![](https://media.kaohoon.com/wp-content/uploads/2024/03/KBANK-BAHT.jpg)
KBANK ชี้กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 33-34 บ. จับตาจีดีพีไทย-นโยบายเศรษฐกิจสหรัฐ
ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) คาดการณ์กรอบค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้า (17-21 ก.พ.) จะเคลื่อนไหวในช่วง 33.00-34.00 บาท/ดอลลาร์ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าตามทิศทางของสกุลเงินภูมิภาค และได้รับผลกระทบจากข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ พร้อมจับตาปัจจัยสำคัญ GDP ไทยและนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK มองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า (17-21 ก.พ.) ที่ 33.00-34.00 บาท/ดอลลาร์ จากปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ 14 ก.พ. ที่ 33.63 บาท/ดอลลาร์
สำหรับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าลงตามทิศทางของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค ขณะที่ เงินดอลลาร์มีแรงหนุนจากข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งทำให้ตลาดประเมินว่า จังหวะการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดไม่น่าจะเกิดขึ้นเร็ว
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังแข็งค่าขึ้นตามสัญญาณสะท้อนความตึงเครียดของสงครามการค้า หลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า จะมีการประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากทุกประเทศ และจะมีการประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับประเทศที่มีการค้าไม่เป็นธรรมกับสหรัฐฯ
โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์ที่ระดับ 34.25 บาท/ดอลลาร์ ก่อนจะพลิกแข็งค่ากลับมาตามราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ขณะที่เงินดอลลาร์ขาดแรงหนุนเนื่องจากตลาดประเมินว่า มาตรการตอบโต้ทางภาษีของสหรัฐฯ อาจจะยังไม่เริ่มในเร็ว ๆ นี้
ส่วนปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์หน้า ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2567 ของไทย สัญญาณเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดและสถานการเงินทุนต่างชาติ
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนก.พ. ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและยอดขายบ้านมือสองเดือนม.ค. รวมถึงตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 28-29 ม.ค.
นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามการประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน ผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย และธนาคารกลางอินโดนีเซีย ดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนก.พ. ของญี่ปุ่น ยูโรโซน และอังกฤษด้วย