
“คุณหญิงปัทมา” พร้อมรับใช้วงการกีฬา หากทุกสมาคมฯ หนุนเป็น “ประธานโอลิมปิคไทย”
“คุณหญิงปัทมา” เผยพร้อมรับใช้วงการกีฬา หากสมาคมกีฬาหลายแห่งให้การสนับสนุนในการขึ้นเป็นประธานโอลิมปิคไทยฯ คนใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวการเลือกตั้งประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ และคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ที่จะมีขึ้นที่สำนักงานบ้านอัมพวัน วันที่ 25 มี.ค. นี้ ซึ่งที่ผ่านมามีแคนดิเดต 2 รายประกาศตัวลงชิงเก้าอี้ตำแหน่งประธานโอลิมปิคไทย ได้แก่ 1.นายสุชัย พรชัยศักดิ์อุดม นายกสมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทยฯ และ 2. ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทยฯ
ขณะที่มีกระแสข่าวว่าสมาคมกีฬาหลายสมาคมพร้อมให้การสนับสนุน คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล สมาชิกคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี เมมเบอร์) ชาวไทย และนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ขึ้นเป็นประธานโอลิมปิคไทยฯ คนใหม่
ล่าสุด คุณหญิงปัทมา สมาชิกคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี เมมเบอร์) ชาวไทย และนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ตามธรรมนูญของคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ไม่เหมือนของไอโอซี ที่จำเป็นต้องยื่นใบสมัคร ตรวจสอบประวัติผู้สมัครอย่างละเอียดจากองค์กรกลางอิสระ, ประกาศชื่อแคนดิเดต ก่อนจะเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่ของโอลิมปิคไทยฯ ใช้วิธีการเสนอชื่อในวันประชุมใหญ่ ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นจะต้องยื่นใบสมัครหรือประกาศตัวว่าจะลงชิงตำแหน่งประธานโอลิมปิคไทยฯ แต่อย่างใด
“อย่างไรก็ตามถ้าในวันดังกล่าว มีสมาชิกที่มองเห็นว่าปัทมาจะสามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศไทยได้ แล้วเสนอชื่อในตำแหน่งประธานโอลิมปิคไทยฯ ในที่ประชุมใหญ่ ก็ขอให้ขึ้นอยู่กับสมาชิกสมาคมกีฬาต่างๆ ที่มีสิทธิในการเลือกตั้ง ถ้าหากมองว่าเรามีประโยชน์ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เราก็พร้อมรับใช้วงการกีฬา” คุณหญิงปัทมา กล่าว
คุณหญิงปัทมา ยังกล่าวถึงแคนดิเดตคนอื่นๆ ว่า ทุกท่านที่ประกาศตัวออกมา ตนเชื่อว่าทุกคนมีคุณสมบัติอันเพรียบพร้อม ทั้งประสบการณ์ในการทำงานสูง, มีภาวะผู้นำ, มีความทุ่มเท พร้อมอุทิศกายใจ-สมอง-เวลา ให้กับคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ และเชื่อว่าทุกคนมองเห็นนักกีฬาเป็นศูนย์กลาง ทุกคนจะทำการใดๆ ก็จะเพื่อประโยชน์สูงสุดของนักกีฬาและประเทศไทย ขณะเดียวกันผู้บริหาร 37 สมาคมกีฬาสมาชิกของคณะกรรมการโอลิมปิคฯ มีนายกสมาคม ที่มีคุณสมบัติครบ เชี่ยวชาญและรัก ในวงการกีฬามาก
