
มหิดลตั้งกองทุนพันล้าน สร้าง “ยาที่มีชีวิต” รักษามะเร็งด้วยเซลล์บำบัด
มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัวกองทุนมูลนิธิมหิดลเพื่อความยั่งยืน ลุยระดมทุน 1,000 ล้านบาท สร้างโรงงาน “ยาที่มีชีวิต” หรือ MU-Bio Plant พลิกโฉมการรักษามะเร็งจากเซลล์บำบัดแห่งแรกในไทย และเป็นโอกาสให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียมด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำลง
ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ และกรรมการมูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดลในพระราชูปถัมภ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดตั้ง ‘กองทุนมูลนิธิมหิดลเพื่อความยั่งยืน’ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและต่อยอดงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยและสังคมโลก
ภายใต้จุดแข็งของมหาวิทยาลัยมหิดลที่เริ่มจากความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ขยายกว้างสู่สหสาขากว่า 37 คณะ ประกอบกับการที่มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั้ง 11 แห่งในสังกัด
ดังนั้นการผสานความร่วมมือ (Synergy) จะเป็นพลังที่เข้มแข็งอย่างมากและเป็นหัวหอกสำคัญที่จะขับเคลื่อนจาก Academic Impact สู่การสร้างผลกระทบ Real World Impact ในด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแบบองค์รวม (Holistic Well-being) ให้ได้ตามเป้าหมายของ ศาสตราจารย์นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลคนปัจจุบัน
“การจัดงานสัมมนาครั้งนี้เป็นเหมือนการคิกออฟการระดมทุน เพื่อให้มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถทำโรงงานยาแบบ Cell and Gene Therapy ซึ่งจะเป็นโรงงานยาที่มีชีวิตแห่งแรกของไทย จะเป็น Game Changer ของการรักษามะเร็ง ให้คนไทยสามารถเข้าถึงการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคภัยอันดับ 1 ของไทย ด้วยนวัตกรรมอันทันสมัยในราคาที่ต่ำลง ลดการนำเข้ายาลดลง ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายประเทศ ซึ่งเป็นอนาคตที่สำคัญของวงการแพทย์ไทย” ดร.สมศักดิ์กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิตา รักธรรม รองอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและภาพลักษณ์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลเริ่มเดินหน้าต่อยอดความสำเร็จบนแนวทางการนำความรู้มาประยุกต์ใช้ เพื่อประโยชน์กับสังคมในระดับประเทศและระดับโลก โดยการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความท้าทายทางสุขภาพในปัจจุบันและอนาคต
ที่สำคัญคือ พันธกิจในการสนับสนุนนักวิจัยและบุคลากรทางการแพทย์ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อป้องกัน รักษาโรค ส่งเสริมสุขภาพ ขยายการเข้าถึงการรักษาและยกระดับชีวิตคนไทย ครอบคลุมการพัฒนายา โครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาเป็นก้าวแรกของการสร้างอนาคตที่จะพลิกโฉมงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ เพื่ออนาคตคนไทยทุกคนได้เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและเท่าเทียม เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแบบองค์รวม (Holistic Well-being)
ทั้งนี้การที่มหาวิทยาลัยมหิดลตั้งเป้าที่จะทำให้เกิด “โรงงานยาที่มีชีวิต หรือ MU-Bio Plant” โดยสร้างยาจากเซลล์ที่มีชีวิต (Living Drug) เป็นกลุ่มยา ATMP ให้เกิดขึ้นเป็นโรงงานแรกของประเทศไทย โดยหวังว่าจะผลิตยาที่มีชีวิต เพื่อจะนำมารักษาโรคมะเร็งที่มีนวัตกรรมอันทันสมัยให้เกิดได้เร็วขึ้น และเป็นโอกาสที่จะให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียมด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำลง
ประเทศไทยตระหนักดีว่า ต้องการนวัตกรรมในการที่จะสามารถนำประเทศก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลาง เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่เติบโตและยั่งยืน อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมไม่ได้เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย และนวัตกรรมที่สร้างออกมาก็ไม่ได้รับความสำเร็จได้โดยง่าย
ด้านProf. Steven Eppinger, Massachusetts Institute of Technology Sloan School of Management (ศจ.ดร.สตีเวน เอปพิงเกอร์) ชี้ให้เห็นว่า นวัตกรรมจะสำเร็จได้นั้นต้องตอบโจทย์ครบทั้ง 3 ข้อคือ ตอบสนองความต้องการของคน (People Desirable) โซลูชั่นนั้นต้องใช้ได้จริง (Solution Feasible) และต้องนำมาต่อยอดในเชิงธุรกิจได้ (Business Viable)
สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการฟังและเข้าใจความต้องการของคนเท่านั้น จึงได้นำเสนอ แนวคิด Systematic Innovation through Human-Centered Design ซึ่งเป็นกระบวนการ Design Thinking ที่ให้ความสำคัญกับคน ไม่ว่าจะผ่านการฟัง สังเกต แล้วนำไปผ่านกระบวนการคิด ทดสอบแนวคิด รับฟังความคิดเห็น เพื่อนำมาปรับเป็นนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการ เป็นโซลูชั่นที่ดีขึ้น และตอบโจทย์เชิงธุรกิจ พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงโซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ไม่จำเป็นต้องเป็นของใหม่ แต่ต้องเป็นสิ่งที่ดีกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม ต่อให้มีเทคโนโลยีมาช่วย สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือการคิด กว่าจะได้นวัตกรรมก็ต้องผ่านการคิดมาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง และกว่านวัตกรรมนั้นจะสำเร็จใช้ได้จริง ก็ต้องผ่านการทดลองและล้มเหลวอีกมากมาย
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดลมีการผลักดันเรื่องงานวิจัยยาจำนวนมาก เพื่อยกระดับการรักษาและดูแลสุขภาพ แต่ยังมีข้อจำกัดในการนำเข้าสู่ช่วง Clinical Trial ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะสามารถคิดค้นผลิตยา เป็นของไทยเอง เพราะการวิจัยทางคลินิกต้องอาศัยความพร้อมและงบประมาณจำนวนมาก
รศ.ดร.ยศชนันกล่าวต่อว่า วันนี้มหาวิทยาลัยมหิดลมีแผนงานจะจัดตั้งโรงงานยาที่มีชีวิต หรือ MU-Bio Plant โดยสร้างยาจากเซลล์ที่มีชีวิต (Living Drug) เป็นกลุ่มยา ATMP โดยแนวทางดำเนินงานจะดัดแปลงโรงงานยาเดิมที่มหาวิทยาลัยลงทุนไปแล้วกว่า 1,000 ล้านบาทในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อต่อยอดสู่โรงงานยาที่มีชีวิตแห่งแรกในไทย ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณอีกราว 1,000 ล้านบาท
“การลงทุนด้านนวัตกรรมอย่างที่เราทำเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา โอกาสการได้รับทุนสนับสนุนจาก VC ทั่วไปเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก ในระดับโลกนวัตกรรมใหม่ ๆ ส่วนใหญ่ก็ใช้แนวทางนี้ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องใช้วิธีระดมทุนเพื่อสนับสนุนภารกิจ” รศ.ดร.ยศชนันกล่าว
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดลมีความก้าวหน้าในการรักษามะเร็งด้วยเซลล์บำบัดแทนเคมีบำบัด โดยเฉพาะนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยาที่ใช้รักษามะเร็งด้วยเซลล์และยีน (CAR T-Cell) และ mRNA ที่มีความก้าวหน้าเทียบเท่าการรักษามะเร็งในระดับโลก ตลอดจนมีความพร้อมที่จะยกระดับและต่อยอดงานวิจัยนวัตกรรมด้านการรักษามะเร็งและโรคร้ายแรง
ศาสตราจารย์ นพ.สุรเดช หงส์อิง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ขยายความเรื่องนี้ว่า การวิจัยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยาที่ใช้รักษามะเร็งด้วยเซลล์และยีน (CAR T-Cell) เป็นหนึ่งในผลงานวิจัยที่ทีมแพทย์และอาจารย์นักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลได้เริ่มวิจัยมาตั้งแต่ปี 2567 จนสำเร็จ และสามารถนำไปใช้ได้จริงในผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่
โดยเริ่มโครงการนำร่องในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งโรคเลือดมัยอิโลมา และยังนำไปใช้ในการรักษาโรค SLE จึงเพิ่มโอกาสให้คนไทยเข้าถึงการรักษาอันล้ำหน้านี้ เพราะต้นทุนต่ำลงมาก นับเป็นความภาคภูมิใจ เพราะเป็นผลงานของคนไทย 100% และได้รับการจดสิทธิบัตรครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากนี้ในอนาคตอีก 5-10 ปี ข้างหน้า การรักษามะเร็งจะใช้ Personalized ซึ่งก้าวล้ำหน้ายิ่งกว่า CAR T-Cell โดยผลงานของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเซลล์ของแต่ละคนมาวิเคราะห์ ตัดต่อพันธุกรรม แล้วฉีด mRNA เข้าไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันของคนไข้รายนั้น ซึ่งมหาวิทยาลัยมีสิทธิบัตร Circular mRNA อยู่ พร้อมที่จะต่อยอดนวัตกรรมการรักษาในแนวเฉพาะบุคคลได้ทันที
ทั้งนี้กองทุน “มูลนิธิมหิดลเพื่อความยั่งยืน” มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นกองทุนใหม่ที่จัดตั้งขึ้น ภายใต้มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและต่อยอดงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยและสังคมโลก
โดยมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความท้าทายทางสุขภาพในปัจจุบันและอนาคต มีพันธกิจในการสนับสนุนนักวิจัยและบุคลากรทางการแพทย์ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อป้องกัน รักษาโรค ส่งเสริมสุขภาพ ขยายการเข้าถึงการรักษาและยกระดับชีวิตคนไทย ครอบคลุมการพัฒนายา โครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์และสาธารณสุข
ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา มีโครงการนำร่อง ได้แก่ โครงการรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดลจงเจตน์ เมธีวิชญ์ โครงการอาคารศูนย์ปฏิบัติเพื่อความเป็นเลิศด้านผลิตภัณฑ์ยาและสมุนไพร (PharmTOP) โครงการระดมทุนเพื่อรักษาโรคมะเร็งด้วยการใช้เซลล์แทนเคมีบำบัด ฯลฯ