บอร์ดรถไฟ เคาะแก้สัญญา “ซีพี” ลุยไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบิน คาดเซ็น มิ.ย.นี้

บอร์ดการรถไฟฯ อนุมัติร่างสัญญาฉบับแก้ไขสำหรับโครงการรถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน เตรียมนำเสนอคณะกรรมการกำกับสัญญา EEC และอัยการสูงสุด ก่อนเสนอครม. คาดลงนามแก้ไขสัญญากับกลุ่มซีพีภายใน มิ.ย.นี้ พร้อมเดินหน้าก่อสร้างและเปิดบริการในปี 72


นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยมติคณะกรรมการ รฟท. วันที่ 27 มิ.ย.68 เห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ฉบับแก้ไขแล้ว

โดยจากนี้ รฟท. จะส่งร่างสัญญา ฉบับแก้ไข ให้คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (คณะกรรมการกำกับสัญญา) ตามพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ. EEC) ให้ความเห็นก่อน และจะส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ตรวจสอบตามขั้นตอน ภายในเดือนเมษายนนี้ โดยใช้เวลาประมาณ 30 วัน เมื่อผ่านการตรวจสอบแล้ว ต้องส่งร่างฯ กลับมาที่ คณะกรรมการ รฟท. เพื่อรับทราบ และนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) พิจารณา เพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

นายอนันต์ คาดว่า จะมีการลงนามแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ ภายในเดือนมิถุนายนปีนี้ ส่วนแผนก่อสร้างหลังจากออกหนังสือแจ้งเริ่มงาน (NTP) เอกชนที่จะรับผิดชอบการก่อสร้าง ต้องเริ่มงานภายใน 30 วัน และจะใช้เวลาออกแบบและก่อสร้าง 5 ปี นับจากวันที่ออก NTP ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการเสร็จและสามารถเปิดให้บริการ ในช่วงปี 2572 – 2573

รองผู้ว่าการ รฟท. กล่าวอีกว่า การก่อสร้างรูปแบบเร่งด่วนที่เอกชนจะต้องดำเนินการ คือ เร่งออกแบบโครงสร้างร่วมกับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (สัญญา 4-1) ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง และเริ่มการก่อสร้างบริเวณใต้ทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 2 สนามบินอู่ตะเภา

หลักการในการแก้ไขสัญญาประกอบด้วย 5 ประเด็นหลัก ได้แก่

  1. วิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน จากเดิมรัฐจะจ่ายเมื่อเอกชนเปิดเดินรถไฟความเร็วสูง โดยรัฐจะ “แบ่งจ่าย” เป็นเวลา 10 ปี ปีละเท่า ๆ กัน รวมเป็นเงิน 149,650 ล้านบาท เปลี่ยนมาเป็นรัฐจะจ่ายเป็นงวด ตามความก้าวหน้าของงานก่อสร้างที่ รฟท. ตรวจรับ วงเงินไม่เกิน 120,000 ล้านบาท แต่มีเงื่อนไขให้ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) ต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมจากสัญญาเดิม รวมเป็นจำนวน 152,164 ล้านบาท เพื่อประกันว่างานก่อสร้างและรถไฟความเร็วสูง จะเปิดให้บริการได้ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างจะทยอยตกเป็นของ รฟท. ทันทีตามงวดการจ่ายเงินนั้น ๆ
  2. การกำหนดการชำระค่าสิทธิให้ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงค์ (ARL) จะให้ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด แบ่งชำระค่าสิทธิจำนวน 10,671.09 ล้านบาท ออกเป็น 7 งวดเป็นรายปี ในจำนวนแบ่งชำระเท่า ๆ กัน แต่บริษัทจะต้องชำระงวดแรก ณ วันที่ลงนามแก้ไขสัญญากับ รฟท. และบริษัทยังต้องวางหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคารในมูลค่าเท่ากับค่าสิทธิ ARL รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเงินอื่น ๆ ที่ รฟท. จะต้องรับภาระด้วย
  3. การกำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน (Revenue Sharing) เพิ่มเติม หากในอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโครงการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นผลทำให้ เอเชีย เอรา วัน ได้ผลประโยชน์ตอบแทน (IRR) เพิ่มขึ้นเกินกว่า 5.52% แล้ว ก็จะให้สิทธิ์ รฟท. เรียกให้บริษัทชำระส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่มได้ตามแต่จะตกลงกันต่อไป
  4. การ “ยกเว้น” เงื่อนไขการออก NTP ให้คู่สัญญาจัดทำบันทึกความตกลงยกเว้นเงื่อนไข NTP ที่ยังไม่สำเร็จ (การรับบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก BOI) เพื่อให้ รฟท. สามารถออกหนังสือ NTP ให้กับ เอเชีย เอรา วัน ได้ทันทีหลัง 2 ฝ่ายลงนามในการแก้ไขสัญญา
  5. ป้องกันการเกิดปัญหาในอนาคตที่อาจเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการ โดยทำการปรับปรุงข้อสัญญาในส่วนของ “เหตุสุดวิสัย” กับ “เหตุผ่อนปรน” ให้สอดคล้องกับสัญญาร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการอื่น

THAI ผุดศูนย์ซ่อมรับฝูงบิน 200 ลำ

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยถึงกรณีที่ THAI ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เพื่อร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ของความร่วมมือทางธุรกิจโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภาว่า ขั้นตอนจากนี้ THAI จะมีการเปิดเผยข้อมูลการศึกษาโครงการ MRO ดังกล่าวที่ THAI ได้ดำเนินการแล้วแก่ BA ขณะที่ BA ก็จะทำการศึกษารายละเอียดในส่วน BA เองด้วย

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 3 เดือนจากนี้ว่า จะมีโครงสร้างการร่วมลงทุนการบริหารงานระหว่าง 2 ฝ่ายอย่างไร มีการถือหุ้นในสัดส่วนเท่าใด โดยย้ำว่า THAI จะต้องถือหุ้นมากกว่า BA แน่นอน เพราะมีฝูงบินมากกว่า ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ทั้งการที่ THAI ถือหุ้นในสัดส่วน 60% BA ถือ 40% หรือ THAI ถือหุ้น 70% BA ถือ 30%

นายชาย ยืนยันว่า THAI จะเจรจาเป็นพันธมิตรกับ BA เท่านั้น ยังไม่มีแนวคิดหาพันธมิตรสายการบินอื่นเข้ามาเพิ่มเติม เนื่องจากมีจุดยืนที่ชัดเจนว่า การลงทุนโครงการ MRO ต้องเป็นสายการบินสัญชาติไทย ซึ่งเมื่อ THAI รวมกับ BA แล้ว จะมีฝูงบินไม่ต่ำกว่า 200 ลำ ในอีก 8 ปีข้างหน้า หรือประมาณปี 2576 โดยในส่วนของ THAI จะมีฝูงบินประมาณ 150 ลำ ดังนั้นการมี MRO ดังกล่าว นอกจากจะเป็นการเพิ่มรายได้แก่ THAI แล้ว ยังเป็นการช่วยบริหารความเสี่ยงด้านการซ่อมบำรุงที่ไม่ต้องใช้บริการ MRO ของรายอื่น อีกทั้งไม่ทำให้ประเทศไทยเสียดุลการค้าด้วย

Back to top button