
เดือด! ดีเอสไอ เตรียมถกคดี “ฮั้วเลือก สว.67” – สภาสูงโต้กลับ ยื่นถอดถอน รมว.ยุติธรรม
กรมสอบสวนคดีพิเศษ เตรียมประชุม 25 ก.พ.นี้ พิจารณารับ “ฮั้วเลือก สว.67” เป็นคดีพิเศษ ด้าน “มงคล” ประธานวุฒิสภา ชี้มาถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ สภาสูงโต้กลับ จ่อยื่นถอดถอน รมว.ยุติธรรม เดือดปมกล่าวหา อั้งยี่ ซ่องโจร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียมเปิดประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ วันที่ 25 ก.พ.68 เพื่อพิจารณาการร้องเรียนกรณี “ฮั้วเลือก สว. 67” เป็นคดีพิเศษ โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม ท่ามกลางข้อถกเถียงถึงอำนาจหน้าที่ของดีเอสไอ และผลกระทบต่อกระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.)
ทั้งนี้ บอร์ดคดีพิเศษ ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 หรือ 15 คนจากทั้ง 22 คน เป็นต้นไป ให้ความเห็นชอบจึงจะรับเป็นคดีพิเศษได้
สำหรับบอร์ดคดีพิเศษ มีนายภูมิธรรม เป็นประธาน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธาน และกรรมการอีก 20 คน อาทิ ปลัดกระทรวงยุติธรรม, ปลัดกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงมหาดไทย, อัยการสูงสุด, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ,เจ้ากรมพระธรรมนูญ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่โรงแรมสวนสนปฏิพัทธ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 21 ก.พ.68 นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา พร้อม สว. ส่วนหนึ่ง เปิดแถลงข่าวกรณี มีกลุ่ม สว.สำรอง ยื่นเรื่องขอดีเอสไอ รับเรื่อง “ฮั้วเลือก สว. 67” เป็นคดีพิเศษ โดยยืนยันว่ากระบวนการเลือก สว. ปี 67 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อย่างเคร่งครัด พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การร้องเรียนดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้ง และอาจกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภา
“สว. เข้ามาอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ตามเงื่อนไขและระเบียบที่ กกต. กำหนด และทำหน้าที่ของ สว. อย่างตรงไปตรงมา ไม่ฝักใฝ่หรือเกี่ยวข้องกับผู้ใด ซึ่งการตรวจสอบของ กกต. นั้นเป็นไปตามอำนาจและหน้าที่ของ กกต. ส่วนหน่วยงานที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่ออกมาให้ข่าวนั้น ทำให้ สว. ต้องมาปกป้องสิทธิ์และศักดิ์ศรี” นายมงคล กล่าว

ด้าน พ.ต.อ.ทวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ดีเอสไอได้รับเรื่องร้องเรียนแล้วและอยู่ระหว่างการสอบสวน หากมีความผิดทางอาญาอื่นที่มีลักษณะการกระทำเป็นกระบวนการที่ส่งผลกระทบต่อสังคม หรือมีผู้ทรงอิทธิพลเกี่ยวข้อง ก็จะสามารถเข้าเป็นคดีพิเศษได้ แต่ถ้าเกี่ยวข้องกับกฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือ กกต. ก็ต้องให้หน่วยงานดังกล่าวรับไป
“ดีเอสไอไม่รับเรื่องไว้ไม่ได้ เพราะมีผู้มาร้องทุกข์ ไม่มีอคติกับผู้ใด ก่อนหน้านี้ผู้ร้องนำโพยตัวเลขมาให้ผมดูก่อน จึงถามไปว่าตัวเลขนี้ชื่อใคร ปรากฏว่าเป็นชื่อ สว. อยู่ 138 คน ตัวสำรองอีก 2 คน อยากกราบเรียน สว. ครับ เราเคารพท่าน การเป็นคดีพิเศษเป็นการพิสูจน์ว่าท่านไม่ได้ทำผิด” พ.ต.อ. ระบุ
นอกจากนี้ ดีเอสไอได้ทำหนังสือถึง กกต. เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลือกตั้ง สว. โดยสำนักงาน กกต. ตอบกลับว่า อยู่ระหว่างการสอบสวนตามมาตรา 49 ของ พระราชบัญญัติการได้มาซึ่ง สว.

ด้าน นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีต สว. ระบุผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ในวันที่ 21 ก.พ.68 โดยระบุว่า การฮั้วเลือก สว. เป็นอำนาจหน้าที่เฉพาะของ กกต. หรือไม่ ต้องไปดูว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่ การกระทำเดียวกันอาจเป็นความผิดกฎหมายการได้มาซึ่ง สว. ได้ ขณะเดียวกันอาจเป็นความผิดกฎหมายอาญา ข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร ฟอกเงินหรือฐานอื่น ดังนั้นดีเอสไอ จึงมีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีผู้ทำผิดข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร ฟอกเงินหรือฐานอื่น
“…ประชาชนทั้งประเทศ สื่อมวลชนทราบความดี มีการบล็อกโหวต ลงคะแนนเป็นชุด ๆ มีพฤติการณ์อื่นที่ชัดเจน จนถูกเรียก สว. สีน้ำเงิน ปัญหาใหญ่อยู่ที่ กกต. ไม่ทำหน้าที่ รับรองผลเลือกไปแล้ว แต่ไม่ตรวจสอบการร้องเรียน” ความเห็นส่วนหนึ่งที่นายเสรีโพสต์

