
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ชี้ “เหล็กไทย” กระทบนโยบายภาษีทรัมป์ 33.3%
นักวิเคราะห์ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินผลจากนโยบายภาษีขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม 25% ของ “ทรัมป์” ส่งผลต่อเหล็กไทยถึง 33.3%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (14 ก.พ.68) นายกณิศ อ่ำสกุล นักวิเคราะห์ Krungthai COMPASS ประเมินเบื้องต้น (Initial Assessment) หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นภาษีนำเข้า เหล็กและอะลูมิเนียม ในอัตรา 25% โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค.68 ว่า การขึ้นภาษีดังกล่าว จะส่ง “ผลกระทบทางตรง” คือความเสี่ยงที่จะส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ลดลงทั้งต่อผลิตภัณฑ์เหล็กและอะลูมิเนียม
“อย่างไรก็ดี มองว่าเหล็กอาจได้รับผลกระทบมากกว่า เนื่องจากไทยมีสัดส่วนการส่งออกเหล็กไปสหรัฐฯ ถึง 33.3% สูงกว่าอะลูมิเนียมที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ราว 13.8%” นักวิเคราะห์ ระบุ
นายกนิศ ยังระบุด้วยว่า นอกจากนี้ยังต้องจับตา “ผลกระทบทางอ้อม” จากแนวโน้มการทะลักเข้ามาของเหล็กและอะลูมิเนียมจากจีน, ไต้หวัน และเวียดนาม ที่อาจ “ดัมพ์ราคา” เพื่อระบายสินค้าในตลาด Non-US ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียส่วนแบ่งตลาดทั้งในไทย รวมถึงตลาดส่งออกอื่น ๆ ของผู้ประกอบการไทยได้
ซึ่งภาวะดังกล่าวจะกดดันให้อัตราการใช้กำลังการผลิต (CAP-U) ของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในกลุ่มเหล็กให้อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง และเพิ่มความเสี่ยงด้าน Stock Loss จากแนวโน้มราคาเหล็กที่คาดว่า จะอยู่ในขาลง หากมีการดัมพ์ราคาเพื่อระบายสินค้าของผู้ส่งออกจากประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีโอกาสจะซ้ำเติมให้ผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการไทยแย่ลงจากสถานการณ์ในปัจจุบัน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 11 ก.พ.68 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องการศึกษามาตรการทางการค้ากับประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องด้วยสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ภายหลังจากที่ทางรัฐบาลได้แต่งตั้ง คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 ม.ค.68 เพื่อดำเนินการศึกษาวางแผน และรับมือนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศของไทยกับสหรัฐอเมริกาในภาพรวม เพื่อให้มีทิศทางที่ชัดเจน รวมทั้งเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการค้าและการลงทุนของประเทศ โดยมี นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะทำงาน รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ (BOI), กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ ร่วมเป็นคณะทำงานด้วย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ขอให้คณะทำงานดังกล่าว รวมถึงกระทรวงกลาโหม เร่งศึกษาสรุปข้อมูล ทั้งผลดีผลเสีย และมาตรการรับมือเจรจาต่อรองทางด้านการค้าการลงทุน เพื่อนำมาเสนอต่อ ครม. ในครั้งต่อไป คาดว่าจะเป็นการประชุม ครม. วันที่ 18 ก.พ. ที่จะถึงนี้