NEX ตั้งสำรองพุ่ง-ยอดขายอีวีวูบ-พิษส่วนแบ่งบ.ร่วม กดงบปี 67 พลิกขาดทุน 2.8 พันลบ.

NEX เปิดงบปี 67 พลิกขาดทุน 2.9 พันล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 725 ล้านบาท สาเหตุจากรายได้ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าลดลง และส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม รวมถึงผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และผลขาดทุนด้อยค่าของค่าความนิยมและสินทรัพย์ไม่มีตัวตน


บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX รายงานผลประกอบปี 67 พลิกขาดทุนสุทธิ ดังนี้

สำหรับ NEX รายงานผลประกอบการปี 67 พลิกขาดทุนสุทธิ 2,765.60 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน 725.26 ล้านบาท สาเหตุจากในปี 2567 บริษัทมีรายได้รวม 3,317.39 ล้านบาท ลดลงจากปี 2566 ซึ่งมีรายได้ 9,299.35 ล้านบาท หรือลดลง 5,981.96 ล้านบาท คิดเป็น 64% โดยสาเหตุหลักมาจากรายได้จากธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ที่ลดลง เนื่องจากในปี 2567 บริษัทจำหน่ายรถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้น้อยกว่าปีก่อน 889 คัน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ของกลุ่มธุรกิจ

ส่วนกำไรขั้นต้นของปี 2567 อยู่ที่ขาดทุน 244.35 ล้านบาท ขณะที่ปี 2566 มีกำไรขั้นต้น 847.86 ล้านบาท ลดลง 1,092.21 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักมาจากผลขาดทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ รวมถึงการด้อยค่าของสินค้าคงเหลือที่เพิ่มขึ้น 517.93 ล้านบาท

ขณะที่รายได้อื่นในปี 2567 อยู่ที่ 83.98 ล้านบาท ลดลงจาก 112.25 ล้านบาทในปี 2566 คิดเป็น 25% โดยสาเหตุหลักมาจากรายได้เงินชดเชยความเสียหายจากการส่งมอบรถที่ลดลง 18.61 ล้านบาท และรายได้จากค่าประกันวงเงินกู้ของบริษัทร่วมที่ลดลง 7.75 ล้านบาท

ด้านค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารในปี 2567 มีจำนวน 444.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 363.59 ล้านบาทในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้น 22% สาเหตุหลักมาจากผลขาดทุนจากการตัดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น 34.29 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายพนักงานและค่าตอบแทนผู้บริหารที่เพิ่มขึ้น 19.90 ล้านบาท ค่าโฆษณาและส่งเสริมการขายที่เพิ่มขึ้น 17.18 ล้านบาท และค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น 7.54 ล้านบาท

สำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2567 อยู่ที่ 1,022.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 18.54 ล้านบาทในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้น 5,417% โดยเป็นผลจากการด้อยค่าของลูกหนี้และสินทรัพย์ทางการเงิน

อีกทั้งผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ในปี 2567 อยู่ที่ 416.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 416.27 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักมาจากการด้อยค่าของค่าความนิยมและสินทรัพย์ไม่มีตัวตนในธุรกิจให้บริการซ่อมบำรุงยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ และการด้อยค่าของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนในธุรกิจให้บริการขนส่ง

ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมในปี 2567 อยู่ที่ 992.73 ล้านบาท ลดลงจากส่วนแบ่งกำไร 332.14 ล้านบาทในปี 2566 หรือเปลี่ยนแปลงลดลง 1,324.87 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากรายได้จากการขายสินค้าของบริษัทร่วมที่ลดลง ซึ่งสอดคล้องกับรายได้จากการขายและบริการที่ลดลง ส่งผลให้บริษัทได้รับส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น

โดยสรุป บริษัทมีผลขาดทุนหลักมาจากส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม ผลขาดทุนของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และผลขาดทุนจากการด้อยค่าของค่าความนิยมและสินทรัพย์ไม่มีตัวตน

Back to top button