PTT เปิดแผนลงทุนปี 68 เน้นกลยุทธ์ปรับโครงสร้าง ตั้งเป้า EBITDA แตะ 3 หมื่นล.

PTT เปิดแผนลงทุนปี 68 ด้วยงบ 2.5 หมื่นล้านบาท เน้นปรับโครงสร้างธุรกิจเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันกับตลาดโลก พร้อมตั้งเป้า EBITDA ประมาณ 30,000 ล้านบาท ภายในปี 69 รวมถึงมุ่งมั่นขับเคลื่อนการเติบโตควบคู่กับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (21 ก.พ. 68) ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยผลการดำเนินงาน ปตท. ปี 2567 ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน ทั้งความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ การเติบโตเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ภาวะเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน ผันผวน ความกังวลต่อนโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา และแรงกดดันจากอุปสงค์ที่ลดลงและอุปทานที่มากเกินความต้องการในธุรกิจปีโตรเลียมและปิโตรเคมี

อีกทั้งปีที่ผ่านมา ปตท. ดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ใหม่ที่กลับมาเน้นธุรกิจหลัก Hydrocarbon ที่ถนัดและเชี่ยวชาญ ทบทวนกลยุทธ์ Non-Hydrocarbon เน้นธุรกิจที่เกี่ยวข้อง มี Synergy ในกลุ่ม ปตท. รวมถึงเน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายในยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน บริหารต้นทุน ด้วยการทำ Operational Excellence ทั้งกลุ่ม ปตท. นำ digital มาใช้

นอกจากนี้ มุ่งดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานการดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ส่งผลให้ ปตท. และบริษัทย่อย ปี 2567 มีกำไรสุทธิ 90,072 ล้านบาท พร้อมจ่ายเงินปันผลสำหรับปี 2567 ที่ 2.10 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราผลตอบแทนที่ร้อยละ 6.6 และมีส่วนช่วยภาครัฐในการบริหารจัดการต้นทุนในช่วงที่ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นจากสภาวะปกติเพื่อลดผลกระทบให้แก่ประชาชน

ดร. คงกระพัน กล่าวว่า “ผลประกอบการที่แข็งแกร่ง เกิดจากบริหารจัดการและรวมพลังในองค์กร มีกำไรหลักมาจากธุรกิจ Upstream แม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาครัฐ มาชดเชยกับธุรกิจ Downstream ที่ได้รับความกดดันจากปัจจัยด้านราคา แต่เรื่องสำคัญคือการบริหารต้นทุน และควบคุมค่าใช้จ่ายทั้งกลุ่ม ปตท. รวมถึงการบริหารรายการพิเศษและบริหารผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนและเงินกู้ได้ดี”

สำหรับแผนงานหลักในระยะ 1-5 ปี (ปี 2568-2572) บริษัทวางงบลงทุนด้วยวงเงิน 55,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 2568 ปตท. กำหนดวงเงินที่ 25,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนอยู่ที่ 26,000 ล้านบาท โดยจะเน้นธุรกิจแก๊สและและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติ (Infrastructure) ขณะที่บางส่วนจัดสรรงบให้กับ ธุรกิจ Trading

ดร. คงกระพัน กล่าวว่า “บริษัทยังอยู่ระหว่างการทบทวน และมองว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนสูง เน้นเพิ่มประสิทธิภาพและทำกำไรจากธุรกิจเดิมเป็นหลัก”

อีกทั้ง ปตท. มุ่งเน้นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจ เพื่อเพิ่ม EBITDA ผ่านกลยุทธ์ในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยในระยะสั้น ปตท. ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจ Non-Hydrocarbon ตามแผน พร้อมเดินหน้าโครงการ D1-Domestic Products Mgmt ซึ่งตั้งเป้าสร้างมูลค่าเพิ่มประมาณ 3,300 ล้านบาทต่อปี ภายใน 3 ปี

นอกจากนี้ โครงการ MissionX-Operational Excellence มีเป้าหมายเพิ่ม EBITDA ของกลุ่ม ปตท. ประมาณ 30,000 ล้านบาท ภายในปี 2569 ขณะเดียวกัน ปตท. ยังให้ความสำคัญกับ Digital Transformation เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงาน คาดว่าการปรับปรุงกระบวนการผลิตจะช่วยเพิ่ม Productivity ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี ภายในปี 2569

สำหรับระยะกลาง ปตท. วางแผน Reshape P&R Portfolio และพัฒนา LNG Hub เพื่อเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ขณะที่ระยะยาว บริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการพลังงานสะอาด อาทิ CCS (Carbon Capture and Storage) และ ไฮโดรเจน (H₂) เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานที่ยั่งยืน

ขณะเดียวกัน ในส่วนของธุรกิจ Petrochemical บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรหลายรายในทิศทางที่ดี ขณะที่ธุรกิจสำรวจและผลิตทรัพยากรธรรมชาติยังคงต้องการพาร์ทเนอร์เพื่อร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ ซึ่งต้องใช้งบประมาณสูง ทั้งนี้การหาพาร์ทเนอร์ในธุรกิจต่างๆ จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลักของบริษัท

“อย่างไรก็ตาม ปีนี้ยังคงท้าทาย ปตท. ยังไม่มีแผนขยายธุรกิจใหม่ในช่วงนี้ ยังคงมุ่งเน้นการดำเนินงานในธุรกิจปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพและสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าเดิม ขณะเดียวกันยังมุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางพลังงาน สร้างการเติบโตควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก ต้องสร้างความแข็งแรงภายในองค์กร ลดความเสี่ยง รักษาเสถียรภาพให้กับธุรกิจ พิจารณาการลงทุนด้วยความระมัดระวัง พร้อมดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างสมดุล พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน” ดร.คงกระพัน กล่าวทิ้งท้าย

Back to top button