
“ภรรยา-ลูกสาว” ปฏิเสธทุกข้อหาคดี “หมอบุญ” ฉ้อโกงหมื่นล้าน ศาลนัดตรวจหลักฐาน มี.ค.นี้
ศาลอาญา สอบคำให้การ 13 จำเลยคดี "หมอบุญ" ภรรยา-ลูกสาวปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ปมฉ้อโกงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท หลอกลงทุนโครงการทิพย์ ฟากศาลเตรียมนัดตรวจหลักฐานเดือน มี.ค. นี้
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (17 ก.พ. 68) ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษกนัดสอบคำให้การจำเลยคดีหมายเลขดำที่ อ.387/2568 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 5 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.จิดาภา พุ่มพุฒ, น.ส.ศิวิมล จาดเมือง, นางจารุวรรณ วนาสิน ภรรยา, นพ.บุญ วนาสิน, นางนลิน วนาสิน (บุตรสาวหมอบุญ)
น.ส.อัจจิมา พาณิชเกรียงไกร, นายภาคย์ วัฒนาพร, นางภัทรานิษฐ์ ณ สงขลา, นายธนภูมิ ชนประเสริฐ, นางณวรา กุญชร ณ อยุธยา, น.ส.มาสฤดี คณาพิทักษ์พงศ์, นายเนติวรรธน์ สุวรรณกูฏ, น.ส.นัญญากรณ์ ธรรมา และ น.สชัญญ์ญาณ์ พุฒิพงศ์ชญาห์ จำเลยทั้ง 13 ราย ร่วมกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เสียหาย1.6 หมื่นล้านบาท
โดยศาลชี้แจงคำฟ้องว่า นายบุญ วนาสิน ผู้ต้องหาหลบหนี อาศัยความน่าเชื่อถือจากธุรกิจโรงพยาบาล THG และเครือข่ายทางการแพทย์ ร่วมกับจำเลยที่ 1-13 และพวกที่ยังหลบหนี ระดมเงินจากประชาชน รวมกว่า 16,000 ล้านบาท ซึ่งมีการแบ่งหน้าที่ดังนี้ กลุ่มพนักงานบริษัทที่บริหารจัดการระดมเงินกู้ มีจำเลยที่ 1-4 กับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง กลุ่มบุคคลในครอบครัวที่ร่วมกันทำสัญญากู้ สัญญาค้ำประกัน จำนำหุ้น จำนองที่ดิน ฯลฯ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการระดมเงินกู้ มีจำเลยที่ 5-7 และกลุ่มตัวแทนนายหน้าเพื่อจัดการระดมเงินทุน มีจำเลย 8-13 กับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง
ทั้งนี้ เกิดขึ้นระหว่างประมาณต้นเดือน ม.ค.53 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 15 ธ.ค.67 ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้ง 13 และ นพ.บุญกับพวกที่หลบหนี ร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหาย 605 ราย ผ่านช่องทางสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ นำเสนอแผนการลงทุน โครงการทั้งในและต่างประเทศเผยแพร่ทางสื่อหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ คอลัมน์ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล เรื่อง “หมอบุญทุ่ม 1.6หมื่นล้าน รุกธุรกิจเฮลท์แคร์ ไทย-ต่างประเทศ” ทำให้มีผู้เสียหายหลงเชื่อเข้าร่วมลงทุนหรือให้กู้ยืมเงินเพื่อนำไปทำธุรกิจ 5 โครงการ คือ
1.โครงการสร้างศูนย์มะเร็ง ตั้งอยู่พื้นที่ 9 ไร่ ย่านปิ่นเกล้า งบประมาณ 4 พันล้านบาท 2.โครงการสร้างศูนย์ดูแลสุขภาพเวลเนส เซ็นเตอร์ (Wellness Center) เนื้อที่ 5ไร่เศษ ย่านพระราม3 ติดแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นอาคาร 52 ชั้น งบประมาณ 4,000-5,000ล้านบาท
