![](https://media.kaohoon.com/wp-content/uploads/2025/02/TIDLOR_2025-02-10_news.jpg)
TIDLOR โชว์กำไรปี 67 แตะ 4.2 พันล้าน โต 12% รับสินเชื่อ-นายหน้าประกันพุ่ง
TIDLOR เปิดกำไรปี 67 นิวไฮ พุ่งแตะ 4.2 พันล้านบาท โต 11.6% โชว์เบี้ยประกันโตทะลุ 1 หมื่นล้านบาท ด้าน NPL คุมอยู่หมัด 1.81% ต่ำกว่ากรอบที่วางไว้ไม่เกิน 2%
บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR เปิดเผยว่า ในปี 2567 บริษัทสามารถทำกำไรสุทธิสูงสุดใหม่ที่ 4,230.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.6% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนจากปีก่อนหน้า เนื่องมาจากการเติบโตของรายได้จากการขยายตัวของทั้งธุรกิจสินเชื่อ การเพิ่มขึ้นของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ รวมถึงการเติบโตที่แข็งแกร่งของธุรกิจนายหน้าประกัน โดยในปี 2567 บริษัทมีรายได้รวม 22,160.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.8% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งรายได้หลักมาจากรายได้ดอกเบี้ยรับ และรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการ
สำหรับผลการดำเนินธุรกิจสินเชื่อ ณ สิ้นปี 2567 บริษัทมีพอร์ตสินเชื่อคงค้าง อยู่ที่ 103,933.7 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.6% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และควบคุมคุณภาพสินเชื่อได้ดี NPL ปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.81%
นอกจากนี้บริษัทยังมีเบี้ยประกันวินาศภัยรวมมูลค่า 10,176.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.4% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการผสมผสานการดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,044.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.9% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 5.4% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยการเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 2567 ส่วนใหญ่มาจากการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิต ที่ปรับลดลง 30.2% จากไตรมาสก่อนหน้า รวมถึงรายได้รวมที่เติบโตขึ้นจากการกลับมาขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อ หลังจากที่ชะลอตัวในไตรมาสก่อนหน้า และเบี้ยประกันวินาศภัยที่เติบโตในระดับสูงที่ 23.8% จากไตรมาสก่อนหน้า
สำหรับภาพรวมการดำเนินธุรกิจในปี 2567 ที่ผ่านมา บริษัทมีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 1,778 แห่ง และยังคงให้ความสำคัญกับการใช้จุดแข็งด้านเทคโนโลยีที่สร้างและพัฒนามามากกว่า 10 ปี ทั้งด้านสินเชื่อ โดยมี “บัตรติดล้อ” ข้อมูล ณ เดือน ธ.ค. 67 ได้ส่งมอบบัตรติดล้อให้กับลูกค้าแล้วมากกว่า 735,000 ใบ เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และยังมีบริการ “โอนเงินสินเชื่อเข้าบัญชีผ่านแอปพลิเคชันเงินติดล้อ” ซึ่งที่ผ่านมาลูกค้ามีการเบิกวงเงินสินเชื่อผ่านบริการดังกล่าวสูงถึง 70% เมื่อเทียบกับช่องอื่นๆ สะท้อนถึงความสำเร็จของกลยุทธ์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจสินเชื่อ และการยกระดับบริการทางการเงิน ด้วยเป้าหมายเพื่อช่วยลูกค้าลดต้นทุนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ และช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงเงินทุนเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินได้สะดวกยิ่งขึ้น
ขณะที่การดำเนินธุรกิจนายหน้าประกัน ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลมาจากการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีด้านนายหน้าประกัน (InsurTech Platform) ทำให้บริษัทสามารถนำเสนอขายผลิตภัณฑ์และบริการที่เข้าถึงได้และครอบคลุมความต้องการที่หลากหลายของกลุ่มลูกค้า ได้แก่ 1.แบรนด์ประกันติดโล่ (Shield Insurance) ผู้นำธุรกิจนายหน้าประกันในรูปแบบ Face to Face พร้อมให้คำแนะนำและเสนอขายประกันอย่างใกล้ชิด จากพนักงานมืออาชีพมากกว่า 5,000 คน ภายในสาขาเงินติดล้อ ทั่วประเทศ พร้อมบริการ Call Canter 1501 ที่เปิดให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง 2.แบรนด์อารีเกเตอร์ (Areegator) แพลตฟอร์มเสนอขายประกันออนไลน์ ผ่านสมาชิกตัวแทนนายหน้าประกัน ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 10,000 คน และ 3.แบรนด์เฮ้กู๊ดดี้ (heygoody.com) แพลตฟอร์มนายหน้าประกันดิจิทัล ที่ลูกค้าสามารถเลือกซื้อประกันด้วยตัวเองผ่านช่องทางออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันได้รับผลตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี และ heygoody.com ยังถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ช่วยเติมเต็มช่องว่างทางการตลาดให้กับภาพรวมธุรกิจนายหน้าประกันของบริษัทได้เป็นอย่างดี
นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจในปี 2567 ที่ผ่านมา แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่บริษัทยังคงมีศักยภาพสามารถสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง โดยธุรกิจนายหน้าประกันมีเบี้ยประกันวินาศภัยรวมมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านบาท และธุรกิจสินเชื่อมีพอร์ตสินเชื่อคงค้างมากกว่า 100,000 ล้านบาท
ขณะที่คุณภาพพอร์ตสินเชื่อรวมของบริษัทอยู่ในระดับที่ดีและควบคุมได้ โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม (NPL Ratio) ณ สิ้นปี 2567 อยู่ที่ 1.81% ปรับตัวลดลงจาก ณ ไตรมาส 3 ปี 2567 และยังคงอยู่ภายในกรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้ไม่เกิน 2.0% ซึ่งเป็นผลมาจากคุณภาพของสินเชื่อที่ปล่อยใหม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าปี 2566 จากการปรับนโยบายการอนุมัติสินเชื่อ และการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการติดตามหนี้ผ่านการปรับกลยุทธ์ โดยจัดสรรทรัพยากรสาขาเพื่อสนับสนุนการติดตามหนี้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่ยังคงอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (%NPL Coverage) ในระดับแข็งแกร่งที่ 242.7%
ทั้งนี้ ด้วยความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา ควบคู่กับประสิทธิภาพในการบริหารโครงสร้างเงินทุน ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 2.5 เท่า ขณะที่บริษัทมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีวงเงินกู้ยืมคงเหลืออีกมากกว่า 26,000 ล้านบาท และมีความสามารถในการชำระคืนเงินกู้ได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้การออกหุ้นกู้ในปีที่ผ่านมาได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี โดยมียอดแสดงความจำนงในการจองเกินกว่ายอดที่เสนอขาย (Oversubscription) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการได้รับอันดับเครดิตที่ “A/Stable” จากทริสเรทติ้ง ซึ่งถือเป็นระดับสูงที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการในธุรกิจเดียวกันอีกด้วย
สำหรับการดำเนินธุรกิจในปี 2568 บริษัทยังคงขับเคลื่อนโดยคณะผู้บริหารมืออาชีพ ที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ โดยยังคงให้ความสำคัญกับการเฝ้าติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด และดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง พร้อมปรับกลยุทธ์และแผนต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถสร้างการเติบโตให้กับภาพรวมการดำเนินธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐ ตามหลักธรรมาภิบาล
ขณะที่ยังคงยึดมั่นแนวคิดการดำเนินธุรกิจเพื่อส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ผ่านการให้บริการทางการเงินที่เข้าถึงได้ เป็นธรรม และโปร่งใส ซึ่งถือเป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ คือการส่งเสริมให้ลูกค้าและประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน
โดยจะเห็นได้จากปีที่ผ่านมาบริษัทช่วยสร้างเครดิตทางการเงินให้ลูกค้ามากกว่า 362,000 ราย ส่งเสริมให้คนไทยสามารถเข้าถึงความคุ้มครองด้านประกันภัยได้มากกว่า 999,000 ราย และยังสานต่อโครงการเพื่อส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้แก่ผู้คนในชุมชน หน่วยงานภายนอก และนักศึกษา อย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้เข้ารับการอบรมรวมมากกว่า 780 คน นอกจากนี้ยังตระหนักถึงความสำคัญด้านการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจและบริการ การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม อย่างต่อเนื่องอีกด้วย
สำหรับความคืบหน้าของการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการของบริษัท สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้อนุมัติคําขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่พร้อมกับการทําคําเสนอซื้อหลักทรัพย์เดิมของ ติดล้อ โฮลดิ้งส์ แล้ว และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ได้รับอนุญาตในการตอบรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของ ติดล้อ โฮลดิ้งส์ จากหน่วยงานที่กำกับดูแลแล้ว
โดยปัจจุบัน ติดล้อ โฮลดิ้งส์ อยู่ระหว่างกระบวนการให้แบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับ ซึ่งคาดว่ากระบวนการแลกหุ้น (Tender Offer) จะเกิดขึ้นภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 สำหรับผู้ถือหุ้นและนักลงทุนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของ TIDLOR ได้ที่เว็บไซต์ www.tidlorinvestor.com