
รัฐบาล ส่งหนังสือกดดัน กนง. “ลดดอกเบี้ย” หวังดันเงินเฟ้อเข้าเป้า 1-3%
รัฐบาลส่งหนังสือถึง ธปท. ก่อนประชุม กนง. เน้นย้ำให้คำนึงถึงกรอบเงินเฟ้อ 1-3% หวังหนุนเศรษฐกิจเดินหน้า “เผ่าภูมิ” ชี้ช่องว่างยังเหลือเฟ้อ ไม่มีเหตุจำเป็นต้องประหยัดกระสุนมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (25 ก.พ.68) นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ ได้ส่งหนังสือโดยตรงถึง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยเป็นความเห็นเกี่ยวกับการทำนโยบายการเงินที่จะต้องคำนึงถึงกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% รวมทั้งต้องสอดคล้องกับนโยบายการคลังด้วย ทั้งนี้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
นายเผ่าภูมิ ยอมรับว่า รัฐบาลคาดหวังว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพรุ่งนี้ (26 ก.พ.68) จะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง โดยหากเป็นไปในทิศทางดังกล่าว ก็น่าจะเป็นสัญญาณที่ดี ส่วนจะปรับลดลงเท่าใดถึงจะเพียงพอทำให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% นั้น ต้องให้เป็นหน้าที่ของผู้รับผิดชอบที่จะพิจารณา และดูหลายปัจจัยในขณะนั้นประกอบกัน เช่น เมื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแล้ว อัตราเงินเฟ้อเป็นอย่างไร อัตราแลกเปลี่ยนเป็นอย่างไร และการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นอย่างไร
“ถือเป็นครั้งที่ 2 ในการส่งความเห็นของ ครม. ตรงถึง ธปท. เกี่ยวกับการทำนโยบายการเงิน ที่จะต้องสอดคล้องกับกรอบเงินเฟ้อ สอดคล้องกับนโยบายการคลัง ไม่ใช่ว่านโยบายการคลังขาเดียว จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างมีพลัง ดังนั้นทั้ง 2 ขาต้องช่วยกัน” รมช.คลัง ระบุ
นายเผ่าภูมิ ยอมรับว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยแต่ละครั้งมีส่วนสำคัญและเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจค่อนข้างมาก โดยช่วยให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเคลื่อนตัวได้ มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน การขยับอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากนโยบายการเงินมีขนาดใหญ่ ดังนั้นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแต่ละครั้ง จึงมีผลบวกต่อเศรษฐกิจค่อนข้างมาก
ส่วนกรณีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ แนะให้ กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ เพื่อเป็นการเก็บกระสุนนโยบายการเงินสำหรับรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตนั้น รมช. คลัง ระบุว่า ปัจจุบันช่องว่างของนโยบายทางการเงินยังมีเพียงพอที่จะสามารถลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีก อัตราเงินเฟ้อของไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำมานาน และยังไม่มีทีท่าว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องยอมรับว่าเงินเฟ้อของไทยต่ำมากและต่ำเกินไป
“ช่องว่างนโยบายการเงินของเรายังเหลือเฟือ ยังไม่ต้องประหยัดมาก ที่ผ่านมาเราชอบทำอะไรกันช้าไป แล้วมาทำกันทีหลัง ผลมันก็จะไม่ทันการ ส่วนจะลดเท่าไร ลดกี่ครั้ง ไม่ได้อยากไประบุถึงขนาดนั้น ต้องปล่อยให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้รับผิดชอบ แต่วันนี้ ครม. ก็มีความเห็นชัดเจนว่าการดำเนินนโยบายการเงิน ควรคำนึงถึงกรอบเงินเฟ้อ คำนึงถึงความสอดคล้องกับนโยบายการคลัง” นายเผ่าภูมิ ระบุทิ้งท้าย