
TU รายได้อาหารทะเล-สัตว์เลี้ยงพุ่ง ดันปี 67 พลิกกำไรเฉียด 5 พันล้าน เคาะปันผล 0.35 บ.
TU รายงานงบปี 67 พลิกมีกำไรสุทธิ 4.98 พันล้านบาท จากปีก่อนขาดทุน 1.39 หมื่นล้านบาท หลังรับรู้รายได้จากกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป สัตว์เลี้ยง และธุรกิจผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า ฟากบอร์ดเคาะปันผล 0.35 บาท ขึ้น XD วันที่ 28 ก.พ. 68 กำหนดจ่ายปันผลวันที่ 25 เม.ย.นี้
บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 67 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 67 พลิกมีกำไรสุทธิ ดังนี้
สำหรับบริษัทรายงานผลดำเนินงานปี 67 พลิกมีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 4,984.89 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 13,933.21 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการรายงานยอดขายอยู่ที่ 138,433 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 136,153 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการเติบโตจากการดำเนินงานปกติของ อาทิ ธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และ ธุรกิจผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 18.50%
โดยในปี 2567 ยอดขายของธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์โดยเพิ่มขึ้น 7.10% จากปีก่อน เนื่องจากปริมาณขาย เพิ่มขึ้น 11.10% จากปีก่อน ทั้งจากธุรกิจรับจ้างผลิต และธุรกิจแบรนด์ นอกจากนี้ยอดขายใน สหรัฐอเมริกา แคนาดา และตะวันออกกลาง ปรับตัวดีขึ้นอย่างแข็งแกร่งเนื่องจากความต้องการซื้อที่สูงขึ้น และกลยุทธส่งเสริมการขายของบริษัทฯ ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 19.10% และปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี อีกทั้งบริษัทฯ ได้รับประโยชน์ จากสินค้าคงเหลือที่มีต้นทุนต่ำเนื่องจากเราจัดซื้อปลาทูน่าในช่วงที่ราคาต่ำไว้เป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ มียอดขายของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น 15.50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การเติบโตนี้มีสาเหตุจากสัดส่วนการขายสินค้าพรีเมี่ยมที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (ปี 2567 อยู่ที่ 54.70% เทียบกับปี 2566 อยู่ที่ 48.60%) การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในสหรัฐอเมริกา และความต้องการที่สูงขึ้นใน ยุโรป และ ออสเตรเลีย อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 28.50% และสูงกว่าเป้าหมายทั้งปีที่ระดับ 26-28% ในปี 2567
ส่วนยอดขายของธุรกิจผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าเพิ่มขึ้น 5.20% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนใหญ่จากธุรกิจผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า ธุรกิจ ส่วนประกอบอาหารและธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่ปริมาณขายเพิ่มขึ้นและราคาขายก็เพิ่มสูงขึ้น อัตรากำไรขั้นต้นยังคงอยู่ในระดับที่ดีที่ 26.1% ลดลง 1.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2567 บริษัทฯ รายงานยอดขายอยู่ที่ 35,090 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 1.20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากผลกระทบเชิงลบจากอัตราแลกเปลี่ยน 3.10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการที่เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักทุกสกุล โดยเฉพาะเงินยูโร (เฉลี่ยที่ 36.26 บาทต่อยูโร ลดลง 5.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) และเหรียญสหรัฐ (เฉลี่ยที่ 34.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน)
อย่างไรก็ดี ยอดขายที่ลดลงได้ถูกชดเชยบางส่วนจากการเติบโตจากการดำเนินงานปกติที่เพิ่มสูงขึ้น 1.90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ปริมาณขายเพิ่มสูงขึ้น 6.70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากความต้องการที่สูงขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ ยกเว้น ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการวิเคราะห์แยกรายกลุ่มธุรกิจ สามารถดูข้อมูลได้ที่หัวข้อ ผลการดำเนินงานจำแนกตามกลุ่มธุรกิจกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 6,554 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจอาหารทะลแปรรูป ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และธุรกิจอาหารสัตว์ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาสนี้เติบโต 0.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 18.7% ซึ่งเป็นอัตรากำไรขั้นต้นรายไตรมาสที่สูงสุดเป็นอันดับ 3 ในรอบ 14 ไตรมาสที่ผ่านมา
