BTS เตรียมรับ 1.2 หมื่นล้าน กทม. ล้างหนี้สีเขียวเดือนนี้! โบรกคาด D/E ลด หนุนกระแสเงินสด

กทม.เตรียมจ่ายหนี้ O&M รถไฟฟ้าสายสีเขียว 1.2 หมื่นล้านบาท ให้ BTS ภายในมี.ค.นี้ ใช้เงินสะสมจ่ายขาด ด้าน “ชัชชาติ” เตรียมเจรจาลดดอกเบี้ยหนี้อีก 1.5 หมื่นล้าน โบรกฯ คาด D/E ลด หนุนกระแสเงินสด-ขยายธุรกิจ เป้า 6.40 บาท


นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาชำระหนี้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในเครือบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ว่า ทางคณะกรรมการวิสามัญฯ ได้พิจารณาแล้วว่า ควรให้กทม.ดำเนินการตามระเบียบกทม.เพื่อชำระค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) คดีฟ้องร้องครั้งที่ 2 วงเงินประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ทำการสรุปรายงานการประชุมเรียบร้อยแล้ว และจะเร่งยื่นต่อประธานสภากทม.เพื่อขอเปิดการประชุมวิสามัญสภากทม.โดยเร็วที่สุดภายในสัปดาห์นี้ โดยคาดว่าขั้นตอนการพิจารณาของสภากทม.จะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคมนี้ จากนั้นผู้ว่าราชการกทม.จะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อชำระเงินแก่ BTSC โดยเบื้องต้นประเมินว่าน่าจะใช้เงินจากเงินสะสมจ่ายขาดของกทม.ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 30,000 ล้านบาท มาชำระหนี้ในการฟ้องร้องครั้งที่ 2 แต่ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ว่าฯ ด้วยว่าจะใช้เงินจากส่วนใดบ้าง

สำหรับการฟ้องร้องครั้งที่ 2 นั้น BTSC ได้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้กทม.และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ชำระหนี้ O&M รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 (ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง) และส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ระหว่างเดือนมิถุนายน 2564 ถึงเดือนตุลาคม 2565 มูลค่ารวม 1.2 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง

โดยคณะกรรมการวิสามัญฯ มีความเห็นว่าฟ้องร้องครั้งที่ 2 ดังกล่าว มีหลักฐานข้อมูลที่เหมือนกับการฟ้องร้องครั้งแรกที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลางให้กทม. และ KT ชำระค่าจ้างเดินรถและงาน O&M รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2562 ถึงพฤษภาคม 2564 และส่วนต่อขยายที่ 2 ระหว่างเดือนเมษายน 2560-พฤษภาคม 2564 รวม 1.2 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยภายใน 180 วัน แก่ BTSC ดังนั้นเมื่อไม่มีรายละเอียดที่แตกต่างกันระหว่างการฟ้องร้องครั้งที่ 1 และ 2  จึงเชื่อว่าศาลจะมีคำพิพากษาที่ไม่แตกต่างกันเช่นกัน

“สำหรับการฟ้องร้องครั้งแรก ทางกทม.ได้ชำระแก่ BTS ไปแล้ว พอมาดูครั้งที่ 2 เป็นสัญญาเดียวกัน ไม่มีอะไรแตกต่างจากครั้งแรกเลย ถ้าเราไม่มีประเด็นอื่นนำไปสู้ในศาล ก็คงไม่ชนะอยู่แล้ว ขณะที่ดอกเบี้ยเดินรายวัน ถ้ารวมการฟ้องร้องครั้งที่ 2 กับยอดหนี้อื่น ๆ ที่ทางกทม.ยังค้างอยู่กับ BTS ก็ประมาณ 5.4 ล้านบาทต่อวัน เดือนนึงก็ 150 กว่าล้าน ถ้าจบได้เร็วไม่ยืดเยื้อเราก็อยากจบมากกว่า แต่ก็ต้องเจรจากับ BTS ด้วยว่าถ้าเราขอจบเร็ว คุณไม่ต้องไปฟ้องเพิ่มแล้ว คุณพอจะลดส่วนไหนให้เราได้บ้างหรือไม่” นายนภาพล กล่าว

