ตลท. คุมเข้ม! ปรับเกณฑ์ชอร์ตเซล-จำกัด HFT เฉพาะหุ้น SET100 พ่วงคลาย Uptick

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับกฎเกณฑ์ชอร์ตและจำกัด HFT ให้เป็นหลักทรัพย์เฉพาะในกลุ่ม SET100 เท่านั้น พร้อมเสนอยกเลิกมาตรการ Uptick ทุกหลักทรัพย์ ใช้เฉพาะหุ้นที่ราคาลดลงถึงระดับที่กำหนด และยกเลิก Minimum Resting Time


ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. ว่าที่ประชุมคณะกรรมการวันนี้ (19 กุมภาพันธ์ 2568) มีมติเห็นชอบแนวทางปรับปรุงมาตรการเพื่อยกระดับความเชื่อมั่น ที่ได้เริ่มใช้บังคับในช่วงปี 2567 โดยได้พิจารณาแนวทางและมาตรการอย่างรอบด้านเพื่อให้เกิดความเหมาะสมของการใช้มาตรการตามสถานการณ์ มุ่งหวังที่จะเพิ่มความเชื่อมั่นผู้ลงทุน และสร้างเสถียรภาพตลาดหุ้นไทย โดยหลังจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งคาดว่าจะใช้บังคับได้ประมาณปลายไตรมาส 2 ปีนี้

สำหรับการปรับปรุงในครั้งนี้ สามารถสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

(1) การกำกับดูแลการขายชอร์ต

ปรับปรุงคุณสมบัติของหลักทรัพย์ที่สามารถขายชอร์ตได้ ให้เป็นหลักทรัพย์เฉพาะในกลุ่ม SET100 จากเดิมที่กำหนดให้เป็นหลักทรัพย์ในกลุ่ม SET100 และ non-SET100 ที่มีขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูง (คือ มี Market Capitalization เฉลี่ย 3 เดือน ไม่น้อยกว่า 7,500 ล้านบาท และมี Monthly Turnover ในรอบ 12 เดือน ไม่น้อยกว่า 2% รวมทั้งมีการกระจาย Free Float ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุนชำระแล้ว)

กำหนดให้ใช้เกณฑ์ Uptick เมื่อจำเป็น คือ กรณีปกติสามารถใช้เกณฑ์ Zero-Plus Tick สำหรับการขายชอร์ตได้ เว้นแต่เมื่อหลักทรัพย์ใดมีราคาลดลงถึงระดับที่กำหนด (เช่น ≥X% จากราคาปิดของวันก่อนหน้า) จึงจะต้องขายชอร์ตหลักทรัพย์นั้นด้วยเกณฑ์ Uptick ในวันทำการถัดไป

(2) การกำกับดูแล HFT

กำหนดให้ผู้ลงทุนที่ขึ้นทะเบียนส่งคำสั่งซื้อขายแบบ High Frequency Trading (HFT) สามารถส่งคำสั่งซื้อขายได้เฉพาะหลักทรัพย์ในกลุ่ม SET100 ทั้งนี้ไม่รวม Market Maker และหลักทรัพย์บางประเภท

(3) การผ่อนคลายมาตรการที่ได้ประกาศใช้เมื่อปี 2567

ยกเลิกเกณฑ์กำหนดเวลาขั้นต่ำของคำสั่งซื้อขาย (order) ก่อนที่จะสามารถยกเลิกคำสั่ง (Minimum Resting Time) เลื่อนการบังคับใช้เกณฑ์การกำหนดกรอบราคาซื้อขายแบบ Dynamic Price Band เป็นรายหลักทรัพย์ Phase 2 ออกไป

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในเชิงนโยบาย ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะคงมาตรการต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิม และที่จะมีการปรับปรุงในครั้งนี้ให้มีการใช้อย่างต่อเนื่อง โดยจะทบทวนอีกครั้งในปี 2569

Back to top button