“ตลท.” เข็น 4 แนวทางฟื้น SET ชู “TISA” ซื้อหุ้นไทยลด “ภาษี” สร้างนักลงทุนระยะยาว

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ชู 4 โครงการฟื้นเชื่อมั่นลงทุนไทย หนึ่งในนั้นคือแนวคิดตามมาตรการ “TISA” ญี่ปุ่น ออมเพื่อซื้อหุ้นไทย พร้อมสิทธิประโยชน์ทางภาษี กระตุ้นการลงทุนระยะยาว


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (7 มี.ค.68) ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน โดยชี้แจงว่าการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมานั้น เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นกับ ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก มิได้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยเพียงประเทศเดียว

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น ประกอบด้วย ภาวะเศรษฐกิจโลก ที่ชะลอตัว ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ขยายตัวในระดับต่ำ รวมถึงปัจจัยด้าน ภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนโดยรวม อย่างไรก็ตาม ตลท. ยังคงมุ่งมั่นดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพของตลาดทุนไทย

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง แต่ราคาหุ้นกลับอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า มูลค่าทางบัญชี (Book Value) จำนวนมาก ดังนั้น นักลงทุนควรใช้ความระมัดระวังและพิจารณาข้อมูลอย่างรอบคอบ ไม่ควรตื่นตระหนกและเร่งรีบขายหุ้นโดยไม่จำเป็น

ทั้งนี้ ตลท. ได้กำหนดแนวทาง มาตรการสำคัญเพื่อฟื้นฟูตลาดทุนไทย และยกระดับให้มีเสถียรภาพเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านมาตรการ ดังต่อไปนี้

1.โครงการ “Jump+” มีเป้าหมายในการปลดล็อกศักยภาพของบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็ก ขนาดกลางที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง แต่ยังมีมูลค่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็น (Undervalued) โดยโครงการนี้ มุ่งเน้นการยกระดับมูลค่าของบริษัทจดทะเบียนผ่านแนวทางและมาตรการสนับสนุนที่เหมาะสม

ในเบื้องต้น คาดว่าจะมีบริษัทจดทะเบียนให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 800 แห่ง และอาจเพิ่มขึ้น 1,000 แห่ง ซึ่ง เชื่อว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนระยะยาว โดยภายใต้โครงการ “Jump+” ตลท. จะมีบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษา เพื่อช่วยให้บริษัทเหล่านี้สามารถพัฒนา แผนธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน (Growth Plan) โดยแผนดังกล่าวจะครอบคลุมแนวทางการลงทุนเพิ่มเติม การขยายธุรกิจ และการคาดการณ์รายได้ที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต

นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการจูงใจด้านภาษี เพื่อสนับสนุนบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ โดยหากสามารถเพิ่มรายได้ตามแผนธุรกิจที่วางไว้ อาจได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือ การยกเว้นภาษีเงินปันผล สำหรับรายได้ที่เพิ่มขึ้น

โครงการนี้ มีเป้าหมายเพื่อ ยกระดับศักยภาพของบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็กและขนาดกลาง ให้สามารถเติบโตอย่างมั่นคง ขยายธุรกิจไปยังตลาดในภูมิภาค สร้างรายได้เพิ่มขึ้น และดึงดูดความสนใจจากนักลงทุน

  1. โครงการ “New S-Curve Economy” มีเป้าหมายในการดึงดูดบริษัทจากอุตสาหกรรมแห่งอนาคตให้เข้ามาจดทะเบียนในตลท. มุ่งเน้นไปที่ ธุรกิจด้านสุขภาพ (Healthcare) เทคโนโลยี (Technology) และ ดิจิทัล (Digital) ซึ่งถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

โดยจะเปิดโอกาสให้ทั้งบริษัทไทยและบริษัทต่างชาติ ที่ดำเนินธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวสามารถเข้ามาจดทะเบียนใน ตลท. ได้ง่ายขึ้น รวมถึงบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนบริษัทจดทะเบียนในอุตสาหกรรมยุคใหม่ ขยายโอกาสการลงทุนให้กับนักลงทุน

ภายใต้โครงการ “New S-Curve Economy” ตลท. พร้อมให้การสนับสนุนและร่วมมือกับ BOI ในการให้ สิทธิประโยชน์ด้านภาษี และมาตรการส่งเสริมอื่นๆ เพื่อดึงดูดบริษัทจากอุตสาหกรรมแห่งอนาคตให้เข้ามาจดทะเบียนใน ตลท.

นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาใช้ โครงสร้างหุ้นแบบ Dual-Class Shares ซึ่งช่วยให้ผู้ก่อตั้งธุรกิจยังคงมีอำนาจควบคุมบริษัทได้ แม้จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลท. ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมในตลาดทุนชั้นนำของโลก และช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการขยายธุรกิจผ่านตลาดทุน

ขณะที่ยังเป้าหมายในการสร้าง Ecosystem ของธุรกิจกลุ่ม New S-Curve ในตลาดทุนไทย ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ และส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลและอุตสาหกรรมสุขภาพ ร่วมด้วย

3.โครงการ “Treasury Stock Buyback” ผ่อนคลายกฎเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับ การซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock Buyback) ของบริษัทจดทะเบียน โดยมุ่งเน้นการ ปลดล็อกข้อจำกัดเดิม ที่กำหนดให้บริษัทสามารถซื้อหุ้นคืนได้ไม่เกิน 10% ของทุนจดทะเบียน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการโครงสร้างทุน

โครงการนี้ มีเป้าหมายเพื่อ เพิ่มความคล่องตัวให้แก่บริษัทจดทะเบียน ในการบริหารจัดการราคาหุ้น และช่วยส่งสัญญาณเชิงบวกต่อนักลงทุน ขณะเดียวกันมีแผน ผลักดันการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกให้บริษัทสามารถดำเนินมาตรการซื้อหุ้นคืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดข้อจำกัดที่อาจเป็นอุปสรรค และเสริมสร้างความมั่นใจในตลาดทุนไทย

4.โครงการ TISA (Thailand Individual Saving Account) ออมเพื่อซื้อหุ้นไทย ซึ่งมีเป้าหมายในการ ส่งเสริมการลงทุนระยะยาว และสร้างวินัยในการออมหุ้น โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนมีแนวคิดการลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นไทย เพื่อเพิ่มฐานนักลงทุนระยะยาวในประเทศ โครงการนี้จะมีการ ยกเว้นภาษี สำหรับเงินลงทุนที่ถือครองในหุ้นระยะยาว ซึ่งคล้ายกับแนวคิดของ Nippon Individual Savings Account (NISA) ใน ประเทศญี่ปุ่น โดยคาดหวังให้ผู้ลงทุนสามารถออมเงินในรูปแบบของการลงทุนในหุ้นไทย และได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มความมั่นคงให้กับตลาดทุนในระยะยาว

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้มาตรการต่างๆ สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ตลท. ได้เสนอแนวทางการ แก้ไขกฎหมายแบบเร่งด่วน (Omnibus Law) ต่อรัฐบาล ซึ่งรวมถึงการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายหลักทรัพย์, กฎหมายมหาชน, พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน, และ กฎหมายการให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี

ขณะนี้ รัฐบาลกำลังพิจารณาแนวทางดังกล่าว หากได้รับการอนุมัติ คาดว่าการแก้ไขกฎหมายจะสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและเห็นผลเป็นรูปธรรมในระยะเวลา 3-6 เดือน

จากข้อเสนอของประธาน ตลท. ที่จะเรียกความเชื่อมั่นตลาดหุ้นไทย ด้วยการเพิ่มนักลงทุนระยะยาวผ่านโครงการ TISA นั้น เรื่องนี้ นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ได้ให้ข้อมูลเพิ่มว่า มาตรการ NISA คือ บัญชีออมทรัพย์เพื่อการลงทุนที่ รัฐบาลญี่ปุ่น จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับกำไรจากการลงทุนและเงินปันผล ทั้งนี้ แบ่งออกเป็นประเภทของ NISA ได้แก่

1.) General NISA สำหรับลงทุนในหุ้น กองทุนรวม และตราสารหนี้ โดย กำไรและเงินปันผลได้รับการยกเว้นภาษี ภายในวงเงินที่กำหนด

2.) Tsumitate NISA สำหรับลงทุนในกองทุนรวมที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาล เน้นการลงทุนระยะยาวแบบทยอยซื้อ

3.) Junior NISA สำหรับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี มีลักษณะคล้าย General NISA แต่มีข้อจำกัดในการถอนเงินตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป ญี่ปุ่นได้ปรับปรุงระบบ NISA ใหม่ให้ ไม่มีข้อจำกัดด้านเวลา และเพิ่มวงเงินลงทุนที่ได้รับการยกเว้นภาษี ทำให้เป็นเครื่องมือที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนระยะยาว

นอกจากนี้ ข้อดีของ NISA คือการช่วยให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนโดยไม่ต้องเสียภาษี ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากการเติบโตของเงินทุนได้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของระบบนี้ คือ มีวงเงินลงทุนสูงสุดที่กำหนดในแต่ละปี และไม่สามารถใช้เป็นบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ทั่วไปได้ ระบบ NISA ได้รับการปรับปรุงเป็นระยะเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน โดยมีการเพิ่มวงเงินลงทุนและระยะเวลายกเว้นภาษีเพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการออมและการลงทุนมากขึ้น

Back to top button