ขณะที่ นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะนักกฎหมาย สมาชิกพรรคภูมิใจไทย ตั้งคำถามถึงอำนาจของดีเอสไอในการรับคดีนี้ โดยตั้งข้อสังเกตว่าอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก สว. ได้รับการรับรองจาก กกต. แล้ว
- แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะบอกว่าอาจรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา สามารถทำได้เพราะถือกฎหมายคนละฉบับ แต่เมื่อพิจารณาให้ลึกซึ้งและละเอียดแล้ว การพ้นตำแหน่งของ สว. ภายหลังจาก กกต. รับรองแล้ว ย่อมเป็นไปตามมาตรา 111 ของรัฐธรรมนูญ แม้ดีเอสไอจะมีการดำเนินคดีก็อาจทำได้เฉพาะบุคคล แต่แม้จะดำเนินคดีอาญาเฉพาะบุคคล ในสมัยประชุม ก็ต้องขออำนาจจากสภาฯ หากจะจับกุม คุมขัง ในสมัยการประชุมสภาฯ ก็ไม่อาจทำได้
- คดีที่อ้างว่าการเลือกตั้ง สว. ไม่ชอบด้วนกฎหมาย แต่ กกต. ได้รับรองและยืนยันแล้วว่า ไม่มีข้อเท็จจริงที่เป็นไปตามคำกล่าวหาหรือคำร้อง และ กกต. เป็นองค์กรที่จัดการเลือกตั้งได้รับรองแล้ว แต่หากดีเอสไอจะรับเป็นคดีพิเศษ และให้มีการดำเนินคดีอาญากับ สว. จะถือว่าเป็นการจงใจใช้อำนาจที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
- การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอ้างว่ามี สว. จำนวนถึง 138 คน และหากดำเนินคดีจนต้องพ้นตำแหน่งทั้ง 138 คนซึ่งเกินกึ่งหนึ่ง ก็ต้องมีการเลือกใหม่ เพื่อให้ครบ 200 คน ถึงจะปฎิบัติหน้าที่ได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 ย่อมแปลได้ว่าดีเอสไอสามารถล้มการเลือก สว. ได้ ทั้งที่ สว. มาตามรัฐธรรมนูญ
- การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารและเป็นผู้บังคับบัญชาดีเอสไอ ซึ่งเป็นเพียงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) และมีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญมาดำเนินการ ซึ่งหากเป็นไปตามที่มีผู้สมัคร สว. ที่ไม่รับการเลือกตั้งร้องมา ก็อาจทำให้ สว. ต้องหลุดไปหรือปฎิบัติหน้าที่ไม่ได้ถึง 138 คน นั้น ถือเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ และมีผลอย่างไร หรือเป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญาทั่วไป
“ประเด็นเรื่องนี้จึงเป็นประเด็นที่สำคัญทางกฎหมายอย่างยิ่งสามารถนำเอาไปทำวิทยานิพนธ์ได้เลย เพราะเป็นใช้อำนาจขององค์กรทางการบริหารมาล้มล้างฝ่ายนิติบัญญัติที่ดูสุ่มเสี่ยงว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ และอาจเป็นจุดจบของฝ่ายนิติบัญญัติ หากดีเอสไอสามารถทำได้ เพราะถ้าตรวจสอบ สว. จนต้องหลุดไปทั้งที่ กกต. รับรองไปแล้ว ต่อไปก็จะมีการตรวจสอบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ได้เช่นกัน โดยอ้างว่ามีการฮั้วการเลือกตั้ง อำนาจดีเอสไอก็จะใหญ่กว่าอำนาจของประชาชน ผมเชื่อว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายตอนร่างขึ้นไม่น่าจะเป็นแบบนี้” นายคารม ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วันนี้มีความเคลื่อนไหวล่าสุด โดย พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ออกมาเปิดเผยว่า จะให้ฝ่ายกฎหมายรวบรวมข้อมูลเพื่อดำเนินการแจ้งความผู้ที่กล่าวหา ทั้งภาครัฐและเอกชน ฐานทำให้ สว. เสียหายถูกเข้าใจผิด นอกจากนี้ กรรมาธิการ (กมธ.) วุฒิสภาจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงถึงอำนาจหน้าที่และที่มาที่ไปของการกล่าวหาวุฒิสภาร้ายแรง เรื่อง “อั้งยี่ ซ่องโจร” อาชญากรรม และภัยต่อความมั่นคง
รวมทั้ง จะเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ กับฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ในประเด็นการดำเนินงานของ “ดีเอสไอ” ที่กล่าวหาเป็นไปด้วยเหตุและผลหรือไม่ โดยจะหารือกับสมาชิกอีกครั้งคาดว่าจะอภิปรายภายในสมัยประชุมนี้
ส่วนการอภิปรายจะพุ่งเป้าไปที่ พ.ต.อ.ทวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คนเดียวหรือไม่ พล.อ.เกรียงไกร กล่าวเพียงว่า เป็นรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และต้องดูด้วยว่าใครอยู่เบื้องหลัง
นอกจากนี้ พล.อ.เกรียงไกร กล่าวอีกว่า สว. จะพิจารณาเข้าชื่อเสนอประธานวุฒิสภา เพื่อดำเนินการส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถอดถอนรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าเสียงน่าจะเพียงพอ