
GPSC รายได้โรงไฟฟ้า SPP โต หนุนกำไรปี 67 ทะลุ 4 พันล้าน
GPSC รายงานกำไรปี 67 โต 10% ทะลุ 4 พันล้านบาท ตอบรับการเติบโตของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก จากความต้องการไฟฟ้าและไอน้ำลูกค้าอุตสาหกรรม และการบริหารจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงอย่างดี
บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC รายงานผลการดำเนินงานงวดปี 67 สิ้นสุด 31 ธ.ค.67 มีกำไรสุทธิ ดังนี้
ทั้งนี้ บริษัทฯ รายงานผลประกอบการสำหรับงวด 12 เดือน ปี 67 มีกำไรสุทธิ 4,062 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 368 ล้านบาท หรือร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปี 66 โดยกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 20,984 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,122 ล้านบาท หรือร้อยละ 6 ปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ซึ่งเพิ่มขึ้น 3,057 ล้านบาท จากปริมาณความต้องการไฟฟ้าและไอน้ำของลูกค้าอุตสาหกรรมที่สูงขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ แม้ค่า Ft ที่ส่งผลต่อราคาขายไฟฟ้าอุตสาหกรรมจะลดลง
ขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าผู้ผลิตอิสระ (IPP) มีรายได้ลดลง 2,021 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน ที่มีค่าเชื้อเพลิงส่วนต่าง (Energy Margin) ลดลงจากราคาต้นทุนถ่านหินที่สูงกว่ารายได้ค่าถ่านหินที่เรียกเก็บจาก กฟผ. นอกจากนี้ โรงไฟฟ้า SRC มีกำไรขั้นต้นลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนจากการเดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซลในปี 66 มาเป็นก๊าซธรรมชาติในปี 67 ซึ่งมีอัตรากำไรต่ำกว่า
ด้านค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลง 252 ล้านบาท หรือร้อยละ 10 อยู่ที่ 2,171 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักมาจากค่าที่ปรึกษาด้านพัฒนาธุรกิจที่ลดลง ด้านรายได้อื่นสุทธิเพิ่มขึ้น 270 ล้านบาท หรือร้อยละ 23 อยู่ที่ 1,458 ล้านบาท โดยมีรายได้ดอกเบี้ยรับเพิ่มขึ้น 459 ล้านบาท หรือร้อยละ 75 จากการบริหารกระแสเงินสดภายในบริษัท อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการปรับมูลค่าเงินลงทุนในบริษัท ไทยโซล่าร์รีนิวเอบิล จำกัด (TSR) ตามมาตรฐานบัญชี คิดเป็นมูลค่า 172 ล้านบาท
ส่วนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ในปี 67 อยู่ที่ 300 ล้านบาท ลดลง 223 ล้านบาท หรือร้อยละ 43 เนื่องจากมีการปรับปรุงค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ของปี 66 จากการใช้ประโยชน์ของผลขาดทุนสะสมทางภาษีและภาษีเงินได้รอตัดบัญชี ส่งผลให้ภาษีเงินได้โดยรวมลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน
สำหรับเงินปันผลและส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและกิจการร่วมค้าสำหรับงวด 12 เดือน ปี 67 มีจำนวน 493 ล้านบาท ลดลง 784 ล้านบาท จากปี 66 โดยมีปัจจัยหลักจากส่วนแบ่งกำไรของ AEPL ที่ลดลง เนื่องจากมีค่าธรรมเนียมชำระคืนเงินกู้ก่อนกำหนด ขณะที่ TSR มีรายได้ลดลงจากการหมดอายุของค่า Adder ตั้งแต่เดือนมิ.ย.67
นอกจากนี้ บริษัทฯ มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 258 ล้านบาทในปี 67 เทียบกับปี 66 ที่มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 252 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากมูลค่าเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินดอลลาร์ไต้หวันที่อ่อนตัวลง ด้านต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 492 ล้านบาท หรือร้อยละ 9 อยู่ที่ 5,885 ล้านบาท อันเป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นและปริมาณเงินกู้ยืมของกลุ่มกิจการที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงรักษาการเติบโตของกำไรสุทธิได้ แม้เผชิญกับความท้าทายในด้านต้นทุนพลังงานและอัตราแลกเปลี่ยน โดยอาศัยการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพและความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นในภาคอุตสาหกรรม