
SAMART เปิดงบปี 67 พลิกกำไร 133 ล้าน มั่นใจรายได้ปี 68 แตะ 1.35 หมื่นลบ.
SAMART โชว์งบปี 67 พลิกกำไร 133 ล้านบาท ตั้งเป้ารายได้ปี 68 แตะ 1.35 หมื่นล้านบาท รับโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น และการสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
นาย วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาธุรกิจใหม่ บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAMART เปิดเผยว่า แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจภายในประเทศในปี 2567 จะอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ยังคงมีเสถียรภาพ โดยในไตรมาสที่ 4 บริษัทมีรายได้รวม 3,602 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 171 ล้านบาท
สำหรับผลประกอบการทั้งปี 2567 บริษัทมีรายได้รวม 10,157 ล้านบาท ลดลง 140 ล้านบาท จากปีก่อนหน้า โดยมีรายได้จากการขายงานตามสัญญาและการให้บริการรวม 10,042 ล้านบาท ลดลง 97 ล้านบาท ปัจจัยหลักมาจากสายธุรกิจ Digital Communications ซึ่งในปี 2567 ไม่มีการส่งมอบและติดตั้งเพิ่มเติมสำหรับโครงการ Digital Trunked Radio System ของกระทรวงมหาดไทย (MOI) เช่นในปี 2566 ทำให้รายได้ลดลง 1,621 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม รายได้จากสายธุรกิจอื่นมีการขยายตัว โดยสายธุรกิจ Utilities and Transportations มีรายได้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจก่อสร้างสายส่งสถานีไฟฟ้าแรงสูงแบบครบวงจร 893 ล้านบาท ธุรกิจการบริหารจัดการจราจรทางอากาศในกัมพูชาเพิ่มขึ้น 111 ล้านบาท และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้น 73 ล้านบาท นอกจากนี้ รายได้จากค่าบริการ Airtime ภายใต้สายธุรกิจ Digital Communications เพิ่มขึ้น 292 ล้านบาท ขณะที่สายธุรกิจ Digital ICT Solution มีรายได้เพิ่มขึ้น 181 ล้านบาท
ในปี 2567 บริษัทสามารถพลิกฟื้นจากภาวะขาดทุนสุทธิ 390 ล้านบาท ในปี 2566 กลับมามีกำไรสุทธิ 133 ล้านบาท โดยหากไม่รวมการตั้งสำรองหนี้สินระยะยาวจากข้อพิพาททางกฎหมาย 286 ล้านบาท บริษัทจะมีกำไรสุทธิสูงถึง 420 ล้านบาท
สายธุรกิจ Digital ICT Solution ซึ่งดำเนินงานโดย บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) มีรายได้จากการขายงานตามสัญญาและบริการรวม 4,097 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อนหน้า โดยมีการเซ็นสัญญาโครงการใหม่รวมมูลค่า 4,784 ล้านบาท และมีมูลค่างานในมือ (Backlog) ณ สิ้นปี 2567 รวม 4,361 ล้านบาท
สายธุรกิจ Utilities and Transportations มีรายได้รวม 5,425 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% จากปีก่อนหน้า โดยได้แรงหนุนจากธุรกิจก่อสร้างโครงการสายส่งสถานีไฟฟ้าแรงสูงแบบครบวงจรของ บริษัท เทด้า จำกัด ที่มีรายได้เพิ่มขึ้น 893 ล้านบาท รวมถึงธุรกิจบริหารจราจรทางอากาศในกัมพูชา ภายใต้ บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ที่มีรายได้เพิ่มขึ้น 111 ล้านบาท ทั้งนี้ จำนวนเที่ยวบินที่บริหารจัดการมีทั้งสิ้น 103,887 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อนหน้า โดย ณ สิ้นปี 2567 สายธุรกิจนี้มีมูลค่างานในมือ (Backlog) รวม 8,000 ล้านบาท
สายธุรกิจ Digital Communications ซึ่งดำเนินงานโดย บริษัท สามารถดิจิตอล จำกัด (มหาชน) มีรายได้รวม 515 ล้านบาท ลดลง 72% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากไม่มีรายได้จากการส่งมอบโครงการ Digital Trunked Radio System อย่างไรก็ตาม รายได้จากค่าบริการ Airtime เพิ่มขึ้น 292 ล้านบาท โดยมีมูลค่างานในมือ (Backlog) ณ สิ้นปี 2567 รวม 923 ล้านบาท
สำหรับแนวโน้มในปี 2568 บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมที่ 13,500 ล้านบาท โดยคาดการณ์ว่าสายธุรกิจ Digital ICT Solution จะมีรายได้ 6,500 ล้านบาท จากโครงการที่เลื่อนมาจากปีก่อนหน้า และโครงการใหม่ที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ขณะที่สายธุรกิจ Utilities & Transportations ตั้งเป้ารายได้ 6,000 ล้านบาท โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการเปิดสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
นอกจากนี้ บริษัท เทด้า และ บริษัท ทรานเส็ค มีแผนขยายธุรกิจไปสู่การให้บริการ Digital Substation เพื่ออัปเกรดสถานีไฟฟ้าแบบเดิม ซึ่งคาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งแหล่งรายได้ที่สำคัญของกลุ่มสามารถในอนาคต
นายวัฒน์ชัยย้ำว่าบริษัทฯ มีความเชื่อมั่นว่าปี 2568 จะเป็นปีที่กลุ่มสามารถเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จากโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น และการสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลให้ผลประกอบการเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้