DSI ยัน! คดีทุจริต EA ยังไม่สรุป รอตรวจสอบเอกสารต่างประเทศ

ดีเอสไอ ยังไม่สรุปคดีทุจริต EA เหตุต้องใช้เวลารวบรวมหลักฐาน และตรวจสอบข้อมูลจากต่างประเทศ พร้อมย้ำกระบวนการสอบสวนต้องรอบคอบ ป้องกันความคลาดเคลื่อน


วันนี้ (4 ก.พ. 68) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  จากกรณีที่มีกระแสข่าวผู้ต้องหาในคดีที่ผู้บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ทุจริตการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และหรือทุจริตการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์ เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ EA ผ่านบริษัทย่อย 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท อีเอ โซล่า นครสวรรค์ จำกัด และบริษัท อีเอ โซล่า ลำปาง จำกัด เมื่อปี 2556 – 2558 ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเป็นคดีพิเศษตั้งแต่ช่วงกลางปี 2567 อาจไม่ถูกสั่งฟ้องนั้น

จากการตรวจสอบโดยอ้างอิง แหล่งข่าวระดับสูงในกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ชี้แจงว่า คดีนี้อัยการสูงสุดพิจารณา และมอบหมายให้คณะอัยการมาร่วมสอบสวนกับดีเอสไอจำนวน 5 คน โดยมีอธิบดีดีเอสไอเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ซึ่งตอนนี้การสอบสวนยังไม่ได้มีการสรุปสำนวน เนื่องจากอยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐานที่อยู่ในต่างประเทศด้วย เพราะคดีนี้มีธุรกรรมการโอนเงินนอกราชอาณาจักรเกี่ยวกับค่าสัญญาด้วย ซึ่งการสอบสวนคาดว่าจะใช้เวลาอีกนาน

อย่างไรก็ดี ถ้ามีหลักฐานที่สามารถดำเนินคดีก็จะต้องเรียกผู้ต้องหาเข้ามาให้ข้อมูลก่อน ซึ่งยังต้องใช้ระยะเวลาการสอบสวน ก่อนที่ดีเอสไอจะต้องเสนอสำนวนไปให้กับอัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณา และที่ผ่านมาคณะทำงานได้ประชุมร่วมกันไปหลายครั้งแล้ว ทำให้คดีมีความคืบหน้าไปได้ครึ่งทางแล้ว

แหล่งข่าวคนดังกล่าว ยังบอกว่า ขณะนี้ในส่วนของผู้เกี่ยวข้องกับคดี ยังไม่มีบุคคลอื่นที่เข้าข่ายต้องดำเนินคดีเพิ่มเติม นอกเหนือจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ (ก.ล.ต.) ได้กล่าวโทษไว้ แต่ถ้าหากว่าก็อาจจะเกี่ยวข้องในเรื่องการสนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับการโอนเงิน  แต่ในตอนนี้ยืนยันว่ายังไม่มีใครเพิ่มเติมที่ถูกขยายผล แต่ถ้าหากมีหลักฐานไปถึงก็จะดำเนินคดีแน่นอน

สำหรับคดีของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ทาง ก.ล.ต. ได้มีการกล่าวโทษนายสมโภชน์ อาหุนัย และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล กรรมการและผู้บริหาร EA และนายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส โดยว่าระบุว่าในช่วงปี 56 –58 บุคคลทั้ง 3 รายได้ร่วมกันกระทำการทุจริตการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และทุจริตการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ EA ผ่านบริษัทย่อย 2 บริษัทดังกล่าว เป็นเหตุให้บุคคลทั้ง 3 รายได้รับผลประโยชน์ จำนวนรวม 3,465.64 ล้านบาท โดยตอนนี้คดีดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการสอบสวบของดีเอสไอและอัยการสูงสุด

Back to top button