปร์เอาเท่าตัว 100% เราเอามาไม่ได้มากหรอกครับ แต่ผมเชื่อว่าเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจทันที ในเรื่อง “ไฮเทค” ก็ต้องคน สุดท้ายทุกอย่างคือคนเป็นคนสร้างและคนเป็นคนใช้ ถ้าคนไม่มีความรู้ก็ไม่สามารถใช้ไฮเทคเหล่านี้ได้”
นายธนินท์ กล่าวทิ้งท้ายว่า โจทย์ของซีพีวันนี้คือทำอย่างไรให้ต้นทุนถูกลง ดังนั้นเครื่องจักรที่ซีพีจะลงทุน ต้องมีกำลังผลิตมากกว่าเดิม 5 เท่า หุ่นยนต์และ AI จะช่วยให้คนทำงานน้อยลงแต่ได้ผลลัพท์มากขึ้น เพราะฉะนั้นต้องสร้างพนักงานให้เก่งขึ้น ใช้ AI และเทคโนโลยีขั้นสูงให้เป็น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และรองรับการเติบโตของภาคธุรกิจ
“ค่าแรง 600 บาทผมว่าถึงแน่นอน ดังนั้นเราต้องสร้างคน พนักงานของบริษัทให้เก่งขึ้น เท่าทันกับโลก ไม่กลัวเงินเดือนยิ่งสูง เพราะประสิทธิภาพยิ่งสูง” ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าว