
ธปท. เผย “สินเชื่อ SMEs – เช่าซื้อ” กดดัน “สินเชื่อแบงก์” ไตรมาส 4/67 หดตัว 0.4%
ธปท.เปิดตัวเลข สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์รวม หดตัว 0.4% รับแรงกดดัน "สินเชื่อธุรกิจ SMEs" ยังหดตัว พ่วง "เช่าซื้อ" ยังติดลบต่อเนื่อง แนะจับตากลุ่มลูกหนี้เอสเอ็มอี-ครัวเรือน
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ ( 18 ก.พ.68) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 4/67 สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมเครือ) หดตัวอยู่ที่ 0.4% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่หดตัว 2.0% โดยขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะที่ สินเชื่อธุรกิจ SMEs หดตัวลดลง ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคหดตัวติดลบร้อยละ1.9 ลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้างลดลง 9.9% เป็นการลดลงต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ยอดคงค้างสินเชื่อ NPL ไตรมาส 4/67 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 552.1 พันล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.78% โดยหลักจากสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการคุณภาพหนี้และการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องของธนาคารพาณิชย์
รวมทั้ง ลูกหนี้บางส่วนสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้ปรับชั้นดีขึ้นมาอยู่ที่ Stage 2 ประกอบกับมีการจัดชั้นเชิงคุณภาพของสินเชื่อธุรกิจ ส่งผลให้สินเชื่อ stage 2 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.98%
สำหรับผลการดำเนินงานปี 2567 ปรับดีขึ้นจากปีก่อน จากทั้งรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยตามการวัดมูลค่าตราสารทางการเงินเป็นสำคัญ และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ประกอบกับค่าใช้จ่ายสำรองลดลงจากการตั้งสำรองสูงในปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SMEs และครัวเรือนบางกลุ่มที่รายได้ฟื้นตัวช้าและมีภาระหนี้สูง รวมถึงธุรกิจในกลุ่มที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง และความสามารถในการแข่งขันปรับลดลง ตลอดจนติดตามผลสำเร็จของการให้ความช่วยเหลือภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย”
โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไตรมาส 3/67 ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน จากสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ขยายตัวชะลอลง ขณะที่ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP ปรับลดลงตามการหดตัวของสินเชื่อ และตราสารหนี้ ด้านความสามารถในการทำกำไรโดยรวมลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะภาคการผลิต แม้จะมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว