“หลอกลงทุนไม่เคยหาย ฝันร้ายผู้ลงทุน”

“ปัญหาการหลอกลวงทางการเงิน” ได้รับความสนใจและมีความพยายามจะแก้ไขมากขึ้นจากหลายฝ่ายในช่วงที่ผ่านมา แต่ภัยคุกคามนี้ก็ยังคงไม่หมดไป


“ปัญหาการหลอกลวงทางการเงิน” ได้รับความสนใจและมีความพยายามจะแก้ไขมากขึ้นจากหลายฝ่ายในช่วงที่ผ่านมา แต่ภัยคุกคามนี้ก็ยังคงไม่หมดไปค่ะ สะท้อนได้จากเสียงของประชาชน ผู้ลงทุน และผู้ประกอบการ ที่ส่งผ่านมายังศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแส ก.ล.ต.

ไม่แค่นั้น! ข้อมูลที่มีการรายงานจากหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น บริษัทชั้นนำระดับโลกที่ให้บริการเทคโนโลยีเพื่อความเชื่อมั่น รายงานว่า ปีที่แล้ว มีการตรวจพบสายโทรศัพท์และข้อความเอสเอ็มเอสหลอกลวงในไทย เพิ่มขึ้นประมาณ 168 ล้านครั้ง “ซึ่งสูงสุดในรอบ 5 ปี” โดยกลโกงที่ต้องจับตามอง คือ การแอบอ้างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ขณะที่รัฐบาลได้เปิดสถิติคนไทยถูกหลอกออนไลน์ในช่วงปี 2565 – 2567 มีมากกว่า 7 แสนกรณี และมีมูลค่ารวมสูงถึง 7 หมื่น 7 พันล้านบาท!

ทุกวันนี้ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแส ก.ล.ต. ได้รับข้อมูลการหลอกลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉพาะปีนี้ ช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ มีการแจ้งเบาะแสถึง 746 และ 653 รายการต่อเดือน! ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีประมาณ 340 – 350 รายการต่อเดือน เมื่อ ก.ล.ต. ได้รับข้อมูลแล้ว จะทำการตรวจสอบว่าเข้าข่ายหลอกลงทุนหรือไม่? ถ้าใช่! ก็จะประสานกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มพิจารณาดำเนินการปิดกั้นบัญชีโดยเร็ว เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน โดยปัจจุบันดำเนินการปิดกั้นไปแล้วร้อยละ 99.77 ของจำนวนบัญชีที่ได้แจ้งผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพื่อปิดกั้นทั้งหมด

“มุก” ที่มิจฉาชีพชอบใช้หลอกลงทุนบ่อย ๆ คือ “แอบอ้างชื่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท.” หลอกแบบไหนบ้าง? เช่น แอบอ้างชื่อบริษัทจดทะเบียนหรือผู้บริหารระดับสูงของบริษัท โดยใช้ชื่อหรือโลโก้ของบริษัทที่มีชื่อเสียง เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อว่ากำลังลงทุนกับบริษัทจริง, สร้างเว็บไซต์ปลอมและใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือหลัก โดยทำให้แพลตฟอร์มดูน่าเชื่อถือ ด้วยการใช้ชื่อคล้ายกับบริษัทที่ได้รับอนุญาต และชักชวนให้ลงทุนผ่านแอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งอาจมีการให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่อ้างว่าเป็นของบริษัทจริง แต่จริง ๆ แล้ว เป็นแอปพลิเคชันปลอม!

ใครบ้างที่มิจฉาชีพหมายตา? ส่วนใหญ่ จะเป็นกลุ่มผู้ที่มีเงินออม มีเงินก้อน เช่น ผู้สูงอายุ ข้าราชการเกษียณ กลุ่มผู้ลงทุนรายย่อยที่มีสไตล์การลงทุนประเภทต้องการกำไรเร็ว อยากเห็นผลตอบแทนระยะสั้น และกลุ่มผู้ที่มองหาช่องทางหารายได้เสริม โดยเฉพาะคนที่กำลังเผชิญความยากลำบากทางการเงิน หากคุณผู้อ่านเข้าข่ายอาจเป็นเป้าหมายมิจฉาชีพ ก็ต้องระวังกันสักนิดนะคะ

