CGSI อัพคำแนะนำ “ซื้อ” HANA เป้าใหม่ 22.50 บาท ชี้ราคาหุ้นสะท้อนปัจจัยลบแล้ว

CGSI มองบวกหุ้น HANA ชี้ราคาลงสะท้อนปัจจัยลบแล้ว ทำให้ผลตอบแทนน่าสนใจขึ้น พร้อมปรับคำแนะนำเป็น “ซื้อ” และเพิ่มราคาเป้าหมายใหม่เป็น 22.50 บาท


ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า ได้ปรับเพิ่มคำแนะนำหุ้น บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA มาเป็น “ซื้อ” จาก “ถือ” รวมทั้งปรับราคาเป้าหมายขึ้นเป็น 22.5 บาท จากเดิม 20.90 บาท ซึ่งยังเท่ากับ P/E 11.5 เท่าในปี 69, -1.5SD ของค่าเฉลี่ย 5 ปี เนื่องจากความเสี่ยงและผลตอบแทนน่าสนใจมากขึ้น หลังราคาหุ้นปรับตัวลง 35% นับจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ แม้ว่าธุรกิจหลักของ HANA ยังมีแนวโน้มเผชิญกับความท้าทายในครึ่งแรกปี 68 นี้ จากการทยอยดูดซับสต็อกในอุตสาหกรรมอนาล็อกและความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้า แต่เล็งเห็นปัจจัยบวกที่จะช่วยหนุนราคาหุ้น (กรอบเวลา 3-6 เดือน) ในรูปของอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจหลัก รวมถึงผลขาดทุนที่ลดลงจาก Powermaster (ประกอบธุรกิจซิลิคอน/ซิลิคอนคาร์ไบด์ frontend) ในครึ่งหลังปี 68

ขณะที่ ราคาหุ้น HANA ในปัจจุบัน ซื้อขายที่จุดต่ำสุดของการประเมินมูลค่าตั้งแต่ปี 43 ที่ P/BV 0.53 เท่าในปี 67 นอกจากนี้ บริษัทยังมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดอยู่ที่ 1.02 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 4/67 ซึ่งคิดเป็น 72% ของ market cap ในขณะนี้ จึงเชื่อว่าการประเมินมูลค่าในปัจจุบันมีความเสี่ยงและผลตอบแทนน่าสนใจ อย่างไรก็ตาม HANA จะมี downside risk หาก Powermaster ขาดทุนสูงกว่าคาดและยอดขายลดลง เพราะผลพวงจากความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าโลก

ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า จากการเข้าร่วมประชุมนักวิเคราะห์ของ HANA เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 68 ซึ่งถึงแม้ว่าผู้บริหารยังไม่เปิดเผยตัวเลขบางประการ แต่ HANA คาดการณ์ว่ารายได้จากธุรกิจหลักในไตรมาส 1/68 จะลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งสอดคล้องกับปัจจัยฤดูกาลและประมาณการของฝ่ายวิเคราะห์ฯที่คาดว่ารายได้จะลดลงราว 5% จากไตรมาสก่อน

นอกจากนี้ มุมมองของผู้บริหารยังตรงกับความคิดเห็นของฝ่ายวิเคราะห์ฯว่า อุตสาหกรรมอนาล็อกโดยรวมน่าจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 2/68 จากฐานที่ต่ำ แต่กว่ายอดขายจะกลับมาเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ อาจต้องรอไปจนถึงครึ่งหลังปี 68 โดยมีปัจจัยหนุนจากอุปสงค์ในการเติมสต็อก ดังนั้นจึงประมาณการว่า HANA จะมีรายได้จากการขายลดลง 3.6% จากปีก่อนหน้า เป็น 2.39 หมื่นล้านบาทในปี 68 เพราะการฟื้นตัวของอุปสงค์ในครึ่งแรกปี 68 ยังอ่อนตัว

โดยธุรกิจหลักน่าจะมียอดขาย 2.33 หมื่นล้าน บาท ลดลง 4.1% จากปีก่อน และ Powermaster มียอดขาย 612 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากปีก่อน ขณะเดียวกัน คาดว่า GPM ของธุรกิจหลักจะเพิ่มขึ้นจาก 2.4% ใน 67 เป็น 7% ในปี 68 เพราะไม่มีผลกระทบจากการวัดมูลค่าสินค้าคงคลังตามความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน อีกทั้งเชื่อว่า GPM จะเพิ่มขึ้นจากความพยายามลดต้นทุนของบริษัท เช่น การเปิดโรงงาน 5 วันต่อสัปดาห์ จากจำนวนพนักงานที่ลดลง

ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI ประมาณการว่า Powermaster น่าจะมีขาดทุน 1.25 พันล้านบาทในปี 67 เพราะใช้กำลังการผลิตไม่เต็มที่ นอกจากนี้ ราคา wafer ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในปี 67 ส่งผลให้บริษัทปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือ 216 ล้านบาทในไตรมาส 4/67 อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารเชื่อว่า Powermaster จะมีขาดทุนลดลงช่วงกลางปี 68 หลัง บริษัทตัดสินใจยุติการผลิตซิลิคอน เพราะเสียเปรียบด้านต้นทุน ส่วน HANA จะหันไปพึ่ง Foundry ของ ผู้ประกอบการอื่นในการผลิตผลิตภัณฑ์ซิลิคอน ซึ่งจะช่วยให้ประสิทธิภาพด้านต้นทุนของบริษัทดีขึ้น

ขณะเดียวกัน ผู้บริหารจะพยายามทำการตลาดมากขึ้น เพื่อคว้าแบบการผลิตอุปกรณ์ซิลิคอนคาร์ไบด์ ประกอบกับเชื่อว่าจะไม่มีการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือมากนัก หลังราคา wafer ทรงตัวในครึ่งปีแรก จึงคาดว่าต้นทุนที่ลดลงหลังถอนตัวจากธุรกิจผลิตอุปกรณ์ซิลิคอน จะทำให้ Powermaster มีขาดทุนลดลงเหลือ 1.03 พันล้านบาทและ 645 ล้านบาทในปี 68 และ 69 ตามลำดับ

Back to top button