ปัจจุบันระหว่างกทม.กับ BTS ยังคงมีหนี้ค้างชำระรวมแล้วประมาณ 30,000 ล้านบาท คือ 1)หนี้จากการฟ้องร้องค่าจ้างเดินรถและงาน O&M (ฟ้องร้องครั้งที่ 2 ซึ่งศาลยังไม่มีคำตัดสิน) วงเงินรวมดอกเบี้ยประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท 2)ยอดหนี้ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2  ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ถึงธันวาคม 2567 ที่ยังค้างชำระรวมดอกเบี้ยประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท (ยังไม่มีการฟ้องร้อง)

นายนภาพล กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพิจารณาดอกเบี้ยที่กทม.ต้องเสียแก่ BTS ตั้งแต่ข้อพิพาทแรก คือ หนี้ระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) หรืองาน E&M โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 วงเงิน 23,488.69 ล้านบาท (ดอกเบี้ยประมาณ 2,000 ล้านบาท) ซึ่งกทม.ชำระแล้ว และการฟ้องร้องครั้งที่ 1 ค่าจ้างเดินรถและ O&M วงเงินประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท (ดอกเบี้ยกว่า 1,000 ล้านบาท) ที่กทม.ชำระแล้ว รวมถึงการฟ้องร้องครั้งที่ 2 ซึ่งมีดอกเบี้ยกว่า 1,000 ล้านบาทนั้น กทม.ต้องจ่ายดอกเบี้ยแก่ BTSC ถึงปัจจุบันประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถนำไปพัฒนาเขตของกทม.ให้เกิดประโยชน์ได้อีกมาก แต่ต้องมาสูญไปเพราะดอกเบี้ย

ขณะเดียวกัน หากพิจารณาที่เงินสะสมของกทม.ที่อยู่ในบัญชีธนาคารนั้น ได้รับดอกเบี้ยประมาณ 2% ต่อปี แต่กทม.ต้องชำระดอกเบี้ยแก่ BTSC สูง 8% ต่อปี มีส่วนต่างถึง 6% ต่อปีที่มิได้เกิดประโยชน์ใด ๆ

สำหรับค่าจ้างงานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 นับจากนี้กทม.ก็จะต้องมีการพิจารณาชำระแก่ BTS ด้วย โดยส่วนต่อขยายที่ 1 นั้น ปัจจุบันยังมีเงินอยู่ที่ KT ประมาณ 1.2 พันล้านบาท ที่กทม.เคยนำส่งไว้ให้ชำระค่าจ้าง แต่มาหยุดจ่ายไปหลังจากมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 ที่ให้ดำเนินการต่อสัญญาติดตั้งระบบไฟฟ้า จัดการเดินรถไฟฟ้า และบริหารการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งเส้นทาง (สายหลัก ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช กับช่วงสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2) ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถชำระค่าจ้างส่วนต่อขยายที่ 1 ครอบคลุมได้ทั้งปี 2568

ด้านส่วนต่อขยายที่ 2 นั้น เพิ่งเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารปี 2567 จึงเชื่อว่าไม่น่าจะเพียงพอชำระค่าจ้างแก่ BTSC ได้ครอบคลุมตามงวดงาน  ซึ่งต้องสอบถามไปยัง KT ก่อนว่าในปี 2567 ทาง BTSC มีการวางบิลเรียกเก็บเงินตามงวดทุกครั้งหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น ก็อาจพิจารณาเป็นหนี้ค้างชำระปี 2567 ที่จะสามารถนำงบประมาณปี 2567 มาชำระได้

สำหรับหนี้ O&M ที่เหลืออีก 1.5 หมื่นล้านบาท ที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการทางศาลนั้น ปัจจุบันกทม.ยังไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะชำระหนี้ ดังนั้นจึงต้องรอให้เงินรายได้เข้ามาก่อนในช่วงกลางปีนี้ และอาจนำเงินส่วนอื่นมาชำระหนี้ โดยระหว่างนี้ ให้ผู้ว่าราชการกทม.ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อเจรจากับ BTSC ว่าจะสามารถลดอัตราดอกเบี้ย ฯลฯ ได้หรือไม่ รวมทั้งเจรจาในข้อรายการอื่น ๆ ที่กทม.ค้างชำระด้วย เพื่อให้ได้ข้อยุติร่วมกัน ไม่ต้องเกิดการฟ้องร้องอีก เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่กทม.

