MEDEZE มั่นใจ “ATMPs-สเต็มเซลล์” ยกระดับรักษา-เสริมศักยภาพเศรษฐกิจไทย

MEDEZE มั่นใจรัฐพัฒนา “ผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (ATMPs) - สเต็มเซลล์” ช่วยยกระดับคุณภาพรักษาและเสริมศักยภาพเศรษฐกิจไทย ย้ำเป้าปี 68 เติบโต 25-30% พร้อมขยายธุรกิจสู่อาเซียน


นายแพทย์วีรพล เขมะรังสรรค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมดีซ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MEDEZE เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ถึงประเด็นข่าวจากกรณีเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 68 กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ 4 คณะแพทยศาสตร์ชั้นนำ ลงนามประกาศเจตนารมณ์พัฒนาผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (ATMPs) เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงยาและส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ โดย ATMPs เป็นยาที่ใช้เทคโนโลยียีน สเต็มเซลล์ หรือเนื้อเยื่อ มีศักยภาพรักษาโรคพันธุกรรมและโรคร้ายแรงที่ยังไม่มีทางรักษา

โดยตลาด ATMPs ทั่วโลกในปี 2567 มีมูลค่า 2.28 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ราคาต่อครั้งสูงถึง 3-30 ล้านบาท ไทยตั้งเป้าให้ประชาชนเข้าถึงยา ATMPs มาตรฐานภายในปี 2568 และมีผลิตภัณฑ์ ATMPs ในประเทศอย่างน้อย 2 รายการในปี 2569 พร้อมเปิดศูนย์วิจัยและบริการ 5 แห่ง เพื่อผลักดันการพัฒนา คาดสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 1,500 ล้านบาท/ปี

นายแพทย์วีรพล กล่าวว่า ที่ผ่านมา สิ่งที่บริษัทพัฒนาและนำเสนอออกสู่ตลาดอาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับหลายคน หลายฝ่ายอาจไม่เคยรับรู้หรือเข้าใจถึงความสำคัญของผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ขั้นสูง แต่เมื่อบริษัทได้เข้าสู่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และขยายธุรกิจ ผู้คนเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นของการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมการแพทย์

ขณะนี้ MEDEZE ได้ขอข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาครัฐ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการวางแนวทางการจัดตั้ง “Sandbox” ทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ 1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2. ศูนย์ National ATMP ของกระทรวงสาธารณสุข (รพ. บางรัก (คร.)) 3. โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต 4. โรงพยาบาลราชวิถี (กรมการแพทย์) และ 5. สถาบันมะเร็งแห่งชาติ (กรมการแพทย์) รายละเอียดต้องรอการยืนยันจากภาครัฐอีกครั้ง

ทั้งนี้ การที่ภาครัฐเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในโครงการนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงต้องอาศัย งบประมาณและการลงทุนด้านวิจัยที่สูง ซึ่งหากภาครัฐและเอกชนสามารถทำงานร่วมกันได้ จะช่วยเร่งกระบวนการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“สิ่งที่ประเทศไทยต้องการในขณะนี้คือผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมของการรักษา ซึ่งจากรายงานของต่างประเทศพบว่า การพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูงได้มาตรฐาน สามารถช่วยยกระดับคุณภาพการรักษาได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น ประเทศไทยควรมีงานวิจัยและนวัตกรรมของตัวเอง เพื่อสร้างมาตรฐานและแนวทางการรักษา” นายแพทย์วีรพล กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในท้ายที่สุดการแข่งขันและการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์จะต้องมุ่งไปสู่การสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศ
จริง ๆ แล้ว ผมเชื่อว่า Sandbox ควรเป็นของทุกภาคส่วน ควรกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจน และพัฒนา โปรโตคอล (Protocol) พร้อมคู่มือปฏิบัติงาน ออกมาให้เป็นรูปธรรม เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่มีใครรู้ว่าควรดำเนินการอย่างไร หรือจะต้องเขียนข้อกำหนดอะไรบ้างสถานการณ์นี้คล้ายกับช่วงแรกที่มีการเริ่มต้นระบบ ISO ซึ่งในตอนนั้นเรายังไม่ทราบว่าควรเขียนโปรโตคอลและกำหนดหลักเกณฑ์อย่างไร

Sandbox ควรเป็นพื้นที่ที่ก่อให้เกิด องค์ความรู้ใหม่ และช่วยพัฒนาข้อบ่งชี้ทางการแพทย์สำหรับ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ขั้นสูง ผมต้องการให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกัน และอยากเห็นการพัฒนานายแพทย์วีรพล กล่าว

สำหรับแผนการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ หนึ่งในประเด็นที่เราพบคือ การใช้สารเคมีในผลิตภัณฑ์ย้อมผมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของผู้ใช้ เนื่องจากเราเป็นบริษัทที่มุ่งเน้นด้าน Biotechnology เราจึงกำลังทำการวิจัยเกี่ยวกับ อาหารของเซลล์ (Cell Nutrition) ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นเซลล์ที่ทำหน้าที่ผลิตเม็ดสีในเส้นผมให้กลับมาทำงานได้อีกครั้ง จากเดิมที่ไม่สามารถผลิตเม็ดสีได้ ก็อาจกลับมาสร้างเม็ดสีใหม่ ทำให้เส้นผมมีสุขภาพดีและคืนสีเดิมได้ตามธรรมชาติ หากการวิจัยนี้ประสบความสำเร็จ ผู้คนอาจไม่จำเป็นต้องย้อมผมทุกสัปดาห์อีกต่อไป แต่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยบำรุงเซลล์เม็ดสีของเส้นผมได้แทน ซึ่งจะช่วยลดการใช้สารเคมี ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวยังอยู่ในช่วงการวิจัย เชื่อว่า นี่คืออีกหนึ่งแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัท

ทั้งนี้บริษัท มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาในการรักษา ด้วยผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงแบบความเสี่ยงต่ำที่ต้องใช้เซลล์ของตนเองเท่านั้น สำหรับกลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมของร่างกาย เช่น โรคไตเสื่อม, โรคข้อเข่าเสื่อม, การชะลอวัย หรือโรคตับแข็ง เป็นต้น ซึ่งถือเป็นโรคที่มีสเกลใหญ่และสามารถช่วยประชาชนได้จำนวนมาก

ส่วนผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (ATMPs) ที่มีความเสี่ยงสูงจะทำได้เฉพาะในโรงพยาบาลหรือสถาบันการแพทย์เท่านั้น เพราะมีความเสี่ยงในการทำการรักษามีโอกาสเกิดการแพ้ได้ ทั้งนี้โรคที่เกี่ยวข้องกับการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะมีความเกี่ยวข้องกับการตกแต่งหรือตัดต่อยีน ซึ่งมีอัตราการเกิดในสังคมค่อนข้างต่ำ ประมาณ 0.01% เท่านั้น

ทั้งนี้ ผมเชื่อว่าในอีกประมาณ 4-5 ปีข้างหน้า หากเราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานสูงขึ้นแล้ว จะสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในระดับที่กว้างขวางได้ โดยเฉพาะในอีก 2 ปีข้างหน้า รายได้จากแค่สองโรคใหญ่ ๆ อย่างโรคข้อเข่าเสื่อมและโรคตับเสื่อม จะสามารถสร้างรายได้มหาศาล ส่วนทิศทางธุรกิจในปี 2568 ได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ที่ 25-30% จากปีก่อน อีกทั้งวางแผนเกี่ยวกับการขยายตลาดไปยังประเทศในอาเซียน

“เราขยันทำงานทุกวัน เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ให้กับประเทศ เราต้องการเป็นองค์กรที่คนไทยภาคภูมิใจ และพร้อมมอบผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุน วันนี้ทางภาครัฐได้เห็นและรับรองแนวทางการพัฒนาของประเทศในด้านผลิตภัณฑ์แพทย์ขั้นสูง ซึ่งเราเชื่อว่าเราอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้อง โดยบริษัทของเราเป็นบริษัทแรกที่เข้าสู่แต่ละหลักทรัพย์และคาดว่าจะเป็นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย เรามั่นใจว่าบริษัทจะเติบโตและไปได้ไกลก่อนใคร ” นายแพทย์วีรพล กล่าวว่า

Back to top button