“กรมศุลฯ” จับสินค้าเถื่อน 4 เดือนแรกปีงบ 68 เฉียด 800 ล้าน

“กรมศุลกากร” แถลงผลงานจับสินค้าผิดกฎหมาย ช่วง 4 เดือนแรก ประจำปีงบประมาณ 68 มูลค่ารวม 780 ล้านบาท สะท้อนนโยบายปราบปรามการลักลอบนำเข้า-ส่งออกสินค้าผิดกฎหมายกระทบเศรษฐกิจไทย


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (5 ก.พ.68) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้เพิ่มมาตรการสกัดกั้นการลักลอบนำเข้า – ส่งออกสินค้าผิดกฎหมายที่ส่งผลต่อสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน รวมถึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ขานรับนโยบายและสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มงวดเพื่อตอบสนองนโยบายอย่างเคร่งครัด กรมศุลกากร โดย นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร จึงกำชับให้เจ้าหน้าที่เพิ่มการเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าและส่งออกสินค้าผิดกฎหมายทุกช่องทาง รวมถึงการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ซึ่งในช่วง 4 เดือนแรกที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2568 กรมศุลกากรสามารถจับกุมสินค้าผิดกฎหมาย มูลค่ากว่า 780 ล้านบาท โดยมีสินค้าที่น่าสนใจ ดังนี้

1.บุหรี่ต่างประเทศ  สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 ร่วมกับด่านศุลกากรสงขลา ตรวจค้นโกดังร้างในจังหวัดสงขลาและพัทลุง พบบุหรี่ต่างประเทศ จำนวน 1.21 ล้านมวน มูลค่า 6.05 ล้านบาท และได้ร่วมกับด่านศุลกากรสงขลาและด่านศุลกากรท่าอากาศยานหาดใหญ่ ตรวจค้นพัสดุในบริษัทขนส่งเอกชนในจังหวัดสงขลา พบบุหรี่ต่างประเทศ จำนวน 704,000 มวน มูลค่า 3.52 ล้านบาท

ด่านศุลกากรแม่สอด ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานศุลกากรภาคที่ 3 ใช้เครื่องเอกซเรย์ชนิดถือ ในการตรวจสอบสินค้าร่วมกับพนักงาน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และ บริษัทขนส่งสินค้า พบบุหรี่ต่างประเทศ จำนวน 1,000,000 มวน มูลค่า 4 ล้านบาท นอกจากนี้ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้ทำการตรวจค้นพัสดุไปรษณีย์ในประเทศ ณ ศูนย์ไปรษณีย์ศรีราชา จังหวัดชลบุรี พบบุหรี่ต่างประเทศ ไม่มีหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากร จำนวน 124,400 มวน มูลค่า 746,400 บาท

ด่านศุลกากรจันทบุรี ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานศุลกากรภาคที่ 1 ร่วมกับสรรพสามิตพื้นที่จันทบุรี ตั้งด่านตรวจสินค้าบนถนนสายหลักในจังหวัดจันทบุรี พบรถกระบะซุกซ่อนบุหรี่ต่างประเทศ จำนวน 513,400 มวน มูลค่า 3 ล้านบาท นอกจากนี้ กองสืบสวนและปราบปราม ได้ลงพื้นลาดตระเวนที่บริเวณป่ายาง ริมถนนหมายเลข 3014 จังหวัดสงขลา พบบุหรี่ต่างประเทศใช้ผ้าคลุมไว้ และไม่มีผู้มาแสดงตน จำนวน 1,000,000 มวน มูลค่า 5 ล้านบาท กรณีนี้ เป็นความผิดตามมาตรา 242 245 246 247 ประกอบมาตรา 166 167 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ตามแต่กรณี และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

สำหรับสถิติการจับกุมบุหรี่ต่างประเทศ ในปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม 2567 – มกราคม 2568) จับกุมได้ 667 คดี ปริมาณ 17.39 ล้านมวน มูลค่า 90.32 ล้านบาท

2.บุหรี่ไฟฟ้า

สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตรวจสอบตู้สินค้าขาเข้า พบของไม่ได้แสดงข้อมูลในใบขนสินค้า เป็นบุหรี่ไฟฟ้าชนิดใช้แล้วทิ้ง จำนวน 68,475 ชิ้น มูลค่า 13.70 ล้านบาท

กองสืบสวนและปราบปราม ได้ตรวจสอบสินค้านำเข้า ประเทศกำเนิด CHINA พบสินค้าที่ไม่ได้แสดงในใบขนสินค้า เป็นบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 44,000 ชิ้น มูลค่า 8 ล้านบาท

สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 ได้ร่วมกับด่านศุลกากรสงขลาและด่านศุลกากรท่าอากาศยานหาดใหญ่ ตรวจค้นพัสดุในบริษัทขนส่งเอกชนในจังหวัดสงขลา พบบุหรี่ไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ จำนวน 5,230 ชิ้น มูลค่า 1.73 ล้านบาท กรณีนี้ เป็นความผิดตามมาตรา 202 242  244 245 246 และ 247 ประกอบมาตรา 166 167 243 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ตามแต่กรณี และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง สำหรับสถิติการจับกุมบุหรี่ไฟฟ้า ในปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม 2567 – มกราคม 2568) จับกุมได้ 234 คดี มูลค่า 28.95 ล้านบาท

3.ยาเสพติด

กองสืบสวนและปราบปราม และสุนัข K-9 พร้อมชุดปฏิบัติการ SITF เข้าร่วมตรวจสอบพัสดุต้องสงสัยเตรียมส่งออก ปลายทางสาธารณรัฐฟิลิปปินส์  พบยาเสพติดประเภท 1 เมทแอมเฟตามีน (ไอซ์) โดยซุกซ่อนภายในกระบอกลม จำนวน 952 ชิ้น ปริมาณ 33 กิโลกรัม มูลค่า 9.9 ล้านบาท

สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ พบความผิดปกติจากภาพเอกซเรย์พัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ต้นทางประเทศสหราชอาณาจักร จำนวน 3 หีบห่อ และต้นทางประเทศเบลเยียม จำนวน 1 หีบห่อ จึงได้ร่วมกับชุดปฏิบัติการ AITF และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ตรวจสอบพบยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 “โคเคน (COCAINE)” น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม รวม 410 กรัม มูลค่ารวม 1.23 ล้านบาท

สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ร่วมกับ กองสืบสวนและปราบปราม ด่านอาหารและยาท่าเรือกรุงเทพ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ตรวจสอบใบขนสินค้าขาเข้าซึ่งแสดงชนิดสินค้าในใบขนสินค้าเป็นไฮดราซีนและไฮดรอกซิลามีนและเกลืออนินทรีย์แต่จากการตรวจสอบโดยใช้เครื่อง Handheld Raman Spectrometer พบเป็น Chloral Hydrate ลักษณะเป็นเกล็ดแข็งสีขาวห่อหุ้มด้วยถุงพลาสติก บรรจุในถังอีกชั้นหนึ่ง  น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มทั้งหมดประมาณ 300 กิโลกรัม มูลค่า3.3 ล้านบาท ซึ่งจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 4 โดยไม่ได้รับอนุญาตตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 พ.ศ. 2565 ตามบัญชีท้ายประกาศลำดับที่ 7 ของประมวลกฎหมายยาเสพติด

กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 202 และ 244 ประกอบมาตรา 166 และ 167 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ตามแต่กรณี และประมวลกฎหมายยาเสพติด สำหรับสถิติในการจับกุมยาเสพติด ในปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม 2567 – มกราคม 2568) จับกุมได้ 85 คดี มูลค่า 637.10 ล้านบาท

4.ช่อดอกกัญชา

สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จับกุมช่อดอกกัญชาลักลอบส่งออก ปลายทางประเทศสหราชอาณาจักร และประเทศในภูมิภาคยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เป็นต้น โดยซุกซ่อนปะปนอยู่กับของใช้ เช่น ผ้าห่ม เสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬา ของเล่น ฯลฯ จำนวน 9 คดี รวม 197.94 กิโลกรัม มูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.97 ล้านบาท

สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ได้ตรวจสอบใบขนสินค้าขาออก ระบุประเทศปลายทาง UNITED KINGDOM  แสดงข้อมูลในใบขนสินค้าเป็นอ่างอาบน้ำ (SHOWER TUB) ปริมาณ 2 ใบ ผลการตรวจสอบ พบช่อดอกกัญชา บรรจุถุงพลาสติกสุญญากาศ ซุกซ่อนอยู่ในอ่างอาบน้ำ น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 90 กิโลกรัม มูลค่า 900,000 บาท กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 202 และ 244 ประกอบมาตรา 166 167 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ตามแต่กรณี และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง สำหรับสถิติในการจับกุมกัญชา ในปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม 2567 – มกราคม 2568) จับกุมได้ 361 คดี มูลค่า 24.75 ล้านบาท

