
AOT เด้ง 1% ตอบรับข่าว “กีรติ” เร่งขยายสนามบิน รองรับผู้โดยสาร 210 ล้านคน/ปี
AOT เด้ง 1.15% ตอบรับข่าว “กีรติ” มั่นใจ AOT โตต่อเนื่อง อัดงบขยายสนามบิน-สร้างแห่งใหม่ รับนักเดินทาง 210 ล้านคนต่อปี ในทศวรรษหน้า โชว์กำไรไตรมาสแรกปีงบฯ 68 พุ่ง 17%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.พ.68) ราคาหุ้น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ณ เวลา 10:24 น. อยู่ที่ 44 บาท บวก 0.50 บาท หรือ 1.15% สูงสุดที่ระดับ 44 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 42.75 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 851.13 ล้านบาท
ล่าสุดนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT เปิดเผยว่า จากคาดการณ์ตัวเลขผู้โดยสารที่ผ่านมาและแนวโน้มในอนาคตที่เพิ่มมากขึ้น AOT พร้อมลุยโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน เพื่อเพิ่มรายได้และอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร รวมถึงฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย
ปัจจุบันธุรกิจของ AOT ยังมีแนวโน้มรายได้ที่เป็นขาขึ้นจากปัจจัยด้านการเพิ่มขึ้นของผู้โดยสารและการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ซึ่งผลประกอบการของปีงบประมาณ 2568 ระหว่างเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2567 AOT มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 5,344.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.12% และมีรายได้รวม 17,906.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.4% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่คาดการณ์ปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารช่วงตารางบินฤดูร้อนในปี 2568 ซึ่งสายการบินได้ขอจัดสรรเวลาการบินล่วงหน้า จะมีเที่ยวบินรวมประมาณ 543,932 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 29.7% แบ่งเป็น เที่ยวบินในประเทศ 225,905 เที่ยวบินเพิ่มขึ้น 29.7% ส่วนเที่ยวบินระหว่างประเทศ 318,027 เที่ยวบินเพิ่มขึ้น 29.6%
สำหรับจำนวนผู้โดยสารรวม 87,801,146 คน เพิ่มขึ้น 31.2% แบ่งเป็นผู้โดยสารภายในประเทศ 32,844,933 คน เพิ่มขึ้น 33% ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 54,956,213 คน เพิ่มขึ้น 30% (ข้อมูล ณ วันที่ 14 ก.พ.68) ตลอดจนคาดการณ์การเติบโตของปริมาณผู้โดยสาร จะมีเพิ่มขึ้นเป็น 170 ล้านคนต่อปี ในอีก 5 ปี และ จะมีผู้โดยสารประมาณ 210 ล้านคนต่อปี ในอีก 10 ปี ซึ่งสอดคล้องตามแผนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT เพื่อจะรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น
ดังนั้นปัจจัยพื้นฐานของ AOT ยังคงแข็งแกร่งสะท้อนศักยภาพการเติบโตในอนาคต สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางการบินใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่ง AOT มีแผนลงทุนขยายท่าอากาศยานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้ทั้งด้านผู้โดยสารและกิจกรรมเชิงพาณิชย์ผ่านการลงทุนเพิ่มพื้นที่อาคารผู้โดยสารภายในท่าอากาศยานเดิม ไปจนถึงการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ อาทิ
โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารจากเดิม 65 ล้านคนต่อปี เป็น 150 ล้านคนต่อปี ประกอบด้วย โครงการพัฒนาส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกพื้นที่ 100,000 ตารางเมตร เพิ่มการรองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคน, โครงการพัฒนาก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) เพิ่มการรองรับผู้โดยสาร 70 ล้านคน,โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4 เพิ่มศักยภาพรองรับเที่ยวบินได้ถึง 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง รองรับผู้โดยสาร 40 ล้านคนต่อปี ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ โครงการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิม
รวมถึงโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ รองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 60 ล้านคนต่อปี ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2 หรือ ท่าอากาศยานอันดามัน รองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 40 ล้านคน และโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งชาติเชียงใหม่ แห่งที่ 2 หรือท่าอากาศยานล้านนา รองรับปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 20 ล้านคนต่อปี
นายกีรติ กล่าวอีกว่า AOT ยังมีแผนในการเพิ่มรายได้แหล่งใหม่ อาทิ 1.โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ปี พ.ศ.2562 ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ประกอบด้วย โครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น การให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องและโครงการคลังสินค้า ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของผู้ประกอบรายที่ 3 ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ปัจจุบัน AOT อยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชน โดยจะประกาศเชิญชวนในเดือนมีนาคม 2568 และโครงการ 400 Hz และ PC-Air โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul: MRO) โครงการให้บริการการซ่อมขนาดเบาอากาศยาน (Line Maintenance) (โครงการดังกล่าวจะเริ่มรับรู้รายได้ในปี 2569)
2. โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง โครงการก่อสร้าง Junction Building และอาคารจอดรถพร้อมพื้นที่ให้บริการโรงแรมเพื่อเป็นจุดเชื่อมระหว่างการเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางจากทางอากาศไปยังระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงและรถสาธารณะต่าง ๆ 3. โครงการพัฒนาที่ดินแปลง 723 ไร่ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Certify Hub และ Airport Logistics Park) ประกอบด้วยศูนย์จัดการสินค้าเกษตรแบบครบวงจร และเป็น Logistics Park ที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการขนส่งสินค้าทางอากาศ
นอกจากนี้ AOT ยังมีความได้เปรียบด้านศักยภาพการแข่งขันเชิงธุรกิจและนโยบายส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของภาครัฐที่จะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตในระยะยาว AOT จึงมีความเชื่อมั่นทั้งความพร้อมในการสร้างรายได้และสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ไปจนถึงการเป็นส่วนหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป