
ผู้นำฝ่ายค้าน จี้นายกฯ “ยุบสภา” ประชุมแก้รัฐธรรมนูญล่ม สะท้อนปัญหา “เพื่อไทย-ภูมิใจไทย”
หัวหน้าพรรคประชาชน จี้นายกฯ “ยุบสภา” ประชุมรัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญล่ม 2 วันติด สะท้อนปัญหา “เพื่อไทย-ภูมิใจไทย” ไม่ใช่เพราะข้อกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (14 ก.พ.68) พรรคประชาชน นำโดย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อม นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ เปิดแถลงข่าวภายหลังที่ประชุมร่วมของรัฐสภาไม่สามารถดำเนินการประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อได้ เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ ซึ่งเกิดขึ้น 2 วันติดต่อกัน
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า พรรคประชาชนรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้แทบจะเป็นด่านสุดท้ายที่จะพอทำให้มีโอกาสได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทันก่อนการเลือกตั้งปี 2570 พรรคประชาชนเชื่อว่า มีกระบวนการที่เดินอย่างตรงไปตรงมาได้ และไม่เชื่อว่าการเดินอ้อมแบบที่เป็นอยู่ จะสามารถนำไปสู่ปลายทางที่ประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้
ระหว่างการพักการประชุมเมื่อเช้าวิปทั้งสองฝ่ายได้มาหารือกัน แต่ปรากฏว่าหลังการหารือวิปร่วมกัน ก็พบว่าฝั่งรัฐบาลยังคงเดินหน้าให้นับองค์ประชุมต่อจนนำมาสู่การที่สภาฯ ล่ม แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะพยายามเดินอ้อมอย่างไรก็ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ทางออกคือการเดินหน้าตรงๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ประเทศไทยในปัจจุบันยังขาด 3 เรื่องหลัก ที่ต้องอาศัยการเดินหน้าอย่างจริงใจและตรงไปตรงมาต่อประชาชน
คือ 1. การขาดเจตจำนงทางการเมือง ถ้าก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยได้พูดคุยหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างจริงจังและเต็มที่ ร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกเสนอเข้ามาก็ควรจะต้องถูกเสนอเข้ามาเป็นร่างของคณะรัฐมนตรี แต่กลับเป็นร่างของพรรคเพื่อไทยเพียงพรรคเดียว ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง สอดคล้องกับสิ่งที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีแทบจะไม่เคยหารือเรื่องนี้กับพรรคภูมิใจไทย เพื่อผลักดันให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นร่างของพรรคร่วมรัฐบาลเลย สะท้อนให้เห็นการขาดเจตจำนงทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยที่ไม่ได้มีความจริงใจในการผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่ และการที่บอกว่าต้องเดินอ้อมเพื่อทำให้สภาฯ ล่ม ให้ญัตตินี้ยังคงค้างอยู่ในสภาฯ แต่ตนเชื่อว่าประชาชนได้เห็นแล้วว่าเป็นเพียงข้ออ้างเพื่ออธิบายสถานการณ์เฉพาะหน้าเท่านั้น
ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวอีกว่า 2.ความเป็นนิติรัฐ สมาชิกรัฐสภาหลายส่วนมีข้อกังวลว่าจะมีการยื่นคำร้องจนมีผลพัวพันทางกฎหมายตามมาทีหลัง และตลอดการประชุมรัฐสภาวันนี้ก็ไม่เปิดโอกาสให้หารือ ทั้งที่เวทีการประชุมรัฐสภาควรเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุด สมาชิกรัฐสภาแทนที่จะยึดถือรัฐธรรมนูญและตีความใช้อำนาจของตัวเองเป็นหลัก กลับไม่ได้เป็นแบบนั้น สุดท้ายจะทำอะไรก็ต้องวิ่งไปถามศาลรัฐธรรมนูญก่อน ยิ่งชี้ให้เห็นว่าระบบนิติรัฐของประเทศไทยมีปัญหา และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้
และ 3. การไม่เคารพเสียงของประชาชน ทั้งที่นโยบายหาเสียงของแทบทุกพรรคการเมืองตอนช่วงเลือกตั้งมีข้อเสนอแบบเดียวกันว่าจะเร่งเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตลอดจนเป็นนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ถ้านายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำรัฐบาลมีความจริงจังเดินหน้าเรื่องนี้
“นายกรัฐมนตรีเป็นคนที่ถืออำนาจสูงสุดอยู่แล้วในการยุบสภา สามารถเจรจาพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลและแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจน ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยเคารพเสียงของประชาชน ถ้าไม่สามารถเดินหน้าผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลแถลงไว้ต่อรัฐสภาได้ นายกรัฐมนตรีก็มีอำนาจในการยุบสภาเพื่อคืนสิทธิให้ประชาชนได้” นายณัฐพงษ์ กล่าว
ขณะที่ นายพริษฐ์ กล่าวเสริมว่า ตนเข้าใจดีว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จได้นั้น มีบทบัญญัติที่เขียนไว้ชัดเจนว่าต้องได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอทั้งจาก สส. และ 1 ใน 3 ของ สว. ซึ่งพรรคเพื่อไทยให้เหตุผลความกังวลใจว่า หากเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้แล้วมีการลงมติก็อาจจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอจากพรรคภูมิใจไทยและ สว. โดยให้เหตุผลว่า ที่พรรคภูมิใจไทยและ สว. มีแนวโน้มไม่ลงมติเห็นชอบเพราะข้อกังวลทางกฎหมาย แต่ตนอยากชวนประชาชนตั้งคำถามว่า อุปสรรคนี้เป็นเพราะข้อกังวลทางกฎหมายจริง ๆ หรือเพราะความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล
หากเป็นข้อกังวลทางกฎหมาย พรรคประชาชนยืนยันว่า สิ่งที่รัฐสภาดำเนินการอยู่ไม่ได้ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 และหากวันนี้ สส. พรรคเพื่อไทยร่วมเป็นองค์ประชุมให้การประชุมดำเนินต่อไปได้ก็เป็นโอกาสอันดีที่ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนจะได้ร่วมชี้แจงกับสังคมและสมาชิกรัฐสภา โดยที่ยังไม่ถึงขั้นต้องลงมติและเสี่ยงจะทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไป
นอกจากนี้พรรคประชาชน ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าหากมีการส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญจริงก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า ฝ่ายที่ส่งไปจะได้คำตอบที่ตัวเองต้องการ เพราะเคยมีการส่งเรื่องที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันไปแล้วถึง 2 ครั้ง คือในปี 2564 และปี 2567 โดยในปี 2567 ได้คำตอบกลับมาว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับไว้วินิจฉัย เพราะได้วินิจฉัยในปี 2564 ไว้ชัดเจนไปแล้ว