5.ของอุปโภคที่ไม่ผ่านพิธีการศุลกากร

กองสืบสวนและปราบปราม ตรวจค้นโกดังเก็บสินค้าในเขตบางบอน กรุงเทพมหานคร พบโลชั่นบำรุงผิว และทิชชูเปียก จำนวน 300,000 ชิ้น มูลค่า 7 ล้านบาท โดยเป็นสินค้าที่มีเมืองกำเนิดต่างประเทศ และไม่มีเอกสารหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากร

สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ตรวจสอบตู้สินค้าขาเข้า ตรวจพบเป็นกระดาษเช็ดหน้า จำนวน 223,440 ชิ้น มูลค่า 167,203.35 บาท โดยมีประเทศกำเนิด CHINA แต่บรรจุภัณฑ์ของสินค้าดังกล่าว ระบุ Made in Thailand” จึงเป็นการแสดงกำเนิดเป็นเท็จ กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 202 244 และ 246 ประกอบมาตรา 166 167 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ตามแต่กรณี และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

6.ขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก กรมศุลกากรให้ความสำคัญกับการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดย กองสืบสวนและปราบปราม ร่วมกับสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ตรวจสอบตู้สินค้าต้องสงสัย 10 ตู้คอนเทนเนอร์ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง พบมีการแสดงข้อมูลในใบขนสินค้าเป็น “เศษโลหะและโลหะเก่าใช้แล้ว” จึงอายัดตู้สินค้าดังกล่าวเพื่อตรวจสอบ

โดยละเอียด ผลการตรวจสอบพบสินค้ามีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่น 9 ตู้ และฮ่องกง 1 ตู้ ภายในพบเศษชิ้นส่วนอุปกรณ์หรือส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ไม่ได้ มีสภาพเป็นเศษขยะอิเล็กทรอนิกส์ ปริมาณ 256,320 กิโลกรัม สินค้าดังกล่าวถือเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ต้องได้รับอนุญาตให้นำเข้าจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และการนำเข้าสินค้าดังกล่าวต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาบาเซล ว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกำจัดของเสียอันตรายข้ามแดน

สำหรับเศษพลาสติกซึ่งเป็นของต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เศษพลาสติกเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2567 โดย สำนักงานศุลกากร

ภาคที่ 2 ร่วมกับสำนักงานศุลกากรหนองคาย ได้รับการข่าวว่าจะมีการนำเศษพลาสติกเข้ามาในประเทศผ่านด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 จึงได้ตรวจสอบและพบรถบรรทุกของบริษัทขนส่งแห่งหนึ่ง บรรทุกกระสอบบรรจุเศษพลาสติกมาเต็มคันรถ ใช้ผ้าใบปิดคลุมไว้ จำนวน 1,400 กระสอบ น้ำหนัก 25,000 กิโลกรัม กรณีนี้ เป็นความผิดตามมาตรา 202 และ 244 ประกอบมาตรา 166 167 243 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ตามแต่กรณี และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

สำหรับสถิติการจับกุมของที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ในปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม 2567 – มกราคม 2568) ได้แก่ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 19 คดี น้ำหนัก 256.64 ตัน เศษพลาสติก จำนวน 8 คดี น้ำหนัก 367.20 ตัน

7.เครื่องเล่นเกมส์ (ตู้คีบตุ๊กตา) โดย สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ตรวจสอบตู้สินค้าขาเข้าพบของไม่ได้แสดงข้อมูลในใบขนสินค้าเป็นเครื่องเล่นเกมส์ (ตู้คีบตุ๊กตา) โดยนำเข้าในลักษณะแยกชิ้นส่วน ซึ่งสามารถนำมาประกอบเป็นตู้คีบตุ๊กตาครบชุดสมบูรณ์ จำนวน 132 ตู้ มูลค่า 1.6 ล้านบาท

นอกจากนั้น กองสืบสวนและปราบปราม ร่วมกับ สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ ตรวจสอบสินค้านำเข้าจากประเทศจีน แสดงข้อมูลในใบขนสินค้าเป็นตู้ แต่เมื่อตรวจสอบ พบเป็นเครื่องเล่นเกมส์ (ตู้คีบตุ๊กตา) จำนวน 48 ตู้ มูลค่า 480,000 บาท กรณีนี้ เป็นความผิดตามมาตรา 202 และ 244  ประกอบมาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และของดังกล่าวเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้าตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำเครื่องเล่นเกมส์เข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2548

Back to top button