“บลจ.อีสท์สปริง” โชว์ผลงานปี 67 โต 15% แนะ 4 ธีมลงทุน ควบคุมความเสี่ยงสูง

บลจ.อีสท์สปริง แสดงผลการดำเนินงานปีที่ผ่านมาสูง 14.93% พร้อมมองโอกาสลงทุนภูมิภาคต่างๆ ในปี 2568 โดยเน้นบริหารความเสี่ยง คัดเลือกกองทุนและตราสารหนี้คุณภาพสูง พร้อมแนะนำ 4 ธีมการลงทุน


นางสาวดารบุษป์ ปภาพจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ บลจ.อีสท์สปริง เปิดเผยว่า ด้วยการดำเนินงานเชิงรุก ในปีที่ผ่านมา บลจ.อีสท์สปริง ประสบความสำเร็จจากผลการดำเนินงานของกองทุนทุกประเภท  โดยมีอัตราเติบโตของมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) รวม 14% ซึ่งถือเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดจากปี 2567 โดยแบ่งเป็น ธุรกิจกองทุนรวม เติบโต 14.93% ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เติบโต 10.16% และธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล 7.31% สูงกว่าอุตสาหกรรมธุรกิจการจัดการกองทุน AUM รวมเติบโตเกือบ 10% แบ่งเป็น ธุรกิจกองทุนรวม เติบโต 14.10% ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เติบโต 6.41 % และ ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลเติบโต 2.21% (ข้อมูล AIMC ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2024)

โดยในปีนี้ บลจ.อีสท์สปริงมองเห็นโอกาสการลงทุนในแต่ละภูมิภาค และแต่ละสินทรัพย์ที่มีความแตกต่างกัน การคัดเลือกกองทุนและจัดสรรพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์จะเป็นการเพิ่มโอกาสการลงทุน ซึ่งปัจจุบันบลจ.อีสท์สปริงมีกองทุนหลากหลายกองทุนภายใต้การบริหารจัดการโดยผู้จัดการกองทุนมืออาชีพด้วยความเชี่ยวชาญ ที่จะช่วยให้นักลงทุนก้าวข้ามขีดจำกัดและไม่พลาดโอกาสครั้งสำคัญ

นายยิ่งยง เจียรวุฑฒิ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายจัดการลงทุน บลจ.อีสท์สปริง กล่าวเสริมถึงมุมมองการลงทุนในปีนี้ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกจะอยู่ในระดับปานกลางในช่วงครึ่งปีแรก 2568 โดยภาวะเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและจีนจะเป็นตัวแปรของการเติบโตในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมองว่าจากนโยบายรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่จะสนับสนุนการเติบโตระยะสั้นและสนับสนุนแนวโน้มดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าในระยะกลาง รวมทั้งจะทำให้เกิดเงินเฟ้อมากขึ้นและอาจทำให้รอบการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดช้าลง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมของเฟดอาจจะสูงขึ้น พันธบัตรอาจถูกกดดันจากอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น และควรเน้นไปยังตราสารหนี้คุณภาพ

ทั้งนี้ ผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์ยังคงยากที่จะคาดเดาและหลายประเด็นอาจไม่ได้นำไปปฏิบัติทั้งหมด ความล่าช้าของนโยบายและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเงินเฟ้อและแนวโน้มของทิศทางดอกเบี้ยจะนำไปสู่ความผันผวนของตลาดที่สูงขึ้น  ขณะที่ในเอเชียและตลาดเกิดใหม่มีความดึงดูดในแง่ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับตลาดพัฒนาแล้ว และปัจจัยขับเคลื่อนในระยะยาวยังคงอยู่ เช่น การใช้จ่ายเงินทุนที่เพิ่มขึ้น การลดการปล่อยคาร์บอน และการกระจายความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทานน่าจะช่วยยกระดับรายได้ของบริษัทจดทะเบียน

สำหรับประเทศที่น่าจับตามองและเป็นโอกาสการลงทุนในเอเชียและตลาดเกิดใหม่ประกอบด้วย ประเทศจีน โดยยังมีมุมมองที่ดีแต่ยังคงระมัดระวังผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ แต่การประเมินมูลค่าหุ้นค่อนข้างถูกและมาตรการการกระตุ้นทางการคลังที่อาจเกิดขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากความท้าทายจากภายนอกได้ รวมถึงมาตรการที่กระตุ้นภาคการบริโภค

ประเทศอินเดีย มีการบริหารจัดการเชิงรุกถือเป็นปัจจัยสำคัญท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับโมเมนตัมของเศรษฐกิจของอินเดียที่ชะลอตัวลง และการประเมินมูลค่าตลาดที่ตึงตัว บริษัทในอินเดียยังคงค่อนข้างแข็งแรง โดย ROE กำลังดีขึ้นและอัตราส่วนหนี้สินกำลังลดลง การปรับฐานของตลาดในอินเดียในไตรมาส 4 ปี 2567 ทำให้ผู้ลงทุนมีจุดเข้าลงทุนที่น่าสนใจมากขึ้น หุ้นขนาดใหญ่มีราคาที่น่าสนใจมากกว่าหุ้นขนาดเล็ก

ประเทศญี่ปุ่น มีการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นญี่ปุ่นอาจขยายวงกว้างไปยังหุ้นขนาดกลางถึงเล็ก ซึ่งน่าจะได้รับประโยชน์จากค่าจ้างที่สูงขึ้นและการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น คาดว่าการปฏิรูปองค์กรต่างๆ จะดำเนินต่อไป ซึ่งจะช่วยสนับสนุนผลกำไรและราคาหุ้น และเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก แต่จะส่งผลดีต่อบริษัทในประเทศที่พึ่งพาการนำเข้า

