
จับตาไอ้โม่ง เปิดปฏิบัติการ สกัด “พิรงรอง” ร่วมประชุม กสทช. พรุ่งนี้!?
จับตาไอ้โม่ง เปิดปฏิบัติการ สกัด “พิรงรอง” ร่วมประชุม กสทช. พรุ่งนี้!?
ต้องยอมรับว่าปฏิกิริยา และกระแสสังคมเวลานี้ พุ่งเป้าไปที่การทำงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ มีคำตัดสินว่า ศ.กิตติคุณ พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ มีความผิดฐานใช้อำนาจมิชอบ กลั่นแกล้ง บริษัททรู ดิจิทัล ให้ได้รับความเสียหาย ลงโทษจำคุก 2 ปี แต่ได้รับการประกันตัว
แม้สิ่งที่เกิดขึ้นกับ ศ.กิตติคุณ พิรงรอง ทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงว่าอาจเข้าข่ายต้องห้ามเป็น กสทช. จากคำพิพากษาของศาล แต่ในมุมมองภาคประชาสังคมที่ออกมาขับเคลื่อนทั้งในส่วนของสภาผู้บริโภค นักวิชาการด้านสื่อสาร และนักสื่อสารมวลชน ว่าการทำหน้าที่ของ ศ.กิตติคุณ พิรงรอง เป็นการทำหน้าที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค เนื่องจากบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเป็นบริการสาธารณะที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน มีผลต่อการส่งเสริมความรู้และคุณภาพชีวิตของประชาชนในฐานะผู้บริโภคจึงต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิ
เป็นที่มาทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์สนับสนุนการทำหน้าที่ของ กสทช.ในการกำกับดูแลคลื่นความถี่อันเป็นทรัพยากรของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ ตลอดทั้งการกำกับดูแลกิจการการสื่อสารเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคอย่างเป็นอิสระโดยปราศจากการครอบงำ ทั้งจากอำนาจทางการเมืองและอำนาจทุน และขอเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐทุกฝ่ายรวมทั้ง กสทช. ยืนหยัดในการทำหน้าที่อย่างสุจริต โปร่งใส โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
การประชุมคณะกรรมการ กสทช. ในวันพรุ่งนี้ (19 กุมภาพันธ์ 2568) ซึ่งถูกเลื่อนมาจาก วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นการประชุมครั้งแรกหลังจากศาลมีคำตัดสิน ศ.กิตติคุณ พิรงรอง ดังนั้นจึงถูกจับตามองจากสังคมว่า อาจมีความพยายามกดดันจากบอร์ด กสทช.ให้ ศ.กิตติคุณ พิรงรอง ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ กสทช. ชั่วคราว โดยอ้างผลจากคำพิพากษา ซึ่งเรื่อง ศ.กิตติคุณ พิรงรอง เคยถูกสื่อมวลชนสอบถามในประเด็นนี้มาแล้วเช่นกัน
ความพยายามที่จะให้ ศ.กิตติคุณ พิรงรอง หยุดปฏิบัติหน้าที่ กรรมการ กสทช. ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้น เพราะตั้งแต่มีคดีความเมื่อเดือนเมษายน 2566 คู่กรณีได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้สั่งให้ ศ.กิตติคุณ พิรงรอง ยุติการปฏิบัติหน้าที่ กรรมการ กสทช.และประธานอนุกรรมการพิจารณา อนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ไว้ชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา เพราะเกรงว่า ศ.กิตติคุณ พิรงรอง จะเป็นปฏิปักษ์ กลั่นแกล้งคู่ความในคดีที่เป็นคู่ขัดแย้งกัน แต่ท้ายที่สุดศาลได้ยกคำร้องในเรื่องดังกล่าวไป
อย่างไรก็ดี ภายหลังมีการเสนอวาระในการประชุมลับของบอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ที่เสนอให้ที่ประชุมลงมติเพื่อให้ ศ.กิตติคุณ พิรงรอง หยุดปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าบอร์ด กสทช.เสียงส่วนใหญ่ 4-3 ยังรับรองให้ ศ.กิตติคุณ พิรงรอง ปฏิบัติหน้าที่ กสทช. ต่อไป
การประชุมบอร์ด กสทช.รอบล่าสุดที่กำลังจะเกิดขึ้น ทำให้สังคมตั้งข้อสังเกตในการทำหน้าที่ของ บอร์ด กสทช.อีกครั้ง ส่วนหนึ่งที่เป็นเช่นนั้น เพราะก่อนหน้านี้ ศ.คลินิค นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เคยออกมาให้สัมภาษณ์ แสดงความเป็นห่วงคุณสมบัติและการทำหน้าที่ของ ศ.กิตติคุณ พิรงรอง และแม้ ศ.กิตติคุณ พิรงรอง จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ก็เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหา เนื่องจากประธาน กสทช.มีสิทธิ์ “ดับเบิ้ลโหวต” หาก ศ.กิตติคุณ พิรงรอง ต้องหยุดทำหน้าที่ กสทช.และในบางวาระที่การลงมติของบอร์ด กสทช. เหลือเพียง 6 คน มีเสียงเท่ากัน 3 ต่อ 3 ตนก็พร้อมจะออกเสียงครั้งที่ 2 เพื่อชี้ขาด
วิบากกรรมของ ศ.กิตติคุณ พิรงรอง อาจจะยังไม่สิ้นสุดลงเพียงเท่านี้ เพราะมีกระแสข่าวว่า สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นจากคำพิพากษาของศาล อาจถูกหยิบยกขึ้นขึ้นไปสู่การพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ (ปปช.) ให้สอบสวน ศ.กิตติคุณ พิรงรอง ในประเด็นจริยธรรม ถือเป็นการเพิ่มแรงกดดันอีกทางหนึ่ง โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้เกิดการยุติบทบาทการเป็น กรรมการ กสทช. โดยสิ้นเชิง