
“พิชัย” แจงเพิ่มอำนาจ ก.ล.ต. สอบ Naked Short ต่างประเทศ หลังกระทบตลาดหุ้นไทย
รองนายกฯ และ รมว.คลัง แจงเหตุผล ครม. อนุมัติกฎหมายเพิ่มอำนาจ ก.ล.ต. ปราบ Naked Short สืบถึงต้นตอผู้กระทำผิด พร้อมแก้ไขปัญหาขายหุ้นลม และกำหนดให้การจำนองหุ้นต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ
วันนี้ (27 มี.ค.67) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงสถานการณ์ตลาดหุ้นไทย ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
นายพิชัย ระบุว่า การขายชอร์ต (Short Sell) ซึ่งเป็นการขายหุ้นโดยผู้ขายยืมหุ้นจากบริษัทหลักทรัพย์หรือสถาบันที่ให้ยืม เป็นกลไกที่ได้รับอนุญาตและมีปริมาณการซื้อขายสูง แต่กรณีของเน็กเก็ตชอร์ต (Naked Short Selling) หรือการขายหุ้นโดยไม่มีหุ้นอยู่ในพอร์ต ถือเป็นการกระทำที่ ไม่ได้รับอนุญาตทั้งในประเทศไทยและตลาดหุ้นทั่วโลก
“ปกติการชอร์ตเซลไม่ผิดกฎหมาย ทุกประเทศอนุญาต แต่เน็กเก็ตชอร์ตเซล คือ มีผู้ที่ไม่มีหุ้นในมือไปขายแล้วไปซื้อคืนมา สิ่งนี้เราไม่อนุญาต ทั่วโลกก็ไม่อนุญาต” รองนายกฯและรมว.คลัง กล่าว
นายพิชัย กล่าวต่อว่า ปัญหาสำคัญอยู่ที่กระบวนการตรวจสอบธุรกรรมจากต่างประเทศ เนื่องจากธุรกรรมเหล่านี้มักถูกนำไปรวมอยู่ใน “ตะกร้า” ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า ผู้ขายมีหุ้นอยู่จริงหรือไม่ ต่างจากธุรกรรมภายในประเทศที่สามารถตรวจสอบผ่านบริษัทหลักทรัพย์ได้โดยตรง ซึ่งกฎหมายหลักทรัพย์เดิมมีข้อจำกัดในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด เนื่องจากสามารถเอาผิดได้เพียงบริษัทหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้ที่อยู่ปลายทางของธุรกรรมได้ ดังนั้นกฎหมายจะเพิ่มมาตรการกำกับดูแลให้เข้มงวดขึ้น หากพบการกระทำผิด จะมีบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นทั้งโทษปรับและโทษทางอาญา เชื่อว่าจะสามารถปรามได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
รองนายกฯและรมว.คลัง กล่าวต่อว่า อีกเหตุผลเสนอครม. เพื่อขอปรับปรุงกฎหมายหลักทรัพย์นั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมามีหลายเรื่องที่เกิดความเสียหายครั้งละนับหมื่นล้านบาทในตลาดหุ้นไทย เช่น กรณีของบริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK และคดีอื่น ๆ ที่ผ่านมา สะท้อนถึงข้อจำกัดของกฎหมายปัจจุบัน ซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วเมื่อพบความผิดปกติ จึงมีความจำเป็นต้อง ทบทวนมาตรการกำกับดูแลผู้ตรวจสอบบัญชี และเพิ่มความเข้มงวดในวิชาชีพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน
นอกจากนี้ ร่างกฎหมายฉบับใหม่ยังมุ่งเน้น การคุ้มครองสิทธิของผู้ถือหุ้นกู้ โดยกำหนดให้มีตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ที่มีบทบาทชัดเจน รวมถึง มาตรการเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการและกระบวนการล้มละลาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน
อีกประเด็นสำคัญคือ กรณีที่ผู้ถือหุ้นใหญ่บางรายนำหุ้นไปจำนองโดยไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อนักลงทุนรายย่อย หากราคาหุ้นปรับตัวลดลงจนเกิด Forced Sell ดังนั้น กฎหมายใหม่จะกำหนดให้ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเพื่อป้องกันความเสี่ยง
นอกจากนี้ หากพบการทุจริตในโครงการขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะต้อง เข้าตรวจสอบและดำเนินการยับยั้งตั้งแต่ระยะแรก
ร่างกฎหมายฉบับใหม่ยังเพิ่มอำนาจให้สำนักงาน ก.ล.ต. โดยกำหนดให้สามารถ ร่วมเป็นพนักงานสอบสวนในคดีตลาดทุน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งขยายอำนาจในการตรวจสอบธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับหุ้นกู้ เพื่อช่วยคุ้มครองผู้ถือหุ้นกู้ตั้งแต่ต้นทาง สำหรับขั้นตอนต่อไป มอบให้ นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. จะทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อพิจารณารายละเอียดให้มีความรอบคอบต่อไป
นายพิชัย กล่าวว่า สิ่งที่ทำเพื่อดูแลตลาดทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ หลายประเทศประสบปัญหาแบบนี้ เช่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ต้องมีการปรับปรุงมาตรการกำกับดูแลตลาดทุนเช่นเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าและสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ทันท่วงที