ครม. ไฟเขียว “รถไฟความเร็วสูง เฟส 2” นครราชสีมา-หนองคาย มูลค่า 3.4 แสนล้าน

ครม. อนุมัติ "รถไฟความเร็วสูง เฟส 2" นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357 กม. มูลค่า 3.4 แสนล้าน จ่อเชื่อมรถไฟลาวทะลุถึงจีน คาดเสร็จปี 73 ด้าน นายกฯ สั่งเร่งรัด เฟสแรก “กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 253 กม.” หลังสร้างช้ากว่ากำหนด


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (4 ก.พ.68) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา–หนองคาย กรอบวงเงิน 341,351.42 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี (ปีงบประมาณ 2568-2575) ตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอ โดยให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายปี และให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ และค้ำประกันเงินกู้ให้ตามความเหมาะสม

เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างไทยและจีน ว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ

ครม. มีมติในวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 ที่อนุมัติให้ การรถไฟแห่งประเทศ (รฟท.) ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย (โครงการฯ ระยะที่ 1) กรุงเทพฯ- นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 253 กิโลเมตร วงเงิน 179,413 ล้านบาท

โดยรัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ปีงบประมาณ 2560-2563) ซึ่งปัจจุบันโครงการฯ ระยะที่ 1 ล่าช้ากว่ากำหนด โดยมีความคืบหน้าโดยรวม 35.74% ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2571

กระทรวงคมนาคม โดย รฟท. ได้ขออนุมัติดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 2 ประกอบด้วย การดำเนินการใน 2 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1 การก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากโครงการฯ ระยะที่ 1 ที่จะเริ่มต้นที่จังหวัดนครราชสีมา ไปจนถึงจังหวัดหนองคาย วงเงิน 335,665.21 ล้านบาท ระยะทาง 357.12 กม. ประกอบด้วย 5 สถานี ได้แก่ 1.สถานีบัวใหญ่ 2.สถานีบ้านไผ่ 3.สถานีขอนแก่น 4.สถานีอุดรธานี และ 5.สถานีหนองคาย โดยจะเริ่มก่อสร้างในปีงบประมาณ 2568 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2575 (รวม 8 ปี)

ส่วนที่ 2 การก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา วงเงิน 5,686.21 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จ.หนองคาย ซึ่งเป็นการก่อสร้างศูนย์บริการเปลี่ยนถ่ายสินค้าทางรถไฟ ทั้งขาเข้า – ขาออก ระหว่างทางขนาด 1 เมตร ของรถไฟไทย และขนาดทางมาตรฐาน 1.45 เมตร ของโครงการรถไฟลาว-จีน ในรูปแบบศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One stop service)

สำหรับ โครงการฯ ระยะที่ 2 เมื่อพิจารณา EIRR เชิงกว้าง กรณีโครงการฯ ระยะที่ 1 + 2 พบว่า มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 13.23% ซึ่งยังมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ อีกทั้ง คณะกรรมการการ รฟท. มีมติเห็นชอบโครงการฯ ระยะที่ 2 และ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ได้เห็นชอบรายงาน EIA ของโครงการฯ ระยะที่ 2 ด้วยแล้ว

นายจิรายุ กล่าวอีกว่า เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้สรุปความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นควรให้กระทรวงคมนาคม เร่งจัดทำรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมของรูปแบบการบริหารจัดการรถไฟความเร็วสูง เสนอ ครม. พิจารณาโดยเร็ว และให้การรถไฟฯ ศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ และเสนอขออนุมัติพร้อมกันกับการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยให้ทบทวนและปรับปรุงสมมติฐานที่ใช้ในการศึกษาให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน

“นายกรัฐมนตรี สั่งการว่า ขอให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ เร่งรัดดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 1 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากล่าช้ากว่าแผนมานานแล้ว”

ทั้งนี้ที่ประชุมครม. เห็นชอบในหลักการโครงการฯ ระยะที่ 2 โดยให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ดำเนินการตามความเห็นของสภาพัฒน์ฯ ก่อนดำเนินการต่อไป และให้รับความเห็นของหน่วยงานไปพิจารณาด้วย โดยให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ขอบคุณภาพ ประชาสัมพันธ์ กระทรวงคมนาคม 

Back to top button