แรงเทขาย LTF กระหน่ำ! AUM วูบ 1.88 แสนลบ. เงินไหลออก ม.ค.พุ่ง 1.8 หมื่นล้าน

กองทุน LTF ถูกเทขายหนัก! กดดัน AUM ร่วงแตะ 1.88 แสนล้าน ส่วน เดือนม.ค. 68 เงินไหลออกพุ่ง 18,000 ล้าน สูงกว่าม.ค. 67 เกือบ 4 เท่า นักลงทุนหวั่นแรงขายยังกดดันตลาดต่อเนื่อง


นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) และในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดหุ้นไทยที่ลดลงอย่างหนักตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแรงเทขายกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ครบกำหนดพร้อมขายในปีนี้ ส่งผลให้มีแรงขายออกมาอย่างหนักตั้งแต่ต้นปี 2568

โดยเดือนม.ค. 68 ที่ผ่านมา พบว่า มีแรงขายจากกองทุน LTF ออกมาประมาณ 18,000 ล้านบาท และยังมีเม็ดเงินส่วนที่เหลืออีกประมาณ 200,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วงเดือน ก.พ. เริ่มเห็นแรงขายเบาบางลงเมื่อเทียบกับเดือนม.ค. แต่ยังต้องติดตามต่อเพราะยังเป็นแค่ช่วงต้นปีเท่านั้น

ธรรมชาติของ LTF โดยปกติจะค่อยๆขาย แม้จะ Hold มาเกินระยะเวลาที่ Hold ได้ แต่ก็ไม่ได้มีการขายออกมากระหน่ำขนาดนี้ แต่ปีนี้อาจจะเป็นเรื่องของการเชียร์ การออกมาพูดของโบรกเกอร์ ทุกคนพูดเชียร์ขายหมด ซึ่งการสื่อสารแบบนี้ทำให้นักลงทุนกังวล เลยใช้จังหวะนี้ในการขายของออกมาค่อนข้างหนัก อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะต้องติดตามตัวเลขของเดือน ก.พ. อีกครั้ง ว่าจะมีแรงขายเท่าไหร่ อย่างไรก็ตามในเดือน ม.ค. ก็เป็นธรรมชาติที่จะมีการขายออกมาเยอะ แต่ก.พ.เริ่มเห็นชะลอการขายลงเมื่อเทียบกับช่วงเดือนม.ค.” นางชวินดา กล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (AUM) ของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่ยกเลิกสิทธิ์ลดหย่อนภาษีสำหรับการซื้อกองทุนประเภทนี้

สำหรับภาพรวมการเปลี่ยนแปลง AUM ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน พบว่า AUM ของ LTF เติบโตต่อเนื่องจาก 5,304 ล้านบาทในปี 2547 จนขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ 406,416 ล้านบาทในปี 2562 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษี  แต่นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา AUM ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ณ สิ้นเดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ 188,428 ล้านบาท ลดลงถึง 217,988 ล้านบาทจากจุดสูงสุดในปี 2562

สำหรับการเปลี่ยนแปลงของ AUM นับตั้งแต่ยกเลิกลดหย่อนภาษี โดยในปี 2563 ลดลง 59,126 ล้านบาท, ปี 2564 เพิ่มขึ้น 18,275 ล้านบาท, ปี 2565 ลดลง 33,213 ล้านบาท, ปี 2566 ลดลง 66,955 ล้านบาท, ปี 2567 ลดลง 45,537 ล้านบาท, และปี 2568 ลดลง 31,432 ล้านบาท

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าแนวโน้มของ AUM มีการลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงปี 2566-2568 ซึ่งสะท้อนถึงแรงขายออกจากนักลงทุนที่ถือ LTF

นอกจากปัจจัยด้านราคาหุ้นในตลาดที่ส่งผลต่อมูลค่ากองทุนแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ AUM ของ LTF ลดลงคือการไหลออกสุทธิของเงินลงทุน อาทิ ในปี 2563 ไหลออกสุทธิ 10,710 ล้านบาท, ปี 2564 ไหลออกสุทธิ 19,410 ล้านบาท, ปี 2565 ไหลออกสุทธิ 31,238 ล้านบาท, ปี 2566 ไหลออกสุทธิ 22,854 ล้านบาท, ปี 2567 ไหลออกสุทธิ 37,697 ล้านบาท, ปี 2568 ไหลออกสุทธิ 18,000 ล้านบาท

เดือน ม.ค. 2568 แรงขายพุ่งสูงกว่าปีก่อนเกือบ 4 เท่า

ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะเดือนมกราคม 2568 จะพบว่า AUM ลดลงไป 31,432 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น ราคาหน่วย LTF ลดลง ตามดัชนี SET ประมาณ -5% หรือคิดเป็น 10,000 ล้านบาท ประกอบกับเงินไหลออกจากการขายหน่วย ประมาณ 18,000 ล้านบาท

โดยเมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 2567 ที่มีแรงขายเพียง 5,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าการไหลออกในเดือน ม.ค. 2568 มีมากขึ้นเกือบ 4 เท่า ซึ่งอาจสะท้อนถึงความกังวลของนักลงทุน รวมถึงพฤติกรรมการลดพอร์ต LTF หลังพ้นช่วงถือครองขั้นต่ำ

สำหรับแนวโน้มการลดลงของ AUM และการเทขาย LTF อาจยังคงดำเนินต่อไป โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงกองทุนที่กำลังครบกำหนดขายของนักลงทุนที่ซื้อไว้ก่อนปี 2563 ซึ่งอาจส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยเผชิญกับแรงขายเพิ่มเติม

ขณะที่นักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญยังคงจับตาดูว่า LTF จะยังถูกเทขายต่อเนื่องหรือถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ทั้งนี้ ปัจจัยอื่นๆ เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจ การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น และผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ที่เข้ามาทดแทนอาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ต้องพิจารณา

Back to top button