ประเทศอินโดนีเซีย มองนโยบายสนับสนุนการเติบโตของรัฐบาลปราโบโวและมาตรการทางการคลัง คาดว่าจะช่วยเสริมสร้างภาคสินค้าอุปโภคบริโภคและการเงิน การให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายเพื่อสวัสดิการประชาชนของรัฐบาล จะช่วยกระตุ้นการบริโภคและสร้างโอกาสให้กับบริษัทที่จำหน่ายอาหารที่เน้นความคุ้มค่าคุ้มราคา

ประเทศเวียดนาม มองบริษัทในกลุ่มการเงิน สินค้าอุปโภคบริโภค เทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึง โลจิสติกส์ อยู่ในกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานโลก รวมถึงการเพิ่มขึ้นของการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย

ส่วนประเทศไทย แม้ตลาดหุ้นไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ความไม่แน่นอนด้านภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่ลดลงในบริษัทจดทะเบียน และการขายกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) แต่ตลาดไทยยังได้รับการสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว  การเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาครัฐ และมาตรการกระตุ้นทางการคลังที่อาจเกิดขึ้น  นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าปี 2567  กลุ่มธนาคารเป็นกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้และธุรกิจ Healthcare ซึ่งเป็นกลุ่มเชิงรับคาดว่าจะเป็นกลุ่มได้รับประโยชน์จากความผันผวนของตลาด

“ด้วยภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนมากขึ้น นักลงทุนจึงจำเป็นต้องมีวินัยในการบริหารความเสี่ยงและผลตอบแทน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk-Adjusted Returns)  โดยกลยุทธ์การลงทุนเชิงรับ เช่น การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนต่ำ การลงทุนแบบผสมหลายสินทรัพย์ (Multi – Asset)  และการลงทุนที่เน้นรายได้จากเงินปันผล จะช่วยลดความเสี่ยงด้านลบและสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาว นอกจากนี้ การคว้าโอกาสจากเทรนด์ที่มาแรงจากอุตสาหกรรมดั้งเดิมสู่เทคโนโลยีสีเขียวเป็นโอกาสการลงทุน ขณะที่บริษัทเทคโนโลยีในเอเชียเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจกว่าสำหรับการลงทุนใน AI” นายยิ่งยงกล่าว

ด้านนายบดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.อีสท์สปริง เปิดเผยถึงธีมการลงทุนที่น่าสนใจและแนะนำในปี 2568 ว่า 4 ธีมที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ในปีนี้ได้แก่ 1. โอกาสในเอเชีย โดยคาดว่ากองทุนเอเชียที่มีความผันผวนต่ำจะเป็นโอกาสในการลงทุน โดยมองว่าประเทศอินเดียยังคงมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง รวมถึงการขยายตัวของประชากร และค่าเฉลี่ยแรงงานที่อายุไม่มากซึ่งส่งผลดีต่อกำลังซื้อ ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจากค่าแรงที่ปรับตัวขึ้น โดยกองทุนที่แนะนำได้แก่ ES-JPNAE ES-INDAE และ ES-ALOVE (ซึ่งคาดว่าจะเปิดขายในวันที่ 14-21 กุมภาพันธ์ 2568)

  1. การเติบโตที่มีศักยภาพ คาดว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะยังคงขยายตัวได้ท่ามกลางความผันผวน และคาดว่ากำไรจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2568 กองทุนที่แนะนำคือ ES-USBLUECHIP
  2. การเข้าสู่โหมดลดอัตราดอกเบี้ย คาดว่าเฟดจะยังคงลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ซึ่งอาจจะเป็นในช่วงครึ่งปีหลัง และการลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก็ตาม แต่เมื่อรวมกับผลตอบแทนที่น่าสนใจ โดยเชื่อว่าตราสารหนี้คุณภาพสูงและกลยุทธ์การปรับอายุตราสาร (Duration) ที่ยืดหยุ่นจะเป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจ กองทุนที่แนะนำคือ ES-GINCOME
  3. การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ท่ามกลางความไม่แน่นอนและความผันผวน การมีกองทุนเชิงรับในพอร์ตเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยงและสร้างสมดุลให้กับการลงทุน โดยกองทุนที่แนะนำคือ ES-HEALTHCARE

“สำหรับแนวทางการจัดพอร์ตในปีนี้ นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อยมาก แนะนำลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ในประเทศ 70% กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ 30%  นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย แนะนำลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ในประเทศ 45%  กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ 30%  กองทุนหุ้นต่างประเทศ 25% นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง แนะนำลงทุน กองทุนหุ้นต่างประเทศ 45% กองทุนตราสารหนี้ในประเทศ 25%  กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ 20%  กองทุนหุ้นไทย และกองทุนสินทรัพย์ทางเลือกอย่างละ 5 % นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้มาก แนะนำลงทุนกองทุนหุ้นต่างประเทศ 65% กองทุนตราสารหนี้ในประเทศ 25%  กองทุนหุ้นไทย และกองทุนสินทรัพย์ทางเลือกอย่างละ 5 % และ สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้มากที่สุด แนะนำลงทุนกองทุนหุ้นต่างประเทศ 80% กองทุนหุ้นไทย และกองทุนสินทรัพย์ทางเลือกอย่างละ 10 %”  นายบดินทร์ กล่าว

Back to top button