ส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารอยู่ที่ 4,963 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจาก transformation costs ค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่สูงขึ้น และค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นซึ่งสอดคล้องกับปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขายจึงเพิ่มขึ้นเป็น 14.10% จาก 11.80% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน หากไม่รวม transformation costs อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขายจะอยู่ที่ 13.30% จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ทำให้กำไรจากการดำเนินงานลดลงมาอยู่ที่ 1,590 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ยอดขายของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.70% โดยมีสาเหตุหลักจากผลกระทบตามฤดูกาลของทุกกลุ่ม ธุรกิจ ยกเว้นธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวลงเล็กน้อย 0.80% จากไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 18.70% ในไตรมาส 4 ปี 2567 ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น 5.20% จากไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่มาจาก transformation costs ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น เนื่องด้วยผลการดำเนินงานที่ชะลอตัวลงในขณะที่ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้กำไร จากการดำเนินงานและกำไรสุทธิปรับตัวลดลง 23.30% และ 13.40% จากไตรมาสก่อน ตามลำดับ
นอกจากนี้ บริษัทเตรียมปันผลงวดดำเนินงานวันที่ 1 ก.ค. 67 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 67 และกำไรสะสม เป็นเงินสด 0.35 บาท กำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 28 ก.พ. 68 และกำหนดจ่ายปันผลวันที่ 25 เม.ย. 68
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TU กล่าวว่า สำหรับภาพรวมธุรกิจของไทยยูเนี่ยนในปี 2567 เป็นปีที่สร้างผลงานได้ดีทั้งด้านยอดขาย และการเติบโตของอัตรากำไรขั้นต้นที่ 18.5 เปอร์เซ็นต์เป็นผลจากการเติบโตของกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป รวมถึงกลยุทธ์ของกลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็ง ที่มีการปรับพอร์ตผลิตภัณฑ์ให้มีอัตรากำไรดีขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ที่ขยายตัวได้ดีมากจากกลยุทธ์เพิ่มสัดส่วนการขายสินค้ากลุ่มพรีเมียม และสถานการณ์ของสินค้าคงคลังที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ ในปี 2567 ไทยยูเนี่ยนได้เปิดตัว “กลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 2573” โร้ดแม็ปใหม่เพื่อสร้างการเติบโตครั้งสำคัญ พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้นำระดับโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพจากท้องทะเล โดยมีสองโปรเจกต์ทรานฟอร์มเมชั่น ได้แก่ โปรเจกต์โซนาร์ (Project Sonar) ซึ่งเป็นโครงการทรานส์ฟอร์เมชั่นของกลุ่มบริษัท มุ่งวางรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการเติบโตในระยะยาว และโปรเจกต์เทลวินด์ (Project Tailwind) มุ่งเน้นที่การเร่งการเติบโตในกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นหลัก ส่งผลให้กลุ่มบริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายของโครงการทรานฟอร์มเมชั่น ที่มีนัยสำคัญ หากไม่รวมค่าใช้จ่ายดังกล่าว กำไรสุทธิในปี 2567 จะอยู่ที่ 5,685 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.30% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ในปี 2567 บริษัทฯ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการบริหารธุรกิจ ทำกำไร และมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี 0.94 เท่า มีกระแสเงินสดสูงถึง 11,705 ล้านบาท จาก EBITDA ที่แข็งแกร่ง 13,361 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.60% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งสูงสุดเป็นอันดับสองในประวัติการณ์ตลอดจนความสามารถในการบริหารจัดการสินค้าคงคลังที่มีประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้ทำให้ไทยยูเนี่ยนมีความคล่องตัวและสามารถสร้างโอกาสสำหรับการลงทุนในอนาคตได้
สำหรับภาพรวมการดำเนินธุรกิจในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 พบว่า ยอดขายปรับตัวลดลงราว 1.2 เปอร์เซ็นต์ จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน 3.10% อย่างไรก็ดีการเติบโตจากการดำเนินงานตามปกติยังคงเติบโตที่ 1.90% เป็นไตรมาสที่สองติดต่อกัน สำหรับอัตรากำไรขั้นต้นยังคงขยายตัวอยู่ที่ 18.70% สะท้อนถึงการฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง ส่วนกำไรสุทธิ อยู่ที่ 1,213 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 18.70% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากค่าใช้จ่ายการดำเนินกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 2573 ซึ่งหากไม่นับรวมค่าใช้จ่ายของโครงการทรานฟอร์มเมชั่น กำไรสุทธิ จะอยู่ที่ 1,512 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.30% เมื่อเทียบกับปีก่อน
“แม้เราจะต้องเผชิญกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ ที่มีความไม่แน่นอน ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ผู้บริโภคทั่วโลกใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง แต่ทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจของเรายังคงเติบโตได้ดี ทั้งกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และกลุ่มธุรกิจสินค้าเพิ่มมูลค่าและอื่น ๆ แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัว และดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 2573 เพื่อบรรลุเป้าหมายยอดขาย 2.45 แสนล้านบาท (US$7billion) และเพิ่ม EBITDA เป็นสองเท่าภายในปี 2573″ นายธีรพงศ์ กล่าว
สำหรับผลประกอบการตามกลุ่มธุรกิจของไทยยูเนี่ยน ปีที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ของไทยยูเนี่ยนยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง จากปริมาณความต้องการสินค้าต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปที่สร้างยอดขายสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 68,412 ล้านบาท ขยายตัว 7.10% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากอัตราการเติบโตของยอดขายในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และตะวันออกกลาง ราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลงและยอดขายที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้กลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 19.10%
ส่วนกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง มียอดขายรวม 17,389 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 15.50% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยได้ปัจจัยสนับสนุนจากกลยุทธ์เพิ่มสัดส่วนการขายสินค้ากลุ่มพรีเมียม รวมถึง ปริมาณความต้องการสินค้าในตลาดยุโรปและจีนที่ดีต่อเนื่อง ทำให้ปี 2567 กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมีอัตรากำไรขั้นต้นขยายตัวสูงถึง 28.50%
ขณะที่กลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง มียอดขายรวม 42,226 ล้านบาท ปรับตัวลดลงราว 10.70% เนื่องจากยอดขายที่ลดลง แต่เมื่อพิจารณาอัตราส่วนกำไรขั้นต้นของกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งพบว่ามีการฟื้นตัว 11.70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนให้เห็นว่าการปรับโครงสร้างทางธุรกิจในสหรัฐอเมริกา สามารถสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจได้ดีขึ้นต่อเนื่อง และสุดท้ายคือกลุ่มธุรกิจสินค้าเพิ่มมูลค่าและอื่นๆ สามารถทำยอดขายได้ 10,406 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 5.20% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ทั้งนี้ สัดส่วนยอดขายของไทยยูเนี่ยนตามภูมิภาค มาจากประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา คิดเป็นอัตรา 39.40% ของรายได้รวมทั้งหมด รองลงมาเป็น ยุโรป 30% ไทย 11% และ ภูมิภาคอื่นๆ อีก 19.60%
นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคม 2567 บริษัทได้ดำเนินโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน ครั้งที่ 4 ในวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาท หรือจำนวน 200 ล้านหุ้น โดยจะเริ่มซื้อหุ้นคืนตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม ถึง 30 มิถุนายน 2568 ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 บริษัทฯ มีจำนวนหุ้นที่ซื้อคืนสะสมทั้งหมดอยู่ที่ 107 ล้านหุ้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ถือหุ้น รวมถึงช่วยเพิ่มกำไรต่อหุ้นให้ดีขึ้น
ไทยยูเนี่ยนในฐานะผู้นำด้านความยั่งยืนได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารของโลก จากดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) ประจำปี 2567 ด้วยคะแนนรวมสูงสุด 85 คะแนน นับตั้งแต่ปี 2561 เราได้รับการจัดอันดับ 1 ถึง 4 ครั้ง สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยน ยังได้รับคัดเลือกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้เป็นหนึ่งใน “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings” ระดับ A ประจำปี 2567 ในกลุ่ม Agro & Food Industry อีกด้วย
“ปี 2568 ยังคงเป็นปีแห่งความท้าทาย ทั้งผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงดำเนินอยู่ การเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐ และเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะชะลอตัว อย่างไรก็ตาม เราเชื่อมั่นว่าภายใต้กลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 2573 เราจะก้าวพ้นกระแสแห่งความผันผวน เพื่อสร้างโอกาส สร้างรากฐานธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้นำโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และโภชนาการเพื่อสุขภาพจากท้องทะเลได้ในที่สุด” นายธีรพงศ์ กล่าว