
“อนุฯ นบข.” อัด 3 มาตรการ! การันตีราคา “ข้าวนาปรัง” ได้ไม่ต่ำกว่าตันละ 8,000 บาท
มติ อนุฯ นบข. ด้านการตลาด เห็นชอบ 3 มาตรการ ช่วยชาวนา พยุงราคาข้าว เตรียมเสนอที่ประชุมใหญ่นบข. ก่อนชงครม. อนุมัติสัปดาห์หน้า การันตีเกษตรกรรับไม่ต่ำกว่าตันละ 8,000 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (21 ก.พ.68) ความคืบหน้ากรณีกลุ่มชาวนาในพื้นที่ภาคกลางและเหนือตอนล่าง ประท้วงและขู่ปิดถนน เรียกร้องรัฐบาลช่วยแก้ปัญหาราคาข้าวนาปรังตกต่ำในปีนี้
ล่าสุด นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ ด้านการตลาด ได้เรียกประชุมอนุฯ นบข. ด้านการตลาด ในช่วงเย็นวานนี้ (20 ก.พ.68) หลังเข้าพบนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล
โดยที่ประชุมดังกล่าว มีนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, ปลัดกระทรวงพาณิชย์, รองปลัดเกษตรฯ, อธิบดีกรมการข้าว, อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร, สมาคมโรงสีข้าวไทย, สมาคมโรงสีข้าวอีสาน, นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย, นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมกันพิจารณามาตรการการช่วยเหลือราคาข้าวนาปรังปี 2568 โดยได้มีมติเห็นชอบ 3 มาตรการ ใช้งบประมาณรวม 1,893.53 ล้านบาท ดังนี้
- ขยายโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปรัง ช่วยค่าฝากเก็บ 1,500 บาทต่อตัน ระยะเวลา 1-5 เดือน ในพื้นที่ 72 จังหวัด ปริมาณ 1.5 ล้านตัน วงเงิน 1,219.13 ล้านบาท
- การเพิ่มช่องทางการตลาดในประเทศโดยเปิดจุดรับซื้อ รัฐสนับสนุนค่าบริหารจัดการตันละ 500 บาท ผู้ประกอบการช่วยซื้อในราคานำตลาด 300 บาทต่อตัน เป้าหมาย 300,000 ตัน ในพื้นที่ 72 จังหวัด งบประมาณ 150 ล้านบาท เป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรที่ต้องการจะขายเลย
- โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อกข้าว ช่วยดอกเบี้ยผู้ประกอบการ 6% สำหรับผู้ประกอบการเก็บสต็อก 2 – 6 เดือน และผู้ประกอบการรับซื้อราคาสูงกว่าตลาด 200 บาทต่อตัน ขึ้นไป เป้าหมาย 2 ล้านตัน วงเงิน 524.40 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีมาตรการคู่ขนาน ในการกระตุ้นการบริโภคร่วมกับโมเดิร์นเทรดดึงซัพพลายส์ (Supply) ออกจากตลาดจำนวน 500,000 ตันข้าวเปลือก จัดทำข้าวถุงจำหน่ายในราคาประหยัดต่อไป ส่วนการส่งออกเร่งรัดการขอให้จีนซื้อข้าวของไทยตามสัญญาข้อตกลงระหว่างรัฐ ในปริมาณ 280,000 ตัน โดยเร็วที่สุด พร้อมเปิดตลาดส่งออกใหม่ที่แอฟริกาใต้ ซึ่งมีความต้องการบริโภคข้าวไทยเป็นอย่างมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มาตรการทั้ง 3 ข้อที่คณะอนุกรรมการ นบข. เห็นชอบ จะต้องส่งต่อให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ชุดใหญ่ ซึ่งมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน พิจารณาอนุมัติ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบอย่างเป็นทางการ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในสัปดาห์หน้า