“ดาวโจนส์” ปิดร่วง 700 จุด เซ่นแรงขาย “หุ้นเทค” หวั่นเศรษฐกิจชะลอตัว

“ดาวโจนส์” ปิดลบกว่า 700 จุด นักลงทุนผวาเงินเฟ้อพุ่ง-เศรษฐกิจชะลอ ฉุดหุ้นเทคฯ ดิ่งหนัก ขณะตลาดจับตาแผนเก็บภาษีนำเข้ารอบใหม่ของทรัมป์


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในวันศุกร์ที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา โดยถูกกดดันจากแรงเทขายในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ อาทิ อะเมซอน ไมโครซอฟท์ และแอปเปิ้ล หลังจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สะท้อนภาพการเติบโตที่ชะลอลง

ขณะที่เงินเฟ้อกลับเร่งตัวขึ้น โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 41,583.90 จุด ลดลง 715.80 จุด หรือ 1.69% ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปรับตัวลง 1.97% และ 2.70% ตามลำดับ

โดยปัจจัยกดดันตลาดมาจากการเปิดเผยข้อมูลการใช้จ่ายผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ที่ฟื้นตัวต่ำกว่าคาด ขณะที่ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้ความสำคัญ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 13 เดือน นอกจากนี้ ผลสำรวจจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ โดยคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะยังคงอยู่ในระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปีครึ่ง

ทั้งนี้ แรงกดดันด้านเงินเฟ้อเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านนโยบายภาษีนำเข้า หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เดินหน้าเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในสัปดาห์หน้า และเตรียมประกาศมาตรการภาษีรอบใหม่ในวันที่ 2 เมษายนนี้ โดยนักลงทุนกังวลว่าภาษีนำเข้าเพิ่มเติมจะยิ่งเร่งเงินเฟ้อและจำกัดขอบเขตการดำเนินนโยบายผ่อนคลายของธนาคารกลาง

สำหรับภาวะตลาดที่อ่อนไหวทำให้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวลดลงอย่างหนัก โดยหุ้น Amazon ดิ่งลง 4.3%, Microsoft ร่วง 3% และ Apple ปรับตัวลง 2.7% ส่งผลให้ดัชนี Nasdaq เผชิญแรงขายรุนแรงมากที่สุดในบรรดาดัชนีหลัก ส่วนหุ้นกลุ่มธนาคารที่มีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยร่วงลง 2.3% ขณะที่ดัชนีความผันผวน (VIX) พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดโดยรวมจะปรับตัวลดลง แต่หุ้นกลุ่มเหมืองแร่กลับได้รับแรงหนุนจากราคาทองคำที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยหุ้น Harmony Gold และ Gold Fields พุ่งขึ้น 9.5% และ 4.5% ตามลำดับ สะท้อนการเคลื่อนไหวของนักลงทุนเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางภาวะตลาดที่เปราะบาง

ด้านนักลงทุนยังคงจับตาท่าทีของเฟดในการประชุมเดือนมิถุนายน โดยสัญญาล่วงหน้าบ่งชี้ว่า เทรดเดอร์ประเมินโอกาส 76% ที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากภาษีนำเข้าและเงินเฟ้อที่เร่งตัว อาจเป็นอุปสรรคต่อทิศทางดังกล่าวในระยะสั้น

 

 

Back to top button