
เนื้อหอม! “ญี่ปุ่น” จ่อย้ายฐานผลิต 3 อุตสาหกรรมซบ “ไทย” หนีวิกฤตสงครามการค้า
“บีโอไอ” เผยนักลงทุนญี่ปุ่นกว่า 400 รายร่วมสัมมนาใหญ่ “Thailand-Japan Investment Forum 2025” และแสดงความสนใจลงทุนในไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ภายหลังการเยือนประเทศญี่ปุ่นของคณะรัฐบาลไทย นำโดย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระหว่างวันที่ 19-21 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดสัมมนาใหญ่ “Thailand-Japan Investment Forum 2025” เพื่อแสดงศักยภาพของประเทศไทยในการรองรับการลงทุนจากญี่ปุ่น โดยมีผู้บริหารบริษัทชั้นนำจากญี่ปุ่นเข้าร่วมกว่า 400 ราย
โดยนักลงทุนญี่ปุ่นที่เข้าร่วมงานส่วนใหญ่มาจากอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล ปิโตรเคมี พลาสติก อาหารแปรรูป ตลอดจนธุรกิจบริการ เช่น สถาบันการเงิน ธุรกิจดิจิทัล การค้า และโลจิสติกส์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจของนักลงทุนญี่ปุ่นที่ต้องการขยายฐานการผลิตมายังประเทศไทย เพื่อลดความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และบริหารจัดการซัพพลายเชนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ขณะที่ประเทศไทยได้วางแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ผ่าน 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.การพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อเสริมสร้างทักษะแรงงานให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม, 2.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้านการขนส่ง ดิจิทัล ระบบน้ำ และพลังงาน, 3.การพัฒนานวัตกรรม ในอุตสาหกรรมยุคใหม่ และ 4.การสนับสนุนจากภาครัฐ ผ่านนโยบาย กฎระเบียบ และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน
นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมการลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว), ยานยนต์ไฟฟ้า, เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์, ดิจิทัล และธุรกิจศูนย์กลางระหว่างประเทศ โดยมีมาตรการสนับสนุน เช่น การยกระดับเทคโนโลยีการผลิต การส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ และการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรม
โดยผู้บริหารจากบริษัทญี่ปุ่นชั้นนำ เช่น ธนาคาร SMBC, Mitsubishi และ Fujikura ได้เข้าร่วมบรรยายแลกเปลี่ยนประสบการณ์การลงทุนในไทย พร้อมทั้งหารือแผนขยายธุรกิจใน 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่
1.อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ได้แก่ บริษัท Toshiba Electronic Device and Storage, MinebeaMitsumi และ Rapidus สนใจลงทุนในไทยในด้าน Back-end Semiconductor โดยเฉพาะ Power Electronics สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ อุปกรณ์ Data Center และระบบกักเก็บพลังงาน
2.อุตสาหกรรมยานยนต์ ได้แก่ บริษัท Isuzu และ Mitsubishi Motors ยืนยันแผนขยายการลงทุนในไทย โดย Isuzu เตรียมผลิตรถกระบะไฟฟ้า (BEV) เพื่อส่งออกไปนอร์เวย์ในปี 2568 และอยู่ระหว่างพัฒนารถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ใช้ระบบสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ และรถยนต์เชื้อเพลิงสังเคราะห์ (e-Fuel) และ Mitsubishi Motors มีแผนเปิดตัวรถยนต์ไฮบริด (HEV) รุ่นใหม่ และเตรียมผลิตรถขนส่งขนาดเล็กแบบ BEV ภายในปีนี้
3.อุตสาหกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ บริษัท Suntory Group สนใจขยายการลงทุนด้านเครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในไทย พร้อมหารือแนวทางพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าใช้วัสดุรีไซเคิลทั้งหมดภายในปี 2573
นอกจากนี้ คณะผู้แทนรัฐบาลไทยยังได้หารือกับ นายมูโตะ โยจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) รวมถึงประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) โดยทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันผลักดัน กลไกความร่วมมือด้านพลังงานและอุตสาหกรรม (Energy and Industry Dialogue : EID) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และซัพพลายเชน พลังงานใหม่ เช่น น้ำมันอากาศยานยั่งยืน (SAF), เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) และไฮโดรเจน ตลอดจนสนับสนุน SMEs และ Startup จากญี่ปุ่นให้เติบโตในประเทศไทย
นายนฤตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างดี โดยนักลงทุนญี่ปุ่นยังคงให้ความสำคัญกับไทยในฐานะศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาค เนื่องจากไทยมี ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ต่ำ ซัพพลายเชนที่เข้มแข็ง และโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการลงทุนได้ดี
“การหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรีพิชัย และรัฐมนตรี METI ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นว่า รัฐบาลไทยและญี่ปุ่นจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจญี่ปุ่นสามารถแข่งขันได้และเติบโตอย่างยั่งยืนในโลกยุคใหม่ที่มีการแข่งขันสูงและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” นายนฤตม์ กล่าว