3.โครงการสร้างโรงพยาบาลที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน 3 แห่งๆ ละ ประมาณ 2,000 ล้านบาท 4.โครงการเข้าร่วมลงทุนกับโรงพยาบาลในประเทศเวียดนาม งบประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท และ 5.โครงการสร้าง medical inteligence ทำหน้าที่บริหารด้านไอทีให้กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อลดต้นทุนและปรับปรุงคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นใช้งบประมาณ 1,600 ล้านบาท
พร้อมเสนอแผนการระดมเงินทุนในรูปแบบการกู้ยืมเงินจากประชาชนทั่วไป จำนวน 6 แผนการลงทุน ดังนี้ 1 การให้กู้ยืมเงินโดยไม่มีหลักประกัน (Clean Loan) โดยออกเช็คชำระหนี้ และ มีบุคคลอาวัลเช็คและมีผู้ค้ำประกัน (กู้แบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน) กำหนดให้ผลตอบแทน ร้อยละ 8.5-15% ต่อปี 2 การให้กู้ยืมเงินโดยอ้างว่าจะนำหุ้น THG มามอบให้ผู้ให้กู้ โอนหุ้นให้ผู้ให้กู้) ให้ผลตอบแทนประมาณร้อยละ7-12 % ต่อปี 3 การให้กู้ยืมเงินโดยอ้างว่าจะนำหุ้น หรือ เช็คมาค้ำประกัน (จำนำหุ้น) หรือตั๋วสัญญาใช้เงินให้ผลตอบแทนประมาณร้อยละ 7-12% ต่อปี 4 การให้กู้ยืมเงิน
โดยมีบุคคลหรือนิติบุคคลมาค้ำประกันให้ผลตอบแทนประมาณร้อยละ8.5-15 % ต่อปี 5 การให้กู้ยืมเงินโดยนำใบหุ้นสามัญของ THG มาค้ำประกัน โดยมอบให้ผู้ให้กู้ถือครองไว้ให้ผลตอบแทนประมาณร้อยละ7-12 % ต่อปี และ6 การร่วมลงทุน หุ้นไอพีโอ (IPO) หุ้นที่กำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยอ้างว่าจะมอบหุ้นของบริษัทโรงพยาบาล ธนบุรี บำรุงเมือง จำกัด ให้ผู้ให้กู้ โดยให้ผลตอบแทนประมาณร้อยละ 5-8% ต่อปี
ขณะที่ การลงทุนดังกล่าว ผู้ลงทุนหรือประชาชนจะได้รับเงินคืนหรือผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราร้อยละ 7-15 ต่อปี สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึ่งจ่ายได้ การโฆษณาชักชวนประชาชนของจำเลยทั้ง 13 ดังกล่าวข้างต้นเป็นความเท็จทั้งสิ้น จำเลยทั้ง 13 กับพวก ไม่ได้นำเงินที่ได้จาการกู้ยืมเงินไปลงทุน เนื่องจากโครงการต่างๆ ยังไม่มีการเริ่มก่อสร้าง เป็นเพียงแผนการลงทุนที่นำมาหลอกลวงประชาชนทั่วไปเท่านั้น
จำเลยทั้ง 13 กับพวก มีเจตนาหลอกลวงประชาชนที่หวังจะได้รับเงินตอบแทนในอัตราสูงให้นำเงินมาให้กู้ยืมเงินหรือลงทุนด้วย ให้อัตราดอกเบี้ยสูงเป็นเครื่องล่อใจ ก่อนนำเงินที่ได้มาจากผู้ร่วมลงทุนรายอื่นๆ จ่ายเป็นผลประโยชน์ให้แก่ผู้ร่วมลงทุนรายก่อนๆ ในลักษณะต่อเนื่องกันเป็นแชร์ลูกโซ่ มีผู้เสียหายที่ได้แจ้งความร้องทุกข์ในคดีนี้ 605 คน ร่วมความเสียหาย 16,100,602,806 บาท เหตุเกิดที่แขวงและเขตห้วยขวาง , แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ และหลายจังหวัดทั่วราชอาณาจักร เกี่ยวพันกัน
ขณะที่ ชั้นสอบสวน จำเลยทั้ง 13 ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา จากนั้นศาลได้สอบคำให้การจำเลยว่าจะรับสารภาพหรือปฏิเสธ ปรากฎว่าจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ หลังจากนั้นศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 24 มี.ค. 2568 ในเวลา 09.00 น. สำหรับ “หมอบุญ” กับพวกอยู่ระหว่างการติดตามตัวมาดำเนินคดีภายใน 15 ปี