![](https://media.kaohoon.com/wp-content/uploads/2024/11/SET_2024-11-25_Asadej-Kongsiri.jpg)
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอนัดจับเข่าคุยคลัง ระดมแผนกระตุ้นหุ้นไทย
ตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมเข้าหารือกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว พลิกฟื้นตลาดหุ้นไทย ด้าน “ชวินดา หาญรัตนกูล” นายกสมาคมบลจ. ย้ำ แรงขาย LTF เริ่มลดลง หลังจากต้นปี 68 ขายออกสูงกว่าปกติถึง 4 เท่า ส่วนผู้จัดการกองทุนมองแรงกดหุ้นไทย หลัก ๆ มาจากฟันด์โฟลว์ เพื่อลดความเสี่ยงจากนโยบายของ “ทรัมป์”
นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมหารือกระทรวงการคลัง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เพื่อหาแนวทางกระตุ้นตลาดทุน หลังตลาดหุ้นมีความผันผวน
ส่วนการที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สะท้อนว่ากำลังเข้าสู่วิกฤตหรือไม่นั้น ตนเองไม่แน่ใจว่าจะเรียกว่าวิกฤตได้หรือไม่ เพราะมีหลายปัจจัยที่คาดไม่ถึง ซึ่งการที่หุ้นลงนั้นถือว่าไม่ดีอยู่แล้ว คงไม่มีใครชอบ แต่ในส่วนของตลาดหุ้นเอง อยากให้มองปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก หากสร้างพื้นฐานให้แข็งแกร่ง ก็มีโอกาสเติบโตได้ และจะเป็นประโยชน์ต่อตลาดทุนโดยรวม
“ยอมรับว่าตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันมีความผันผวน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา และอยู่ระหว่างการพูดคุยกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเตรียมหารือกับกระทรวงการคลัง ว่าจะกระตุ้นตลาดหุ้นไทยให้กลับมาได้อย่างไร ทั้งแผนระยะสั้น กลาง และระยะยาว ซึ่งในส่วนมาตรการระยะสั้นที่จะเข้ามาช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทยจะออกมาเมื่อใดนั้น ยังไม่สามารถตอบได้ แต่จะรีบดำเนินการให้เร็วที่สุด” นายอัสสเดช กล่าว
นายอัสสเดช กล่าวอีกว่า กรณีที่กระทรวงการคลังได้ให้ความสนใจในเรื่องกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) นั้น ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแนวทางอะไรบ้าง ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างการวิเคราะห์และหารือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ส่วนกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG) มีเม็ดเงินเข้าลงทุนจำนวนมากในช่วงปลายปี 2567 แต่เป็นการเลือกลงทุนใน “ตราสารหนี้ ESG” มากกว่า ส่วนการลงทุนในหุ้น ESG ยังมีไม่มากนัก ดังนั้นจะมีการหารือเพิ่มเติมเพื่อผลักดันให้นักลงทุนเข้าลงทุนในหุ้น ESG ไทยมากขึ้น
นอกจากนี้ โครงการ Jump+ (การผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนไทยมีการเติบโตของกำไรและน่าสนใจสำหรับการลงทุนมากขึ้น) ที่ต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทจดทะเบียน โดยทางตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังอยู่ระหว่างการวางแผนเพื่อให้โครงการนี้ดึงดูดนักลงทุนมากขึ้น ส่วนรายละเอียดต้องติดตามกันต่อไป
ด้านนายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลท. กล่าวว่า การปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นไทยนั้นได้รับแรงกดดันจากเซนติเมนต์ต่างประเทศและแรงขายจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) แต่ในสภาพตลาดเช่นนี้ยังมีหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี ซึ่งมีราคาซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าตามปัจจัยพื้นฐาน (Under Value) และมีแนวโน้มการซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) หลังจากที่บางบริษัทเห็นว่าราคาหุ้นไม่สะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานของบริษัท”
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องการสร้างเรื่องราวที่ดีเพื่อให้อยู่ใน “เรดาร์” ของนักลงทุนต่างชาติ เช่น โครงการ Jump+ ที่จะช่วยทำให้มีหุ้นไทยดี ๆ เข้ามาเติมในตลาด โดยตั้งแต่ต้นปี 2568 ที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงต่อเนื่อง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่เงินลงทุนกระจุกตัวอยู่ในหุ้น AI เพียงไม่กี่หุ้น มีโอกาสที่จะเกิด “การปรับฐานครั้งใหญ่”
อีกทั้งความไม่แน่นอนเชิงนโยบาย มีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจต้องปรับมาใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ฟันด์โฟลว์เคลื่อนย้ายออกจากสหรัฐฯ กลับมายังตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) รวมถึงตลาดหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจจากการที่เป็นตลาดที่มีความผันผวนต่ำ โดยพิจารณาจากค่าความผันผวน ณ สิ้นวัน (End of day volatility) ของตลาดหุ้นไทย
