ศาล รธน. รับคำร้องสอบ “ภูมิธรรม – ทวี” ใช้ DSI แทรกแซงตรวจสอบ “ฮั้วเลือก สว.”

มติเอกฉันท์! ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องสอบ “ภูมิธรรม-ทวี” หลัง “92 ส.ว.” ร้อง ใช้ “ดีเอสไอ” แทรกแซงตรวจสอบ “ฮั้วเลือก ส.ว. 2567”


วันนี้ (26 มี.ค.68) ศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมปรึกษาคดี เรื่องพิจารณาที่ 8/2568 ที่นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายภูมิธรรม เวชชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่

สมาชิกวุฒิสภา (สว.) นำโดย พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร รวม 92 คน เข้าชื่อเสนอคำร้องต่อ ประธานวุฒิสภา (ผู้ร้อง) โดยกล่าวอ้างว่า นายภูมิธรรม (ผู้ถูกร้องที่ 1) ในฐานะประธานกรรมการคดีพิเศษ และพ.ต.อ. ทวี (ผู้ถูกร้องที่ 2) ในฐานะรองประธานกรรมการคดีพิเศษ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ เสนอเรื่องขอให้ตรวจสอบกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ต่อคณะกรรมการคดีพิเศษ เพื่อมีมติให้การกระทำความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไข เพิ่มเติม มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) เป็นการแทรกแซงหรือครอบงำหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

โดยใช้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นเครื่องมือแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบการเลือกสมาชิกวุฒิสภา อันเป็นการกลั่นแกล้ง กดดัน ข่มขู่ และครอบงำสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจและฝ่าฝืนหลักนิติธรรม จึงถือได้ว่าผู้ถูกร้องทั้งสองไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และมีพฤติกรรมเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐ (๔) และ (๕) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้งสองสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (9) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา และให้ผู้ถูกร้องทั้งสองยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 54

ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีขอให้ผู้ถูกร้องทั้งสองหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ยังไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้อง ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ในชั้นนี้ยังไม่สั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองหยุดปฏิบัติหน้าที่ พร้อมทั้งแจ้งให้คู่กรณี ได้แก่ ประธานวุฒิสภา (ผู้ร้อง) และนายภูมิธรรม (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพ.ต.อ.ทวี (ผู้ถูกร้องที่ 2) ทราบ

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยให้ นายสมชาย เล่งหลัก สิ้นสุดสมาชิกสภาพวุฒิสภา หลังศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี โดยประธานวุฒิสภา ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา เลื่อนบุคคลในบัญชีสำรอง ขึ้นแทน

Back to top button