
BCP เนื้อหอม! สปส. ลงทุนต่อเนื่อง ท่ามกลางกระแส “ทุนการเมือง” รอเสียบ
ท่ามกลางการปรับโครงสร้างทางธุรกิจของ BCP สำนักงานประกันสังคม ยังครองสัดส่วนถือหุ้นอันดับ 1 ท่ามกลางกระแสข่าวว่าทุนการเมืองต้องเข้ามามีส่วนร่วมใน BCP เช่นกัน
ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสำหรับ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP เริ่มตั้งแต่ปี 2567 ที่ผ่านมา ได้เดินหน้าเข้าซื้อกิจการ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ESSO เพื่อขยายกำลังการผลิตและเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน และได้เปลี่ยนชื่อบริษัท ESSO เป็นบริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) หรือ BSRC ซึ่งในห้วงเวลานั้น ต้องยอมรับหุ้นของ BCP ถูกจับตาจากสัดส่วนการกลั่น และสถานีบริการน้ำมันที่เพิ่มมากขึ้น ย่อมส่งผลให้รายได้ของ BCP เติบโตไปด้วย
ไม่นับรวมกับกรณีที่บอร์ดบริหาร BCP อนุมัติแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มบริษัทบางจากผ่านการทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของ BSRC ที่ถือโดยผู้ถือหุ้นรายอื่น ไม่เกินจำนวน 631,859,702 หุ้น (คิดเป็น 18.30% ของหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดของ BSRC) ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ลดความซับซ้อนของโครงสร้างการถือหุ้น และเสริมสร้างศักยภาพทางการเงิน โดย BSRC เป็นหนึ่งในฟันเฟืองหลักของกลุ่มบางจาก ซึ่งการควบรวมครั้งนี้จะช่วยสร้าง Synergy ในการดำเนินธุรกิจให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ทำให้ในช่วงที่มาผ่านจะเห็นภาพความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของหุ้น BCP จากกองทุน สถาบันการเงิน และผู้ถือหุ้นเดิม อย่างเช่น สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ปรับกลยุทธ์การลงทุนโดย เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้น มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือครองหุ้นมาอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2566-2567 ซึ่งสะท้อนถึงกลยุทธ์การบริหารพอร์ตการลงทุนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของ BCP ซึ่งมีการรายงานผ่านแบบ 246-2 ของสำนักงานกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยมีรายละเอียดดังนี้
กรกฎาคม 2566
สปส.เริ่มเข้าซื้อหุ้น BCP จำนวน 901,900 หุ้น เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ส่งผลให้สัดส่วนการถือครองเพิ่มขึ้นเป็น 15.005% ก่อนจะขายหุ้นออกมาในวันที่ 7 กรกฎาคม จำนวน 258,400 หุ้น ทำให้สัดส่วนลดลงเหลือ 14.9862% ต่อมาในวันที่ 10 กรกฎาคม สปส. กลับมาเข้าซื้อเพิ่มอีก 1,472,000 หุ้น ทำให้สัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 15.093% แต่ในวันที่ 21 กรกฎาคม มีการขายหุ้นออกจำนวน 1,075,000 หุ้น ทำให้สัดส่วนการถือครองลดลงเหลือ 14.9711%
สิงหาคม 2566
สปส. เข้าซื้อหุ้น BCP เพิ่มเติมในวันที่ 2 สิงหาคม จำนวน 539,000 หุ้น ทำให้สัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 15.0103% อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 9 สิงหาคม มีการขายหุ้นออกจำนวน 2,888,000 หุ้น ส่งผลให้สัดส่วนลดลงเหลือ 14.8285%
มีนาคม 2567
จากนั้นในวันที่ 14 มีนาคม สปส. กลับมาเข้าซื้อหุ้น BCP อีกจำนวน 471,400 หุ้น ส่งผลให้สัดส่วนถือครองเพิ่มขึ้นเป็น 15.002% แต่ต่อมาในวันที่ 18 มีนาคม ได้มีการขายหุ้นออกจำนวน 1,524,100 หุ้น ทำให้สัดส่วนลดลงเหลือ 14.8913%
กรกฎาคม 2567
ก่อนที่ในวันที่ 2 กรกฎาคม สปส. ได้เพิ่มการถือครองหุ้น BCP อีกจำนวน 1,950,000 หุ้น ส่งผลให้สัดส่วนการถือครองเพิ่มขึ้นเป็น 15.0493% ทำให้ สปส.ยังมีสัดส่วนการถือหุ้นเป็นอันดับ 1 ของ BCP
CAPITAL ASIA INVESTMENTS ผู้ถือหุ้นรายใหม่ของ BCP
นอกจากการเปลี่ยนแปลงในพอร์ตของ สปส. แล้ว ยังมีการเข้ามาของนักลงทุนรายใหม่อย่าง CAPITAL ASIA INVESTMENTS PTE LTD บริษัทจัดการกองทุนสัญชาติสิงคโปร์ที่มุ่งเน้นการลงทุนในบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะในธุรกิจพลังงานและปิโตรเลียม ได้เริ่มเข้าถือหุ้น BCP เป็นครั้งแรกในวันที่ 20 ธันวาคม 2567 ในสัดส่วน 5.9394% และต่อมาในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ได้เพิ่มสัดส่วนการถือครองเป็น 10%
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ ยังมีคำถามและกระแสข่าวเกี่ยวกับการเข้ามาของทุนฝ่ายการเมืองผ่านการเข้ามาถือหุ้น ซึ่งแม้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่ก็เป็นประเด็นที่นักลงทุนจับตา เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เพียงจะส่งผลต่อโครงสร้างการถือหุ้นเท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลต่อทิศทางและนโยบายของบริษัทในอนาคต ในยุคที่ BCP เป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักของพลังงานของไทย
โดยภาพรวมข้อมูลผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 5 กันยายน 2567 (ประเภท XD) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ก้าวขึ้นเป็น ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ BCP สัดส่วน 14.18% ตามโครงสร้างผู้ถือหุ้น 10 อันดับแรก ดังนี้
บทสรุป ตลอดปี 2566-2567 สปส. มีการบริหารพอร์ตการลงทุนใน BCP อย่างต่อเนื่อง ผ่านการซื้อและขายหุ้นเป็นระยะ ขณะที่การเข้ามาของ CAPITAL ASIA INVESTMENTS อาจสะท้อนถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพของ BCP ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของบริษัท ซึ่งรวมถึงการเข้าซื้อกิจการ ESSO (Thailand) และการเพิกถอนหุ้น BSRC ออกจากตลาดหลักทรัพย์
สำหรับการเคลื่อนไหวของ สปส. ในหุ้น BCP จึงเป็นประเด็นที่น่าติดตาม ว่าจะเป็นเพียงการปรับพอร์ตระยะสั้น หรือเป็นกลยุทธ์การลงทุนระยะยาว ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและโอกาสการเติบโตของบางจากในอนาคต