![](https://media.kaohoon.com/wp-content/uploads/2025/01/TOP.jpg)
TOP เปิดงบปี 67 กำไรหมื่นล้าน บอร์ดไฟเขียวปันผล 0.70 บาท ขึ้น XD 27 ก.พ.นี้
TOP รายงานงบปี 67 กำไรแตะ 9.9 พันล้านบาท ลดลง 49% จากปีก่อนมีกำไร 1.9 หมื่นล้านบาท เซ่นค่าการกลั่นลดลงและราคาขายผลิตภัณฑ์ปรับตัวลดลง บอร์ดไฟเขียวปันผลอีก 0.70 บาท เตรียมขึ้น XD 27 ก.พ.นี้ กำหนดจ่าย 28 เม.ย.68
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP รายงานผลประกอบการปี 67 มีกำไรสุทธิลดลง ดังนี้
สำหรับ TOP รายงานผลประกอบการปี 67 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 9,958.63 ล้านบาท ลดลง 48.78% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 19,443.17 ล้านบาท สาเหตุจากมีรายได้จากการขาย 486,610 ล้านบาท ลดลง 5,445 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากอัตราการใช้กำลังการกลั่นที่ลดลงและราคาขายผลิตภัณฑ์ปรับตัวลดลง
ส่วนกำไรขั้นต้นจากการกลั่น (ไม่รวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมัน) อยู่ที่ 5.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลง 3.2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากการลดลงของส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซิน น้ำมันอากาศยาน และน้ำมันดีเซล เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันดิบดูไบ นอกจากนี้ บริษัทมีผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 5,913 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,105 ล้านบาท ส่งผลให้ EBITDA ลดลง 14,057 ล้านบาท เหลือ 12,232 ล้านบาท
แม้ว่าจะมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ 25 ล้านบาท แต่เมื่อหักค่าเสื่อมราคา ต้นทุนทางการเงิน และค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้แล้ว ไทยออยล์มีกำไรสุทธิ 3,443 ล้านบาท ลดลง 11,164 ล้านบาทจากปีก่อน อย่างไรก็ตาม หากรวมเงินปันผลรับในปี 2567 ไทยออยล์จะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 9,886 ล้านบาท
ขณะที่ TPX มีรายได้จากการขาย 56,448 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,441 ล้านบาท จากปริมาณการขายที่สูงขึ้น และส่วนต่างราคาสารเบนซีนกับน้ำมันเบนซิน 95 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ Product-to-feed Margin เพิ่มขึ้น 17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน
เมื่อรวมกำไรจากเครื่องมือทางการเงินสุทธิ 138 ล้านบาท ส่งผลให้ TPX มีกำไร EBITDA อยู่ที่ 2,939 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,655 ล้านบาทจากปีก่อน อย่างไรก็ตาม บริษัทมีขาดทุนจากการวัดมูลค่าทางการเงิน 18 ล้านบาท และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ 25 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 1,769 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,368 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อน
สำหรับ LABIX อัตรากำไรขั้นต้นลดลงจากอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนตัวลง ส่งผลให้ผลการดำเนินงานปรับตัวลดลง
ด้าน TOP SPP รายได้ลดลงจากราคาขายเฉลี่ยที่ปรับลดลงตามราคาก๊าซธรรมชาติ แม้ว่าปริมาณจำหน่ายและอัตราการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าจะปรับตัวดีขึ้นจากการดำเนินงานเต็มปีแรกของโครงการขยายกำลังการผลิต อย่างไรก็ตาม รายได้ที่ลดลงส่งผลให้ EBITDA และกำไรสุทธิปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ บริษัทมีการรับรู้เงินปันผลจากการถือหุ้นใน GPSC มากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน
นอกจากนี้ TII มีขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้นจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดลงและการหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ตามแผนของ CAP
ขณะที่ TET รายได้ลดลงจากปริมาณการขายที่ลดลง และมีการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือมากขึ้น ส่งผลให้ EBITDA ลดลงและขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยรวมแล้ว ปี 2567 ไทยออยล์และบริษัทย่อยยังคงเผชิญกับความท้าทายจากราคาขายที่ปรับตัวลดลง แม้ว่าบางหน่วยธุรกิจจะมีการเติบโต แต่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อผลกำไรโดยรวมของบริษัท
พร้อมกันนี้ บริษัทเตรียมปันผลจากงวดดำเนินงานผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทได้มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในอัตราหุ้นละ 1.20 บาทคิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 2,681 ล้านบาท ซึ่งได้จ่ายให้กับผู้ถือหันไปแล้ว เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2567
ดังนั้นคงเหลือเงินปันผลที่ จะจ่ายสำหรับผลประกอบการ 6 เดือนหลังของปี 67 อีกในอัตราหุ้นละ 0.70 บาทคิดเป็นเงินประมาณ 1,564 ล้านบาท โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 27 ก.พ. 68 วันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผลในวันที่ 28 ก.พ.68 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 28 เม.ย.68
นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ TOP กล่าวว่า ในไตรมาส 4/2567 กลุ่มไทยออยล์มีกำไรสุทธิ 2,767 ล้านบาทปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยได้รับแรงหนุนจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะส่วนต่างราคาน้ำมันอากาศยานและน้ำมันดีเซลกับราคาน้ำมันดิบดูไบจากกิจกรรมการท่องเที่ยวที่สูงขึ้นในช่วงสิ้นปี ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันสำหรับผลิตความร้อนในช่วงฤดูหนาว
แม้ว่า Crude Premium จะปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้จากความกังวลต่อความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางก็ตาม สำหรับกำไรขั้นต้นจากธุรกิจอะโรเมติกส์ปรับลดลงจากส่วนต่างราคาสารพาราไซลีนกับราคาน้ำมันเบนซิน 95 ที่ลดลง เนื่องจากอุปสงค์เสื้อผ้าและสิ่งทอไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ประกอบกับกำไรของธุรกิจปลายน้ำ เช่น สารพีทีเอ ที่ยังถูกกดดันรวมถึงส่วนต่างราคาสารเบนซีนกับราคาน้ำมันเบนซิน 95 ที่ปรับลดลงจากปริมาณสารเบนซีนคงคลังของจีนที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี ตลอดจนการกลับมาดำเนินการผลิตของโรงผลิตสารเบนซีนหลังปิดซ่อมบำรุงในไตรมาสก่อนหน้า
ขณะที่ กำไรขั้นต้นจากธุรกิจผลิตสารตั้งต้นสำหรับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนอุปสงค์ที่ฟื้นตัวหลังสิ้นสุดฤดูมรสุม เช่นเดียวกับ กำไรขั้นต้นจากธุรกิจผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานที่ปรับเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ที่ฟื้นตัวหลังผ่านฤดูฝนและอุปทานที่ตึงตัวอย่างต่อเนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานกลุ่มที่ 1 ในเกาหลีใต้ ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 4/2567 ปรับตัวลดลงจากไตรมาส 3/2567 เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันลดลงตามเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์ขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน 2,010 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมปี 2567 กลุ่มไทยออยล์มีรายได้จากการขายที่ 455,857 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 9,959 ล้านบาท กำไรลดลงจากปีก่อนหน้า สาเหตุหลักจากกำไรขั้นต้นจากการกลั่นปรับลดเนื่องจากส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซิน น้ำมันอากาศยาน น้ำมันดีเซลกับราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวลดลง จากอุปทานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจาก โรงกลั่นใหม่เริ่มดำเนินการ ขณะที่ด้านราคาน้ำมันดิบในปี 2567 เทียบกับปี 2566 ปรับลดลง จากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์รับรู้ขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 5,913 ล้านบาท
ทั้งนี้ กลุ่มไทยออยล์ยังคงให้ความสำคัญกับการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี ตามหลักการ ESG (Environment, Social, and Governance) อย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากการได้รับรางวัลด้านความยั่งยืน จำนวน 9 รางวัล และได้รับการรับรองเป็นสมาชิก DJSI ต่อเนื่องเป็นปีที่ 12
นายบัณฑิตฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับภาพรวมธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 คาดว่าตลาดน้ำมันจะอ่อนตัวลงเนื่องจากอุปทานน้ำมันสำเร็จรูปมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากการทยอยเปิดดำเนินการของโรงกลั่นขนาดใหญ่ในจีน เม็กซิโก ไนจีเรีย และโอมาน ถึงแม้ว่าตลาดจะได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่ลดลงจากสภาพอากาศหนาวเย็นในสหรัฐฯ ส่งผลให้โรงกลั่นหลายแห่งต้องหยุดดำเนินการ ขณะที่ธุรกิจอะโรเมติกส์ มีแนวโน้มฟื้นตัวโดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ของพาราไซลีนที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากคำสั่งซื้อโพลิเอสเตอร์ในจีนหลังเทศกาลตรุษจีนมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงความต้องการขวดบรรจุภัณฑ์ (PET) ที่จะปรับสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อน อย่างไรก็ตาม ตลาดน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานมีแนวโน้มอ่อนตัวลง จากแรงกดดันของอุปทานใหม่ที่เข้าสู่ตลาดจากโรงผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 ในอินเดีย”
ไทยออยล์ยังคงติดตามสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงแสวงหาโอกาสสร้างรายได้เพื่อให้มีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันโครงการพลังงานสะอาดให้เดินหน้าต่อไปให้ดีที่สุด ตลอดจนแสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ เมกะเทรนด์เพื่อมุ่งเติบโตเป็นองค์กร 100 ปี อย่างมั่นคง ภายใต้วิสัยทัศน์ สร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน”