
ORI ยันโครงสร้างหลัก “พาร์ค ออริจิ้น ทองหล่อ” ปลอดภัย หลังสะพานเชื่อมเสียหายจากแผ่นดินไหว
ORI ยืนยันโครงการพาร์ค ออริจิ้น ทองหล่อปลอดภัย หลังสะพานเชื่อมอาคารได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว เผยโครงสร้างหลักยังแข็งแรงตามมาตรฐานวิศวกรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ส่งผลให้โครงการคอนโดมิเนียม “พาร์ค ออริจิ้น ทองหล่อ” ของบริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI ได้รับความเสียหายบริเวณสะพานเชื่อมระหว่างอาคารในส่วนวัสดุตกแต่งภายนอก จนมีภาพที่มีการแชร์กันเกี่ยวกับความเสียหายของสะพานเชื่ออาคารนั้น
ด้าน นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ORI เปิดเผยว่า ภายหลังเกิดเหตุบริษัทได้ดำเนินการอพยพลูกบ้านออกจากอาคารโดยคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุด พร้อมอยู่ระหว่างการประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด โดยสะพานเชื่อมที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวเป็นส่วนของการออกแบบพิเศษในรูปแบไม่ยึดติดกับโครงสร้างหลัก ซึ่งเป็นไปตามหลักวิศวกรรมเพื่อรองรับแรงสั่นสะเทือน
ทั้งนี้ โครงการพาร์ค ออริจิ้น ทองหล่อ ประกอบด้วยอาคารที่พักอาศัย 3 อาคาร ได้แก่ อาคาร A สูง 39 ชั้น, อาคาร B สูง 53 ชั้น และอาคาร C สูง 59 ชั้น รวมทั้งสิ้น 1,182 ยูนิต โดยมี Sky Bridge เชื่อมระหว่างอาคาร A ชั้น 38 กับอาคาร B ชั้น 39 และอีกจุดระหว่างอาคาร B ชั้น 52 กับอาคาร C ชั้น 47
นายพีระพงศ์ กล่าวย้ำว่า บริษัทมีคอนโดมิเนียมตึกสูงกว่า 100 โครงการทั่วประเทศ และมั่นใจในมาตรฐานความปลอดภัย 100% พร้อมยืนยันว่า ORI ให้ความสำคัญสูงสุดต่อความปลอดภัยของลูกบ้าน และจะดำเนินการซ่อมแซมให้กลับคืนสู่สภาพสมบูรณ์โดยเร็วที่สุด
ล่าสุด บริษัท พาร์ค ออริจิ้น ทีวัน จํากัด เจ้าของโครงการ พาร์ค ออริจิ้น ทองหล่อ ได้ส่งหนังสือแถลงการณ์ด่วน แสดงความห่วงใยจากแผ่นดินไหว โดยระบุว่า ทางบริษัท อุมบาว์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ออกแบบวิศวกรรมโครงสร้างอาคาร, บริษัท เอบิวท์ จำกัด ผู้ควบคุมการก่อสร้างอาคาร และ บริษัท พรีบิลท์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคาร ขอเรียนยืนยันว่า โครงการ พาร์ค ออริจิ้น ทองหล่อ ได้ถูกออกแบบและก่อสร้างขึ้นตามมาตรฐานวิศวกรรมและกฎหมายควบคุมอาคาร รวมถึงข้อกำหนดในการป้องกันแผ่นดินไหวทุกประการ สำหรับการพิจารณาผลการตรวจสอบเบื้องต้นโครงสร้างอาคารทั้งสามมีความแข็งแรงปลอดภัยดี
ส่วนที่ได้รับความเสียหายจะเป็นสะพานทางเชื่อมอาคารทั้งสองจุดที่มีงานกระเทาะหลุดในวัสดุหุ้มตกแต่งทางด้านสถาปัตยกรรมเท่านั้น สำหรับโครงสร้างสะพานเชื่อมยังคงแข็งแรงปลอดภัยดี การออกแบบและก่อสร้างสะพานทางเชื่อมทั้งสองจุดนั้น เป็นการออกแบบให้ตัวโครงสร้างสะพานยึดติดกับอาคารและรับน้ำหนักจากอาคารเพียงหนึ่งด้านในรูปแบบของคานยื่น (Cantilever Beam)
ส่วนที่เชื่อมสะพานอีกด้านหนึ่งเป็นเพียงจุดเชื่อมตกแต่งทางสถาปัตยกรรมเท่านั้นที่สามารถเคลื่อนตัวได้ตามระยะที่ปลอดภัยตามการคำนวณทางวิศวกรรมอาคาร (อนึ่งเพื่อให้สามารถเคลื่อนตัวได้หากเกิดกรณีแผ่นดินไหว ซึ่งปรากฏการเคลื่อนตัวตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวซึ่งเป็นความเสียหายเฉพาะส่วนงานสถาปัตยกรรมเท่านั้น งานโครงสร้างสะพานเชื่อมยังคงมีความแข็งแรงปลอดภัยดี