ส่วนกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้แจ้งข้อกล่าวหาผู้บริหาร BTS บางรายว่ามีการทุจริตการทำสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ กับ KT และกทม. ในวงเงินกว่า 1.9 แสนล้านบาทนั้น ถือว่าเป็นคนละเรื่องกับการที่กทม.ต้องชำระค่าจ้างต่าง ๆ ในงานรถไฟฟ้าสายสีเขียวแก่ BTS และต้องไปทำการพิสูจน์ข้อเท็จจริงก่อนว่ามีการทุจริตจริงหรือไม่ อย่างไร ซึ่งต้องใช้เวลาอีกยาวนาน หากรอจนถึงเวลานั้น ดอกเบี้ยที่กทม.ต้องชำระแก่ BTS น่าจะเกิน 10,000 ล้านบาทแล้ว ดังนั้นในส่วนการตรวจสอบของป.ป.ช.ก็เดินหน้าตามกระบวนการของป.ป.ช.ต่อไป หากท้ายที่สุดพิสูจน์ได้ว่ามีการทุจริต มีความผิดจริง ก็ต้องมาพิจารณาว่ากทม.จ่ายส่วนต่างแก่ BTS เท่าใด เพื่อเรียกรับเงินคืน

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในกลุ่มบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า พร้อมเจรจากับกรุงเทพมหานคร หากมีความประสงค์ชัดเจนที่ชำระหนี้ O&M รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ค้างชำระทั้งหมดกว่า 3 หมื่นล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี จำนวน 2 สถานี รวมระยะทาง 3 กิโลเมตร จากข้อมูล ณ สิ้นเดือนมกราคม 2568 ภาพรวมโครงการมีความก้าวหน้า 85.97% แบ่งเป็น งานโยธา 87.88% และงานระบบฯ 82.22% เร็วกว่าแผน 2.17%

โดยคาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการทดสอบเดินรถเสมือนจริงช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2568 จากนั้นช่วงปลายเดือนมิถุนายนจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรี 1 เดือน ก่อนที่จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในวันที่ 19 กรกฎาคม 2568 คิดค่าโดยสาร 15-22 บาท และจะเข้าร่วมมาตรการค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ภายในเดือนกันยายน 2568 ด้วย

นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) มองเป็นบวกต่อหุ้น BTS หากได้รับเงินชำระหนี้ 1.2 หมื่นล้านบาท จากกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะส่งผลให้กระแสเงินสดของบริษัทดีขึ้น สามารถกู้เงินได้เพิ่มขึ้นหลัง D/E ลดลง

นอกจากนี้ ยังมีโครงการตั๋วร่วมปีนี้ หากเป็นไปตามแผน จะช่วยลดผลขาดทุนจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองได้ เนื่องจากรัฐบาลจ่ายชดเชยให้เอกชนในโครงการ 20 บาทตลอดสาย แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 6.40 บาท

บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุ หลังจาก BTS ได้รับการชำระหนี้แล้ว สิ่งที่เป็นผลบวกต่อ BTS คือจะส่งผลดีต่อกระแสเงินสด และ BTS มีแผนนำเงินไปชำระหนี้กับสถาบันการเงินเพื่อลดภาระดอกเบี้ยลง ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของ BTS ลดลง และภาพรวมการดำเนินธุรกิจดีขึ้น โดยจากการหารือกับผู้บริหาร BTS พบว่าหากได้รับการชำระหนี้ทั้งหมดจากกทม.รวม 30,000 ล้านบาท ที่เหลือจากกทม.จะส่งผลให้หนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลงเหลือ 0.89 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.16 เท่า

บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จํากัด ให้มูลค่าที่เหมาะสม BTS ที่ปรับเป็น 6.20 บาท พร้อมปรับประมาณการกำไรเพื่อสะท้อนการปรับโครงสร้างกลุ่ม (การเพิ่มทุนของ BTS ผ่าน RO การรวมงบการเงินของบริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ RABBIT และบริษัท ร็อคเทค โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ ROCTEC และการลดสัดส่วนการถือหุ้น VGI หลังการเพิ่มทุนล่าสุดของ VGI ผ่าน PP) ดังนั้นมูลค่าที่เหมาะสมจึงปรับจาก 5.50 บาท เป็น 6.20 บาท

Back to top button