“เอไอเอส-ทรู” ติง กสทช. ตั้งราคาประมูลคลื่น 5G แพงเกินจริง หวั่นกระทบผู้ใช้บริการ

กสทช. เตรียมเปิดประมูลคลื่น 5G รอบใหม่ 6 คลื่นความถี่ แต่ราคาเริ่มต้นทำเอาผู้ประกอบการทั้ง “เอไอเอส-ทรู” ออกโรงโวย ราคาคลื่น 1800 MHz แพงเกินจริง แถมงวดการชำระเงินสุดโหด หวั่นกระทบการแข่งขันและผู้บริโภคในที่สุด


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (6 ก.พ.68) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ สำนักงาน กสทช. ได้จัดงานการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล 850 MHz, 1500 MHz, 1800 MHz, 2100 MHz, 2300 MHz และ 26 GHz และ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุฯ ที่เกี่ยวข้อง

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ประธาน กสทช.กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือกว่า 100 ล้านราย โดยใช้เครือข่าย 4G ประมาณ 99.15% และ 5G ประมาณ 91% ทั่วประเทศ คาดการณ์ว่า ในปี 2572 จะมีความต้องการใช้งานบรอดแบนด์ (Broadband) เคลื่อนที่ภายในประเทศ มากถึง 1,156 GB ต่อคนต่อปี และจะประยุกต์ใช้ Smart 5G ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การผลิตของภาคการเกษตร การจัดระเบียบเมืองให้ปลอดภัยการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่แม่นยำ การพัฒนาด้านการศึกษา รวมถึงการพัฒนาระบบการสื่อสารความเร็วสูงให้มีความทันสมัย รองรับกับความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะระบบสาธารณสุข การเข้าถึงทางการแพทย์ ที่ต้องอาศัยข้อมูลเพื่อช่วยเหลือชีวิตคนอย่างทันท่วงที

ดังนั้น กสทช. จึงมุ่งมั่นที่จะขยายเครือข่าย 5G เพื่อให้มั่นใจว่า ทุกภาคส่วนจะได้รับความสะดวกสบายในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่สามารถเชื่อมต่อ และส่งข้อมูลได้ในทันที ขณะเดียวกันกระแสการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือ การพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลล้ำยุค อย่าง AI ที่ทั้งหน่วยงานรัฐและองค์กรเอกชน เริ่มเตรียมความพร้อมนำไปใช้งานอย่างกว้างขวาง รวมถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมอื่น ๆ เช่น 5.5G คลาวด์ และ Use caseใหม่ ๆ ซึ่งต้องอาศัยคลื่นความถี่ และระบบโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ และสอดประสานกัน เพื่อเป็นกลไกในการผลักดันขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนผ่านระบบอัจฉริยะ แห่งอนาคต นำไปสู่การสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ

“กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแล จะสร้างความเชื่อมั่นและผลักดันนโยบายจัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิดประสิทธิภาพ มีความโปร่งใสและยุติธรรม ด้วยการออกแบบหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และเกิดการแข่งขันอย่างแท้จริงในการประมูล เพื่อให้เกิดการนำคลื่นความถี่ไปต่อยอดการใช้งานที่สร้างคุณค่าให้กับสังคม สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมดิจิทัล ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการเชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์ นำไปสู่ความสำเร็จในการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ยุค 5G and beyondประธาน กสทช. กล่าว

สำหรับการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลในครั้งนี้ มีทั้งหมด 6 ย่านความถี่ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. คลื่นความถี่แบบเป็นคู่ (Paired band) เทคโนโลยี FDD คือ ย่าน 850 MHz รองรับ 3G, ย่าน 1800 MHz รองรับ 3G 4G และ ย่าน 2100 MHz รองรับ 3G 4G

  1. คลื่นความถี่แบบไม่เป็นคู่ (Unpaired band) เทคโนโลยี SDL และ TDD คือ ย่าน 1500 MHz รองรับ 3G, ย่าน 2100 MHz รองรับ 3G 4G, ย่าน 2300 MHz รองรับ 3G 4G และสามารถพัฒนาไปสู่ 5G ได้

และ 3. คลื่นความถี่ย่านสูง (High band) เทคโนโลยี TDD คือ ย่าน 26 GHz รองรับ 5G การประมูลคลื่นความถี่นี้ จะประมูลด้วยวิธี Clock Auction ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับการประมูล Multibandในปี 2563 โดยได้มีการปรับปรุงเพื่อให้สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คาดการณ์ว่า จะสามารถจัดประมูลได้ภายในไตรมาส 2 ในปี 2568

