วิศวกรรมสถานฯ แนะวิธีสังเกต “รอยร้าว” อาคารจากเหตุแผ่นดินไหว

นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ แนะวิธีสังเกตรอยร้าวบนอาคารสูง หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว หากเกิดรอยร้าวยาวบริเวณเสาถือว่ามีความน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะตึกสูงมีอายุมากกว่า 10 ปี และความสูงมากกว่าสามชั้นขึ้นไป


รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ให้ข้อมูลทางวิศวกรรมจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จนทำให้ตึกสูงหลายแห่งในกรุงเทพมหานครและหลายจังหวัดมีรอยร้าว จึงจำเป็นที่ประชาชนต้องเรียนรู้ และสังเกตอาคารสูงที่ได้รับผลกระทบ โดยขอให้ดูด้วยจากรอยร้าวบริเวณคานและเสา เบื้องต้นถ้ามีรอยร้าวไม่ชัดเจน ให้ใช้วัสดุกะเทาะออกเพื่อดูภายใน

แต่หากเห็นรอยร้าวบริเวณคานและเสา มีความลึกเห็นเหล็กเส้นด้านใน นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ระบุว่า ถือเป็นอาคารที่มีความเสี่ยงมาก โดยเฉพาะอาคารที่สูงมากกว่าสามชั้น และมีอายุมากกว่า 10 ปี

แต่หากมีรอยร้าวที่เสาของอาคาร เป็นแนวยาว นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ถือว่ามีความเสี่ยงมากกว่าปกติ เนื่องจากตัวเสาเป็นส่วนที่รับน้ำหนัก ยิ่งถ้ามีรอยร้าวยาวบริเวณเสา ผู้อยู่อาศัยควรมีการซ่อมแซมโดยด่วน

นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ยังแนะนำว่า อีกสิ่งที่ต้องระวังคือบริเวณคานบ้าน โดยเฉพาะบ้านที่มีฝ้าเพดาน ควรรื้อฝ้าเพดานดูภายใน เพราะเสาด้านในอาจมีรอยร้าวที่มองไม่เห็น

สำหรับตึกที่สร้างใหม่อายุไม่ถึง 10 ปี ยังไม่มีความน่ากังวลมากนัก เนื่องจากมีกฎหมายในการสร้างตึกที่รับแผ่นดินไหว แต่ตึกที่มีอายุมากกว่า 10 ปี และไม่ได้มาตรฐาน ควรมีการสังเกตรอยร้าวที่เกิดขึ้นหลังเกิดแผ่นดินไหว

Back to top button