“พาณิชย์” เปิดตัวเลขส่งออก ม.ค. โตเกินคาดเฉียด 14% ส่งซิก Q1 สดใส

“พาณิชย์” เปิดตัวเลขส่งออกเดือน ม.ค. โต 13.6% จากตลาดคาด 7-8% รับแรงหนุนเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเติบโตอย่างต่อเนื่อง มั่นใจไตรมาส 1/68 ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง


นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนม.ค.68 พบว่า การส่งออก มีมูลค่า 25,277 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 13.6% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากตลาดคาดโต 7-8% หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ร้อยละ 11.4 โดยได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวกลับสู่กรอบเป้าหมาย และการขยายตัวของกิจกรรมภาคการผลิต ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 3.3 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นทั้งในภาคการผลิตและผู้บริโภค

นอกจากนี้การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ และจีนขยายตัวในระดับสูง ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าทุนและวัตถุดิบของไทย ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจสร้างแรงกดดันต่อการค้าโลก

โดยมูลค่าการค้ารวมมูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนมกราคม 2568 การส่งออก มีมูลค่า 25,277.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 13.6 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 27,157.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 7.9 ดุลการค้า ขาดดุล 1,880.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนมูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนมกราคม 2568 การส่งออก มีมูลค่า 862,367 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.8เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 938,112 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.3 ดุลการค้า ขาดดุล 75,746 ล้านบาท

สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 0.1 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน โดยสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 3.0 ในขณะที่สินค้าเกษตร หดตัวร้อยละ 2.2 โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพาราขยายตัวร้อยละ 45.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 15 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ มาเลเซีย และเกาหลีใต้),ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 12.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์),อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 11.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อียิปต์ และซาอุดีอาระเบีย),อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 13.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 16 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย เยอรมนี เวียดนาม และไต้หวัน),ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 19.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ เมียนมา ออสเตรเลีย และลาว),ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 13.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 16 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี รัสเซีย และมาเลเซีย)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว หดตัวร้อยละ 32.4 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (หดตัวในตลาดแคนาดา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เยเมน และจีน แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อิรัก แอฟริกาใต้ เซเนกัล และญี่ปุ่น) ,ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง หดตัวร้อยละ 11.0 กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ขยายตัวในตลาดเวียดนาม ฮ่องกง อินโดนีเซีย เมียนมา และอินเดีย),ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 7.9 กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไต้หวัน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์),เครื่องดื่ม หดตัวร้อยละ 16.0 กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน (หดตัวในตลาดกัมพูชา เมียนมา เวียดนาม มาเลเซีย และจีน แต่ขยายตัวในตลาดลาว ฮ่องกง ออสเตรเลีย สหรัฐฯ และเนเธอร์แลนด์),ผักกระป๋อง และแปรรูป หดตัวร้อยละ 13.3 กลับมาหดตัวในรอบ 4 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และไต้หวัน แต่ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ลาว ฮ่องกง และเมียนมา)การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 17.0 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 45.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น) ,อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 148.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินเดีย สหรัฐฯ อิตาลี กาตาร์ และสหราชอาณาจักร),ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 19.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และอินเดีย) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 28.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย อินเดีย และเบลเยียม),เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 33.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม อินเดีย อิตาลี และตุรกี)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 16.5 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อาร์เจนตินา และบราซิล),เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 18.6 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย แต่ขยายตัวในตลาดอินเดีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา เกาหลีใต้ และเวียดนาม),เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 16.8 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เมียนมา จีน และฮ่องกง แต่ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ เม็กซิโก ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเช็กและไอร์แลนด์),เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว หดตัวร้อยละ 18.3 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ จีน มาเลเซีย และออสเตรเลีย แต่ขยายตัวในตลาดเมียนมา กัมพูชา เวียดนาม ฮ่องกง และสหรัฐฯ),อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด หดตัวร้อยละ 38.2 หดตัวต่อเนื่อง 11 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง จีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เม็กซิโก และสหราชอาณาจักร)

ผู้อำนวยการ สนค. ยังเชื่อว่า การส่งออกของไทยในไตรมาส 1/68 จะยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

 

Back to top button