ขณะที่ นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. คาดว่า สำนักงาน กสทช. จะเปิดการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล จำนวน 6 ย่านความถี่ ในช่วงเดือน พ.ค.68 ประกอบด้วย

  1. ย่านความถี่ 850 MHz จำนวน 2 ชุด ขนาด 2×5 MHz ราคาขั้นต่ำ 6,609 ล้านบาท/ชุดคลื่นความถี่
  2. ย่านความถี่ 1500 MHz จำนวน 11 ชุด ขนาด 5 MHz ราคาขั้นต่ำ 904 ล้านบาท/ชุดคลื่นความถี่
  3. ย่านความถี่ 1800 MHz จำนวน 7 ชุด ขนาด 2×5 MHz ราคาขั้นต่ำ 6,219 ล้านบาท/ชุดคลื่นความถี่
  4. ย่านความถี่ 2100 MHz FDD จำนวน 12 ชุด ขนาด 2×5 MHz ราคาขั้นต่ำ 3,391 ล้านบาท/ชุดคลื่นความถี่ และคลื่นความถี่ 2100 MHz TDD จำนวน 3 ชุด ขนาด 5 MHz ราคาขั้นต่ำ 497 ล้านบาท/ชุดคลื่นความถี่
  5. ย่านความถี่ 2300 MHz จำนวน 7 ชุด ขนาด 10 MHz ราคาขั้นต่ำ 1,675 ล้านบาท/ชุดคลื่นความถี่
  6. ย่านความถี่ 26 GHz จำนวน 1 ชุด ขนาด 100 MHz ราคาขั้นต่ำ 423 ล้านบาท/ชุดคลื่นความถี่

โดยทุกคลื่นความถี่จะมีระยะเวลาอนุญาตให้ใช้ 15 ปี นับตั้งแต่ 4 ส.ค.68 ยกเว้นคลื่น 2100 MHz FDD จะมีอายุ 13 ปี เพราะจะหมดอายุในวันที่ 6 ธ.ค.70

ด้าน นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร หัวหน้าสายงานรัฐกิจสัมพันธ์และกำกับดูแล ตัวแทนจาก บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE เห็นว่า กสทช. มาถูกทางที่เปิดประมูลคลื่นแบบ Multi Band แต่การจัดกลุ่มประมูลไม่ตอบโจทย์ เพราะเห็นว่าควรเปิดประมูลพร้อมกันทั้ง 6 คลื่น ไม่อยากให้แบ่งกลุ่ม และหากจัดกลุ่มดังกล่าวอาจทำให้การประมูลไม่ประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกันไม่เห็นด้วยกับ “ราคาขั้นต่ำ” ที่ กสทช. เสนอมา เช่น คลื่น 1800 MHz ที่ในอดีตจัดสรรไม่สำเร็จ และมีราคาสูงกว่า Benchmark รวมถึง งวดการชำระเงิน (payment term) แต่ละงวดสูงเกินไป โดยปีแรกจ่าย 50% ของราคาประมูลปีที่ 2 และ 3 ชำระ 25% ไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยตกต่ำ อยากให้แบ่งชำระเป็น 10 งวด งวดละ 10%

ขณะที่ นายมติ เจริญศิริ ตัวแทนจากบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในกลุ่ม บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC กล่าวว่า ในประเด็นราคาขั้นต่ำ อยากให้ กสทช. คำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน หลังจากฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด และยังมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น อีกทั้งประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัย สภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงก่อนหน้าที่เคยประมูลคลื่นและยังมีดาวเทียมวงโคจรต่ำจากสหรัฐฯ จีน อังกฤษ เข้ามาแข่งขัน ยิ่งทำให้ “โอเปอเรเตอร์” มีความเสี่ยงมากขึ้น เช่น ราคาขั้นต่ำคลื่น 1800 MHz ที่ราคาขั้นต่ำค่อนข้างสูง รวมทั้งอยากให้คลื่น 3500 MHz ออกมาประมูลด้วยในคราวเดียวกัน

สำหรับการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช.ฯ นี้ ได้จัดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตาม มาตรา 28 แห่ง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 โดยได้เชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. ทั้ง 4 ฉบับข้างต้น ซึ่งสามารถนำส่งแบบแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.68 จนถึงวันที่ 20 ก.พ. 68 ในเวลา 16:30 น.

โดย กสทช. จะนำความคิดเห็นมาปรับปรุงร่างประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ฯ และนำเสนอบอร์ด กสทช. จากนั้นจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนเปิดประมูล

Back to top button