IMF จี้ “ธปท.” หั่นดอกเบี้ย! หนุนเงินเฟ้อ-ลดภาระหนี้ ก่อนเศรษฐกิจสะดุด

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ แนะนำธนาคารแห่งประเทศไทย ลดดอกเบี้ยเพิ่ม หลังเศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาด หวังหนุนเงินเฟ้อและช่วยบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนที่แตะ 4.86 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ กนง. เตรียมประชุม 26 ก.พ.นี้ นักเศรษฐศาสตร์ คาดคงดอกเบี้ย ที่ 2.25% เช่นเดิม


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีคำแถลงการณ์ล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดี (20 ก.พ.68) แนะนำให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม เพื่อช่วยเพิ่มอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำและลดภาระให้กับผู้กู้ยืมในประเทศ

ทั้งนี้ ในคำแถลงการณ์ดังกล่าวได้แสดงความชื่นชมต่อการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนตุลาคม 2567 และยังแนะนำให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนเงินเฟ้อและให้ความช่วยเหลือในด้านการชำระหนี้ของผู้กู้ยืม ซึ่งหนี้สินครัวเรือนไทยได้เพิ่มขึ้นถึง 4.86 แสนล้านดอลลาร์ จากประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์ ในช่วงต้นปีพ.ศ. 2562

โดยคำแนะนำของ IMF นั้น มีที่มาจากการเรียกร้องของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย หลังจากที่อัตราการเติบโตของ GDP ประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2567) อยู่ที่ 2.5% ซึ่งต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีกำหนดประชุมในวันพุธที่ 26 ก.พ.นี้ เพื่อพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ย

เนื่องจากความไม่แน่นอนในสภาพเศรษฐกิจยังคงสูงอยู่ หน่วยงานรัฐควรจะเตรียมพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนท่าทีนโยบายการเงินโดยอ้างอิงตามข้อมูลและการคาดการณ์” IMF ระบุในแถลงการณ์ดังกล่าว

ทั้งนี้ในเดือนธันวาคม 2567 กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% หลังจากที่ก่อนหน้านั้นปรับลดลงไป 0.25% ในเดือนตุลาคม ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ 10 ใน 13 คน จากการสำรวจของ Bloomberg News คาดว่า กนง. จะยังคงดอกเบี้ยไว้เหมือนเดิมในการประชุมที่จะถึงนี้

ดร.ลลิตา เธียรประสิทธิ์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในการประชุม กนง. วันที่ 26 ก.พ. นี้ มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25% ต่อเนื่อง โดย กนง. มีแนวโน้มรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ภายใต้ความไม่แน่นอนที่มีอยู่สูง โดยเฉพาอย่างยิ่งความเสี่ยงจากนโยบายปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ

ขณะที่โมเมนตัมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ คาดว่า จะยังขยายตัวได้ใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวในไตรมาส 4/2567 ที่อยู่ที่ 3.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเร่งส่งออก และการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2568 มีความเป็นไปได้ที่ กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 1-2 ครั้ง โดย กนง. คงให้น้ำหนักกับความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินภายในประเทศเป็นสำคัญ ส่วนทิศทางการผ่อนคลายนโยบายการเงินทั่วโลกที่ล่าช้าออกไปตามธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด (Fed) คงไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ กนง. นำมาพิจารณาจังหวะในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของไทย

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2568 จากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก โดยการส่งออกของไทยในปี 2568 คาดว่า จะชะลอตัวลงจากผลกระทบของสงครามการค้ารอบใหม่ ขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันจากภาคการผลิตที่ยังไม่ฟื้นตัว และการใช้จ่ายของครัวเรือนที่มีโมเมนตัมชะลอลงท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของครัวเรือนได้จำกัดและในระยะสั้นเท่านั้น

Back to top button