การหลอกลวงทางการเงิน เป็นปัญหาใกล้ตัวมาก แต่ก็มีจุดที่เราสามารถ “เอ๊ะ!” ได้ ด้วยการจับสัญญาณเตือน 5 เว่อ นั่นคือ สูงเว่อ ไวเว่อ ชัวร์เว่อ เร่งเว่อ และลอยเว่อ คำเหล่านี้หมายความว่าอะไร? ยกตัวอย่าง “สูงเว่อร์” เป็นการเสนอผลตอบแทนสูงเกินจริง โดยใช้คำโฆษณา เช่น ลงทุน 1,000 บาท ได้ปันผล 300 บาทต่อวัน (หรือ 30%) หรือ รับผลตอบแทนสูงสุด 300% ใน 1 เดือน ซึ่งในความเป็นจริง เป็นไปไม่ได้! ส่วน “ชัวร์เว่อ” คือการการันตีผลตอบแทน! เช่น 15% ได้แน่นอนภายในสามเดือน หรือ 50% ได้แน่นอนภายในหนึ่งปี และ “เร่งเว่อ” เป็นการสร้างสถานการณ์เร่งด่วน เพื่อกดดันให้โอนเงินเร็ว ๆ โดยใช้คำโฆษณา เช่น โปรโมชันพิเศษ 24 ชั่วโมงเท่านั้น หรือมีจำนวนจำกัด รีบลงทุนก่อนหมดโอกาส เป็นต้น

ถ้ามีคนมาชวนเราไปลงทุนล่ะ? ผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบชื่อบริษัทหรือบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นที่ผู้แนะนำ/ที่ปรึกษาการลงทุน ผ่านเว็บไซต์ ก.ล.ต. ที่เมนู SEC Check First ว่าได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. หรือไม่? ทั้งนี้ แม้เป็นชื่อที่ได้รับอนุญาต ก็ยังคงต้องระมัดระวัง เพราะมิจฉาชีพอาจสวมรอยใช้ชื่อเดียวกันหรือใช้ชื่อที่สะกดแตกต่างออกไปได้ รวมถึงการโอนเงินไปยังบัญชีที่มีความน่าสงสัย ไม่ว่าจะเป็นบัญชีส่วนบุคคลหรือบัญชีนิติบุคคล ควรหลีกเลี่ยงโดยเด็ดขาด นอกจากนี้ ถ้าอยากรู้ว่า บริษัทหรือผู้ที่มาชักชวนลงทุน อยู่ในรายชื่อที่เข้าข่ายต้องเฝ้าระวังหรือไม่? ก็ตรวจสอบได้ที่ SEC Investor Alert

แต่หากหลวมตัว สงสัยว่าจะตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพแล้วล่ะ!? ขอให้รวบรวมรายละเอียดรายการโอนเงินทั้งหมด ทั้งธนาคารที่ใช้ในการโอนเงิน ข้อมูลการโอนไปยังบัญชีธนาคารต่าง ๆ และจำนวนเงิน แล้วรีบแจ้งมาที่ สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน 1207 กด 22 หรือหากต้องการแจ้งเบาะแสมายังสำนักงาน ก.ล.ต. หรือถ้าไม่แน่ใจว่ากำลังถูกหลอกให้ลงทุนหรือไม่ ก็โทรมาที่สายด่วนแจ้งหลอกลงทุนได้เหมือนกัน เพื่อประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดกั้นเพจหรือช่องทางหลอกลวง

อย่างไรก็ตาม การป้องกันตัวเองตั้งแต่แรกย่อมดีกว่าการตามแก้ไขภายหลัง เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ หรือหากต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด สิ่งสำคัญ คือ “เก็บหลักฐานทุกอย่างไว้ตั้งแต่แรก” เริ่มจาก ประวัติการสนทนา ข้อมูลบัญชีที่โอนเงินไป หลักฐานการทำธุรกรรม ไปจนถึง ชื่อเพจหรือแพลตฟอร์มที่ใช้ชักชวน เพราะหากวันหนึ่งเกิดพลาดพลั้งขึ้นมาจริง ๆ หลักฐานเหล่านี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการ ติดตามร่องรอยของมิจฉาชีพ แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ หรือร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยดำเนินการปิดกั้นช่องทางหลอกลวงและป้องกันไม่ให้ผู้อื่นตกเป็นเหยื่ออีก

การใช้ช่องโหว่ทางการเงินยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การระมัดระวังและการตรวจสอบข้อมูลด้วยเครื่องมือจาก ก.ล.ต. จะช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้ประชาชนหรือผู้ลงทุนตกเป็นเหยื่อได้ หากพบพฤติกรรมที่น่าสงสัย อย่าลังเลที่จะปรึกษา ก.ล.ต. ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบและแจ้งเบาะแส โดยสามารถติดต่อ ก.ล.ต. ได้ที่สายด่วน 1207 กด 22 เพื่อร่วมกันส่งเสริมความโปร่งใสและยกระดับความเชื่อมั่นในตลาดทุน

ผู้เขียน: อาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต.

Back to top button