ส่วนกรณีที่ “เสธ.ยอด” พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย ประธานสหพันธ์สมาคมกีฬาชาติ (ฟอนซ่า) และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ชี้ว่าผู้ที่จะมาเป็นประธานโอลิมปิคไทยฯ ต้องมีพาวเวอร์ในระดับนานาชาตินั้น คุณหญิงปัทมา กล่าวว่า สำหรับตัวเราเชื่อว่ามีความจำเป็น อย่างเช่นตอนที่ประเทศไทยติดโทษแบนเรื่องโด๊ปจากองค์การต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (วาด้า) หรือการช่วยเจรจาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก
รวมถึงการนำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาสู่วงการกีฬาไทยนั้น ปัทมาเข้าไปแก้ไขปัญหาให้ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากคอนเน็กชั่นของตนเองที่สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสหพันธ์กีฬานานาชาติ รวมถึงการเข้าไปประสานงานแก้ไขปัญหาให้กับสมาคมกีฬาต่างๆ ที่มีข้อขัดแย้งกับสหพันธ์กีฬานานาชาติเพื่อให้สามารถทำงานอย่างราบรื่น
ส่วนตัวเราก็พร้อมตอบรับทุกความไว้วางใจที่เข้ามา ถ้าเป็นโอกาสที่จะได้รับใช้คนไทยและนักกีฬาไทย อะไรที่นำมาสู่ผลประโยชน์หรือชื่อเสียงในเวทีกีฬาโลกของไทย เราก็พร้อมน้อมรับใช้ทุกคน ส่วนเรื่องทีมงานบริหารนั้น ทุกคนในคณะกรรมการโอลิมปิคไทยมีความน่ารัก มีความสามารถอยู่แล้ว เชื่อว่าทุกคนที่อยู่ในคณะกรรมการโอลิมปิคไทย ล้วนมีคุณภาพ มีประสบการณ์สูงมากๆ ทุกคนอยู่มาก่อน มีความรู้ความสามารถ ฉะนั้นไม่ใช่ปัญหาแน่นอน” ไอโอซีเมมเบอร์หนึ่งเดียวของไทย กล่าวปิดท้าย
สำหรับกระบวนการเลือกประธานโอลิมปิคคนใหม่นั้น เริ่มจากสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยที่เป็นสมาชิกของคณะกรรมการโอลิมปิคทั้งหมด 37 สมาคม จะเสนอชื่อผู้แทนสมาคม เพื่อรับเลือกทำหน้าที่คณะกรรมการบริหารโอลิมปิควาระใหม่
จากนั้น 37 สมาคมจะโหวตเลือก 23 คน จาก 37 คน มาทำหน้าที่เป็นกรรมการบริหาร รวมกับผู้แทนคณะกรรมการโอลิมปิกสากลชาวไทย (คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล) และตัวแทนนักกีฬาโอลิมปิกชาวไทย (ปัจจุบันคือ ชนาธิป ซ้อนขำ) รวมทั้งหมด 25 คน ต่อจากนั้น 37 สมาคมกีฬาสมาชิก จะโหวตเลือก “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ในคณะกรรมการโอลิมปิควาระใหม่ จำนวน 10 คน
ทั้งนี้ เมื่อได้ผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มอีก 10 คนแล้ว รวมกับกรรมการบริหารชุดใหม่ 25 คน เป็นทั้งสิ้น 35 คน จะประชุมกันเพื่อจัดสรรตำแหน่งและเลือก “ผู้เหมาะสม” มาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการโอลิมปิคฯ คนใหม่ ในกรณีที่มีผู้เสนอชื่อแข่งขันกันมากกว่า 1 คนขึ้นไป ผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 35 คน จะลงคะแนนเลือกตั้ง “แบบลับ” แล้วจึงนับคะแนน
สำหรับ 37 สมาคมกีฬาสมาชิกสามัญของคณะกรรมการโอลิมปิคฯ ที่มีสิทธิลงคะแนนเสียง ประกอบด้วย ขี่ม้าโปโล, ตะกร้อ, สกีและสโนว์บอร์ด, ปัญจกีฬา, รักบี้, ยิงปืน, มวยสากล, บาสเกตบอล, กอล์ฟ, ฮอกกี้น้ำแข็ง, ฟิกเกอร์และสปีดสเก็ตติ้ง, แฮนด์บอล, เทควันโด, เรือพาย, ไตรกีฬา, เบสบอล, ขี่ม้า, ซอฟท์บอล, ฟันดาบ, มวยปล้ำ, ยกน้ำหนัก, แข่งเรือใบ, จักรยาน, เทเบิลเทนนิส, ลอนเทนนิส, โบว์ลิ่ง, ว่ายน้ำ, ยิงเป้าบิน, ยูโด, ฮอกกี้, ยิมนาสติก, ฟุตบอล, วอลเลย์บอล, แบดมินตัน, กรีฑา, ยิงธนู และปีนหน้าผา