
อุตุฯ ประกาศฤดูร้อนปี 68 เริ่ม 28 ก.พ.นี้ พร้อมเตือนอากาศแปรปรวน
กรมอุตุนิยมวิทยา เตรียมประกาศเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทย 2568 ตั้งแต่ 28 ก.พ. ถึงกลางเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส อย่างต่อเนื่อง พร้อมคาดการณ์อากาศแปรปรวนระหว่างวันที่ 23-25 ก.พ. นี้ เสี่ยงฝนตกหนัก พายุฤดูร้อน และลมกระโชกแรงในหลายพื้นที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (21 ก.พ.68) นางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยา จะประกาศเข้าสู่ ฤดูร้อนของประเทศไทย ประจำปี 2568 เริ่มวันที่ 28 ก.พ.นี้ สิ้นสุดประมาณกลางเดือนพฤษภาคม เนื่องจากมวลอากาศเย็นอ่อนกำลังลง อากาศร้อนจะเคลื่อนที่เข้ามาปกคลุมแทน โดยอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยมากกว่า 35 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ซึ่งในปีนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า ฤดูร้อนจะน้อยกว่าปี 2567
แม้ในปีนี้จะยังมีปรากฏการณ์ “ลานีญา” จะช่วยปริมาณฝนมากกว่าปกติ อยู่ที่ 10-20% ของพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลให้หลายพื้นที่มีฝน หรือความชื้นในอากาศสูง ก็จะช่วยบรรเทาความร้อนได้บ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าอากาศจะไม่ร้อน โดยบางจังหวัดมีโอกาสที่จะมีอุณหภูมิสูงกว่า 42 องศาเซสเซียสได้ อาทิ แม่ฮ่องสอน, ตาก, เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง, อุตรดิตถ์, สุโขทัย, พิษณุโลก, เลย, หนองคาย, อุดรธานี, หนองบัวลำภู, ขอนแก่น และชัยภูมิ
ขณะที่อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบน แตะ 35-36 องศาเซลเซียส จากค่าปกติ 35.4 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) และภาคกลาง ที่ต้องเฝ้าระวังอากาศร้อนสลับกับพายุฤดูร้อนบางช่วง อาจจะสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน พื้นที่เกษตร และสุขภาพประชาชน
เตือนอากาศแปรปรวน 23-25 ก.พ.
วันเดียวกันนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศเตือน อากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ และคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ฉบับที่ 3 (34/2568) โดยช่วงวันที่ 23-25 ก.พ.68 บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และภาคตะวันออก จะมีสภาพอากาศแปรปรวน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าผ่า ลมกระโชกแรง มีลูกเห็บตกบางแห่ง ในบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอุณหภูมิจะลดลง
ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง หรืออยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ส่วนเกษตรกรควรเสริมความแข็งแรงให้ไม้ผล และเตรียมป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผลผลิตทางการเกษตรและสัตว์เลี้ยง รวมทั้งระมัดระวังสุขภาพ ช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับจะมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาเคลื่อนผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และประเทศลาวตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน
สำหรับภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณภาคใต้ระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน เดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันดังกล่าว