
พาณิชย์ถกด่วน! อนุฯ ตลาดข้าว 20 ก.พ.นี้ เคาะมาตรการพยุงราคาข้าวนาปรัง
รมว.พาณิชย์ เรียกประชุม อนุฯ ตลาดข้าว 20 ก.พ.นี้ เร่งเสนอมาตรการพยุงราคาข้าวนาปรังปีการผลิต 2567/68 ก่อนชง “นบข.” อนุมติเร่งช่วยชาวนา หลังราคาข้าวตกต่ำ “อินเดีย” กลับมาส่งออกข้าว ขณะ “อินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์” ชะลอนำเข้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (17 ก.พ.68) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้กรมการค้าภายใน ดำเนินการจัดประชุม คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ ด้านการตลาด เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาข้าวนาปรัง ที่ได้รับผลกระทบด้านราคาข้าวขาวในตลาดโลก ในวันที่ 20 ก.พ.นี้ ก่อนนำเสนอ คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิระ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน
นายพิชัย กล่าวต่อว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการข้าวฯ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ จากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งภาคเอกชน เสนอมาตรการช่วยเหลือชาวนา หลังจากผลกระทบด้านราคาที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 เป็นต้นมา เนื่องจากอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวตามปกติ รวมทั้งอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีแนวโน้มนำเข้าข้าวลดลงจากการเก็บสต๊อกที่เพียงพอแล้ว ทำให้ความต้องการนำเข้าข้าวขาวจากไทยชะลอตัว จึงได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับราคาในปี 2565 ช่วงก่อนที่อินเดียจะงดการส่งออกข้าว
ขณะเดียวกัน ยังสั่งการให้กรมการค้าภายใน ดำเนินการคู่ขนาน จัดตลาดนัดข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/68 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน ปื 2568 โดยกระทรวงพาณิชย์ มีแผนจะจัดตลาดนัดข้าวเปลือกอีก 14 ครั้ง เพื่อดึงราคาข้าวเปลือกให้สูงขึ้น ในพื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัด ประกอบด้วย อ่างทอง, สุรินทร์, สิงห์บุรี, พิษณุโลก, สุโขทัย, พระนครศรีอยุธยา, อุบลราชธานี และนครราชสีมา โดยครั้งที่ 1 จะจัดขึ้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ระหว่างวันที่ 16-20 ก.พ.นี้ ตั้งเป้าว่าโครงการตลาดนัดข้าวเปลือก จะช่วยดันราคาขายข้าวของเกษตรกรให้ปรับเพิ่มขึ้นได้ 100-200 บาทต่อตัน
รมว.พาณิชย์ กล่าวอีกว่า ตลาดนัดข้าวเปลือกเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการแข่งขัน ช่วยให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้น เป็นการเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกรและสร้างอำนาจต่อรองในการกระจายข้าวเปลือกมากขึ้น พร้อมกำชับกรมการค้าภายในและสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ประสานชาวนาในแต่ละพื้นที่ร่วมกันวางแผนกำหนดจุดจัดตลาดนัดข้าวเปลือกให้ตรงกับปริมาณผลผลิตที่ออกและช่วงเวลาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยต้องเร่งดำเนินการในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง เนื่องจากข้าวนาปรังกำลังทยอยออกสู่ตลาด
ด้าน นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า เห็นใจและเข้าใจถึงความเดือดร้อนของเกษตรกร ที่ต้องประสบกับปัญหาเรื่องราคาข้าวเปลือกเจ้าตกต่ำลดลง จากสถานการณ์ตลาด แต่ก็ไม่สบายใจและไม่เห็นด้วยที่มีชาวนาบางส่วนจะมาประท้วงปิดถนนเพื่อกดดันภาครัฐ เพราะจะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ส่วนรวม ยืนยันว่า ทางสมาคมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยวันนี้ สมาคมชาวนาฯ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อให้เร่งหาวิธีแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน พร้อมเสนอให้ช่วยเหลือกรณีภาครัฐออกมาตรการเข้มงวด เรื่องปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากการเผา ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการบริหารจัดการแปลงนาเพิ่มขึ้น ไร่ละประมาณ 500 บาท
สถานการณ์ข้าวเปลือกเจ้านาปรัง ปี 2567/68 คาดว่า จะมีปริมาณรวม 6.53 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้น 1.08 ล้านตันข้าวเปลือก หรือเพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อนที่มีปริมาณอยู่ที่ 5.45 ล้านตันข้าวเปลือก ส่วนผลผลิตเริ่มทยอยออกสู่ตลาดแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ แต่จะออกกระจุกตัวช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2568 ประมาณ 4.42 ล้านตัน หรือ 68%
สำหรับราคาข้าวเปลือกเจ้า ณ วันที่ 14 ก.พ.68 อยู่ที่ 8,300-9,000 บาทต่อตัน เฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 8,650 บาทปรับลดลง เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ตันละ 12,500 บาท หรือลดลงกว่า 30%
ส่วนราคาข้าวชนิดอื่น ๆ ยังคงทรงตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนี้
- ข้าวเปลือกหอมมะลิ เฉลี่ย 16,000 บาทต่อตัน ปรับเพิ่มขึ้นจาก 14,850 บาทต่อตัน หรือเพิ่มขึ้น 8%
- ข้าวเปลือกเหนียว เฉลี่ย 13,250 บาทต่อตัน ปรับลดลงจาก 13,300 บาทต่อตัน หรือลดลง 0.4%
- ข้าวเปลือกปทุมธานี เฉลี่ย 12,100 บาทต่อตัน ปรับลดลงจาก 14,400 บาทต่อตัน หรือลดลง 16%
- ข้าวเปลือกเจ้า เฉลี่ย 8,650 บาทต่อตัน ปรับลดลงจาก 12,500 บาทต่อตัน หรือลดลงกว่า 30%
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ.68 กลุ่มชาวนาหลายจังหวัด อาทิ พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และปทุมธานี ได้รวมตัวชุมนุม หน้าบริเวณศูนย์ราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีการนำรถเทรลเลอร์ตั้งเวทีปราศรัยติดตามทวงถาม ข้อเสนอให้รัฐบาลกำหนดราคาประกันข้าว ที่ 11,000 บาทต่อตัน สำหรับเกษตรกรรายละ 50 ตัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนา