PTT กวาดยอดขายปี 67 ทะลุ 3 ล้านลบ. รุกขยายพลังงาน เสริมแกร่งโครงสร้างพื้นฐาน

ปตท. รายงานยอดขายปี 67 ที่ 3.09 ล้านล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิ 90,072 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ทั้งท่อส่งก๊าซฯ เส้นที่ 5 และโรงแยกก๊าซ GSP#7 คืบหน้าเกือบสมบูรณ์


บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)หรือ PTT รายงานผลการดำเนินงานงวดปี 2567 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 มีกำไรสุทธิ ดังนี้

ปตท. รายงานยอดขายปี 2567 อยู่ที่ 3,090,453 ล้านบาท ลดลง 1.7% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมียอดขายอยู่ที่ 3,144,884 ล้านบาท และมี EBITDA จำนวน 396,234 ล้านบาท ลดลง 30,661 ล้านบาท หรือ 7.2% จากปี 2566 ที่มีจำนวน 426,895 ล้านบาท โดยหลักมาจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น โดยธุรกิจการกลั่นมีผลการดำเนินงานลดลงจาก Market GRM ที่ลดลง

ทั้งนี้ ยังมีผลขาดทุนสต๊อกน้ำมันสุทธิกับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับของสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้น โดยในปี 2567 ปตท. และบริษัทย่อยมีผลขาดทุนประมาณ 13,000 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2566 ขาดทุนอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจปิโตรเคมีมีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นตามส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบ และปริมาณขายที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่กลุ่มธุรกิจก๊าซฯ มีผลการดำเนินงานลดลงจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ เนื่องจากต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้นจากการเริ่มใช้นโยบาย Single Pool แม้ว่าราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายจะปรับเพิ่มขึ้นก็ตาม ด้านธุรกิจจัดหาและค้าส่งก๊าซฯ รวมถึงธุรกิจ NGV มีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากต้นทุนค่าเนื้อก๊าซฯ ที่ลดลงตามราคา Pool Gas เช่นเดียวกับธุรกิจระบบท่อส่งก๊าซฯ ที่มีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากปริมาณการจองใช้ท่อส่งก๊าซฯ ที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการของลูกค้า

ขณะที่กลุ่มธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีกมีผลการดำเนินงานลดลงจากกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรและปริมาณขายเฉลี่ยที่ลดลง โดยหลักมาจากน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นตามรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมซ่อมบำรุงที่มากขึ้น

ส่วนในปี 2567 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 90,072 ล้านบาท ลดลง 21,952 ล้านบาท หรือ 19.6% จากปี 2566 ที่มีกำไรสุทธิ 112,024 ล้านบาท โดยหลักมาจาก EBITDA ที่ลดลง ประกอบกับค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ลดลง

อีกทั้งในปี 2567 ปตท. รับรู้รายการ Non-recurring Items สุทธิภาษีตามสัดส่วนเป็นขาดทุนประมาณ 4,500 ล้านบาท โดยหลักมาจากการด้อยค่าและประมาณการค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตของกลุ่มบริษัท Vencorex และ PTTAC ของ PTTGC ประมาณ 10,500 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2566 มีการรับรู้รายการ Non-recurring Items สุทธิภาษีตามสัดส่วนเป็นกำไรประมาณ 300 ล้านบาท โดยหลักมาจากการขายสัดส่วนการลงทุนในโครงการ Cash-Maple ของ PTTEP

นอกจากนี้ ปตท. ได้เปิดเผยความคืบหน้าในโครงการสำคัญของกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเสริมความมั่นคงในการจัดหาก๊าซธรรมชาติและรองรับการเติบโตในอนาคต ดังนี้

โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งความคืบหน้าระบบท่อส่งก๊าซฯ เส้นที่ 5 (จากระยองไปไทรน้อย – โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ/ใต้) ณ เดือนธันวาคม 2567 แล้วเสร็จ 99.11% (รวมการก่อสร้างทั้ง 3 ส่วน) และความคืบหน้าระบบท่อส่งก๊าซฯ บางปะกง – โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ณ เดือนธันวาคม 2567 แล้วเสร็จ 65.46%

โครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 (GSP#7) ทางปตท. ก่อสร้าง โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 (GSP#7) ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อทดแทนกำลังการผลิตของ โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 (GSP#1) และเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตของโรงแยกก๊าซฯ โดย GSP#7 ถูกออกแบบให้รองรับปริมาณก๊าซธรรมชาติสูงสุด 460 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทั้งนี้ ความคืบหน้าการก่อสร้างของโครงการ ณ เดือนธันวาคม 2567 แล้วเสร็จ 93.12%

โครงการ LNG โดยโครงการ LNG Receiving Terminal 3 บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด (บริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ถือหุ้น 30% และ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ถือหุ้น 70%) เป็นผู้ดำเนินการถมทะเล โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) ด้วยมูลค่าการลงทุนร่วมกันในส่วนของการถมทะเลประมาณ 12,900 ล้านบาท โครงการนี้ให้สิทธิในการก่อสร้าง LNG Terminal 3 (ช่วงที่ 1) ขนาดไม่ต่ำกว่า 5 ล้านตัน คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 28,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ประมาณปี 2571

Back to top button