สาเหตุหนึ่งมาจากการที่ตลาดหุ้นไทยมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยค่าเฉลี่ยย้อนหลังตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 3.14% ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ที่มีลักษณะปลอดภัย (Defensive Stock)
แอลทีเอฟเริ่มสะเด็ดน้ำ
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการกองทุน (AIMC) เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นว่า ภาพรวมการขายกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) ล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณในทิศทางที่ดีขึ้น โดยการขายเริ่มชะลอตัวลง และจนถึงขณะนี้ (ตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค. – 10 ก.พ. 2568) มียอดขายกองทุน LTF รวมประมาณ 20,000 ล้านบาท ส่งผลให้เงินลงทุนที่ครบกำหนดไถ่ถอนในปีนี้ล่าสุดเหลือไม่ถึง 200,000 ล้านบาท
“ปกติแล้วในเดือนมกราคมของทุกปีจะมีแรงขาย LTF เข้ามาอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าในเดือนมกราคมปีนี้ มีแรงขายสูงเป็นพิเศษ หรือเกือบ 4 เท่าของแรงขายปกติที่เกิดขึ้นในเดือนมกราคม แต่ขณะนี้แรงขายเริ่มอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว”
ขณะเดียวกัน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ปรับตัวลงต่อเนื่องในช่วงนี้ ถือเป็นจังหวะที่ดีของนักลงทุนสถาบันในการเข้าไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับพอร์ตการลงทุน โดยนักลงทุนสถาบัน เช่น กองทุนรวมต่าง ๆ มองว่าตลาดหุ้นไทยยังมีหลักทรัพย์หลายกลุ่มและหลายหุ้นที่สามารถสร้างกำไรได้ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มที่มีการจ่ายเงินปันผลสูง เมื่อเทียบกับเงินฝากในขณะนี้ เช่น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีศักยภาพที่ดี
“นักลงทุนสถาบันยืนยันว่า พร้อมเข้าลงทุนในช่วงที่ดัชนีปรับตัวลงมา เพื่อรอให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะที่สมเหตุสมผล ดัชนีหุ้นไทยก็จะดีดตัวกลับมาเติบโตได้ ขณะที่มูลค่าทางบัญชี (Book Value) ของหุ้นไทยอยู่ในระดับต่ำมาก ๆ” นางชวินดา กล่าว
ด้านนายบดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมหุ้นไทยที่ปรับตัวลงในขณะนี้ ไม่ได้เกินจากแรงขายกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ขณะที่แรงขาย LTF ได้ชะลอตัวลงแล้ว ส่วนสาเหตุที่หุ้นไทยยังปรับลง เกิดจากนักลงทุน (ต่างชาติ) มองปัจจัยความเสี่ยงนโยบายทรัมป์ 2.0 เป็นหลัก ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังขายหุ้นไทย และยังไม่เห็นสัญญาณของการกลับเข้ามา
ทั้งนี้ นายบดินทร์ กล่าวย้ำว่า บรรดากองทุนต่างยังคงรอให้ LTF กลับมา เพื่อมาช่วยประคองตลาดหุ้น ขณะที่ บลจ.อีสท์สปริง มองดัชนีหุ้นไทยปีนี้เลวร้ายสุดที่ระดับ 1,270 จุด ส่วนกรณีดีสุดให้กรอบ 1,350-1,450 จุด
ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (KS) ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547 กระแสเงินทุนไหลเข้าสู่กองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) ได้ช่วยสนับสนุนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ แต่หลังจาก LTF สิ้นสุดลงในปี 2562 โดยมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) อยู่ที่ 4.06 แสนล้านบาท ดัชนีจึงได้เคลื่อนไหวแกว่งตัวออกข้าง เนื่องจากแรงไถ่ถอนที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน ม.ค. 2568 มูลค่า AUM ของ LTF ลดลงเหลือ 1.88 แสนล้านบาท โดยได้รับผลจากดัชนีฯ ลดลงและมีการไถ่ถอนเพิ่มขึ้น โดยเดือน ม.ค.2568 มีการไถ่ถอนอยู่ที่ 1.96 หมื่นล้านบาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตของเดือนม.ค.ที่ 5 – 8 พันล้านบาท กองทุน LTF ขนาดใหญ่ 10 อันดับแรก คิดเป็น 63% ของ AUM ลดลง 14%
สำหรับ 5 ทางเลือกสำหรับ LTF บล.กสิกรไทย แนะนำว่า 1. เมื่อครบกำหนด ถือเพื่อการเติบโตระยะยาว โดย คงการลงทุนเพื่อศักยภาพในการเติบโตระยะยาว 2.ขายเพื่อตัดขาดทุน โดยผลการขาดทุน 5–10% ได้ถูกชดเชยด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษีไปแล้ว 3.รับความเสี่ยงได้ต่ำ เปลี่ยนไปลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ 4.รับความเสี่ยงได้สูง ไถ่ถอนบางส่วนเพื่อนำไปกระจายการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ และ 5.นำเงินกลับไปลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษี หากยังคงต้องเสียภาษีอยู่
ขณะที่ บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2567 กองทุนหุ้นระยะยาว ( LTF) ทั้งอุตสาหกรรมมีมูลค่าเกือบ 2.2 แสนล้านบาท หากนับในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีเงินไหลเข้าออกสุทธิ ดังนี้ ปี 2563 ไหลออก 10,710 ล้านบาท ปี 2564 ไหลออก 19,410 ล้านบาท ปี 2565 ไหลออก 31,238 ล้านบาท ปี 2566 ไหลออก 22,854 ล้านบาท ปี 2567 ไหลออก 37,697 ล้านบาท ส่วนต้นปี 2568 มีเงินไหลออกสุทธิมากกว่า 18,000 ล้านบาท